xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมนักข่าวฯ แจงส่งตัวแทนเป็น สปช.ปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ - 20 ส.ค.หาคนแทน “มานิจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมานิจ สุขสมจิตร (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกสมาคมนักข่าวฯ แจงเหตุส่งตัวแทนเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. หวังปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ ไม่ให้ถอยหลังไปกว่าใน รธน. ปี 50 พร้อมให้การปฏิรูปสื่อให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง เตรียมประชุม 20 ส.ค. หาคนแทน “มานิจ สุขสมจิตร” เสนอชื่อเป็น สปช.

วันนี้ (15 ส.ค.) นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีกรรมการสมาคมนักข่าวฯ มีมติส่งตัวแทนเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชนว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในอาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่เป็นนิติบุคคล ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลแห่งประเทศไทย ได้ปรึกษาหารือกันและเห็นร่วมกันว่ามีความจำเป็นที่จะส่งตัวแทนองค์กร เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เนื่องจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 27 ที่ระบุให้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในหลายด้าน โดยมีด้านสื่อสารมวลชนอยู่บทบัญญัติด้วยและมีคณะกรรมการสรรหาด้านสื่อสารมวลชนอย่างชัดเจน ที่แสดงให้เห็นว่าในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ต้องมีเรื่องการปฏิรูปสื่อมวลชนอย่างแน่นอน

นายมานพ กล่าวว่า กรรมการสมาคมนักข่าวฯ ได้ประชุมร่วมกันพิจารณาและประเมินสถานการณ์ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อและผู้ใหญ่ในวงการสื่อมวลชน ก็เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องส่งตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป เพื่อไปปกป้องหลักการเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนที่ต้องไม่ถอยหลัง ไปกว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมาตรา 45 ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพ จะกระทำมิได้ การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้น การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง

“เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชนรัฐจะกระทำมิได้”

โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า รวมทั้งหลักการในมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ระบุไว้ว่า พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัด ตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ”

กรรมการสมาคมนักข่าวฯ เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการปฏิรูปสื่อให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องโดยเฉพาะหลักการการกำกับดูแลกันเองหรือการกำกับร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจะต้องไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปถูกควบคุมสื่อด้วยกฎหมายหรืออำนาจพิเศษที่จะทำลายความเป็นอิสระของสื่อมวลชนและมองเห็นร่วมกันว่าหากปล่อยให้กฎหมายที่ทำลาย หรือขัดขวางเสรีภาพและความอิสระของสื่อออกมาบังคับใช้และมาตามแก้ภายหลังจะเป็นงานที่ยากลำบากกว่าเพราะสมาคมนักข่าวฯ และนักหนังสือพิมพ์อาวุโส มีบทเรียนในการต่อสู้เพื่อยกเลิกการพิมพ์ 2484 ต้องใช้เวลา 66 ปี เพราะเพิ่งยกเลิกไปเมื่อปี 2550 และมี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ขึ้นมาแทน นอกจากนี้ คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองฉบับที่ 42 ที่รู้จักกันดี ปร.42 ต้องใช้เวลาถึง 13 ปีกว่าจะยกเลิกได้

จากการหารือตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อในเบื้องต้นเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนง นักวิชาการด้านสื่อมวลชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนอื่นของสังคม ก็จะมีจัดตั้งคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปประเทศทำควบคู่ไปกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพราะการปฏิรูปประเทศครั้งนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลวบทบาทของสื่อมวลชนก็มีความสำคัญมาก

นายมานพ กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในเรื่องตัวบุคคลที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ เสนอเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวฯ มีมติส่ง นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวฯ และนายมานิจ สุขสมจิตร ที่ปรึกษาสมาคมฯ เป็นผู้แทน ซึ่งต่อมา นายมานิจ สุขสมจิตร ได้ขอถอนตัวไม่ขอเข้ารับการเสนอชื่อในนามสมาคมนักข่าวฯ เพราะได้รับการเสนอชื่อในนามสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ส่วนมติที่สอง คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวฯ มีมติส่ง นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ อดีตนายกสมาคมฯ และ ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวฯ เพื่อให้มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย คัดเลือกเพื่อส่งเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เพื่อพิจารณาหาบุคคลแทนนายมานิจ สุขสมจิตร ที่ขอถอนตัวออกไป

หลังจากองค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหมดได้ตัวแทนที่จะส่งเข้าไปรับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปก็จะทำการชีแจงถึงเหตุผลและภารกิจที่จะทำร่วมกันอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น