xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดบทเรียน “อหังการ อพท.น่าน” ผลาญงบทาสีถนน“เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการทาสีถนน กลาง “เมืองเก่าและพื้นที่อนุรักษ์”  ทั่วเมืองน่าน ได้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในชุมชน  จนสุดท้าย อพท. ต้องยุติโครงการ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“เมืองน่าน” ที่ซุกตัวอยู่หลังปราการขุนเขาบนแผ่นดินล้านนาตะวันออก แม้ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เหมือนเมืองคู่แฝดอย่าง “หลวงพระบาง” แต่ถือเป็น 1 ใน 2 “เมืองเก่าและพื้นที่อนุรักษ์” ของไทยตามมติ ครม.2548 เช่นเดียวกับ “เกาะรัตนโกสินทร์”

ทั้งนี้ เพราะเป็นเมืองที่งดงาม ด้วยวิถีชีวิตเรียบง่ายของผู้คน รวมถึงโบราณสถานเก่าแก่กลางเมือง ทั้ง “วัดภูมินทร์” พระอุโบสถอายุกว่า 400 ปี ที่งดงามโดดเด่นด้วยหลังคาทรงจัตุรมุข สลักเสลาด้วยฝีมือช่างเมืองน่าน และจิตรกรรมฝาผนังที่ลือเลื่องอายุกว่า 200 ปี , “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” พระอารามหลวงเก่าแก่คู่เมืองน่าน , “พระธาตุแช่แห้ง” ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองน่านมานานกว่า 600 ปี เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ที่ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง ฯลฯ

แต่หลังจาก สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน องค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. (องค์การมหาชน) ตั้งแท่นทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่เขตเมืองเก่า ด้วยงบประมาณราว 18 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการว่าจ้างเอกชน ทาสีบนถนน 3 สาย ได้แก่ ถนนสายสุริยพงษ์-ผากอง-เจ้าฟ้า ใจกลางเมืองน่าน ที่เชื่อมโยงโบราณสถานต่าง ๆ

นัยว่า เพื่อทำสัญลักษณ์เขตพื้นที่เมืองเก่า ส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบการเดิน และเส้นทางจักรยาน

อพท.น่าน ยืนยันว่า โครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนชาวน่าน 350 คน ไม่มีคนคัดค้าน ขณะที่คนเมืองน่านส่วนใหญ่ ที่มีไม่น้อยกว่า 400,000 -500,000 กว่าคน แทบไม่รู้ถึงที่มา ที่ไปโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแวดวงการท่องเที่ยว มีเป็นส่วนน้อยที่รับรู้ถึงโครงการนี้

หลัง อพท.น่าน ให้บริษัทรับเหมาเริ่มลงมือทาสี พื้นถนนกลางเมืองน่าน ยิ่งกลายเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ของคนเมืองน่าน จนเกิดกระแสต่อต้านจากผู้คนในสังคมโลกออนไลน์ มีการโพสต์แสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ก่อนจะลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ

มีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของโครงการ , ขัดแย้งกับความเป็นเมืองเก่าของ “น่าน” , เป็นการผลาญงบ และพื้นถนนที่มีการทาสี มีความมันเงา-ลื่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย

กระทั่งวันที่ 8 ธ.ค.2557 สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน หรือ อพท.น่าน นำโดย ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงาน อพท.น่าน , นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแผนงาน อพท.น่าน และนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน , นายสมเจตน์ วิมลเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม อพท.น่าน ,นายสโรจน์ รัตนมาศ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน ในฐานะเลขาคณะอนุกรรมการเมืองเก่าน่าน ได้เปิดแถลงข่าวที่อาคารสโมสรฯ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดน่าน ซึ่งมีการถ่ายทอดภาพ และเสียงสดทางวิทยุ , เคเบิลทีวี และเว็บไซต์ อพท.น่าน ยังยืนยันต้องเดินหน้าโครงการฯทาสีถนนให้เสร็จ แต่จะปรับในเรื่องของสี และความหยาบหนากันลื่นเพิ่มมากขึ้น

แต่บทสรุปนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวน่านเป็นอย่างมาก มีกระแสการคัดค้านต่อต้านมากขึ้น มีการขุดค้นข้อมูลของโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ อ้างว่า อพท.น่าน ได้พยายามผลักดันโครงการนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการเมืองเก่าน่านถึง 3 ครั้ง โดยผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเมืองเก่าระดับบอร์ดใหญ่ที่กรุงเทพฯ เพียงแค่รับทราบ แต่ไม่ได้พิจารณาอนุมัติโครงการ และยังมีการเสนอให้ปรับโครงการเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นเมืองเก่า โดยเฉพาะการใช้วัสดุในพื้นถิ่น มากกว่าการใช้วัสดุวิทยาศาสตร์ และให้คำนึงถึงภาพรวมของเมืองเก่าด้วย

อย่างไรก็ตามโครงการฯดังกล่าว ยังถูกดำเนินการออกมาแบบเร่งรัดจนประชาชนคลางแคลงใจ

หลังจากที่มีคนงานเริ่มกั้นถนน และทาสีพื้นถนน ทำให้การจราจรในเขตใจเมืองน่านเป็นอัมพาตเมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค.2557 ที่ผ่านมา จนนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และในที่สุดมีเพียงป้ายไวนิลเล็กๆ มาปิดประกาศรายละเอียดของโครงการดังกล่าว ยิ่งสร้างความคลางแคลงใจให้กับคนน่านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเร่งรีบมาดำเนินการในช่วงท้ายของสัญญาโครงการฯ ที่จะต้องมีการส่งมอบงานกันในวันที่ 19 ธ.ค.2557

หลังจากเวทีแถลงข่าวผ่านพ้นไป อพท.น่าน ก็ยังไม่สามารถชี้แจง และให้ความกระจ่างต่อสังคมเมืองน่านได้ โดยเฉพาะเรื่องประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง , การดำเนินโครงการชอบด้วยกระบวนการหรือไม่ , ความปลอดภัยจากการปูยางแอลฟัลท์หนาเฉลี่ย 3 เซนติเมตร และทาสีทับด้วยอะคริลิคโพลิเมอร์ ผสมซิลิก้า หรือทราย เพื่อให้เกิดความหนืดและฝืด และอีกหลายประเด็น ยิ่งสร้างแรงกดดันเพิ่มมากยิ่งขึ้น

เช้าวันที่ 9 ธ.ค.2557 ก็มีข้อความพ่นด้วยสีสเปรย์สีดำ บนถนนทาสี หน้าศาลากลางจังหวัดน่าน และหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองน่าน ว่า “อพท.ห่วย” เพื่อแสดงความไม่พอใจ พร้อมกับกระแสการเรียกร้องให้ อพท.น่าน ยกเลิกและคืนสภาพถนนเมืองน่านให้เหมือนเดิม

กระทั่งช่วงสายของ วันที่ 12 ธ.ค.2557 นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วย พ.ต.ท.พิสิษฐ์ ตลับเพชร์สกุล รอง ผกก.ฝ่ายจราจร สภ.เมืองน่าน ,ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน หรือ อพท.น่าน ,นายสาโรช รัตนมาศ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน ได้เข้าทดสอบการถนนทาสีตามโครงการดังกล่าว ด้วยการทดลองเทน้ำลงบนถนนที่ทาสี แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ขับขี่รถจักรยานยนต์ในหลายยี่ห้อ หลายรุ่น ผ่านถนนที่เปียกน้ำ และทำการหยุดรถ ปรากฏว่า รถจักรยานยนต์ เสียการทรงตัว และบางคันถึงกับไถลลื่นจริง!!

ก่อนที่จะเปิดห้องประชุมศาลากลางจังหวัดฯในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พร้อมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ อพท.น่าน , เทศบาลเมืองน่าน , วัฒนธรรมจังหวัดน่าน , ตัวแทนบริษัทเอกชนผู้รับเหมาและวิศวกรออกแบบ รวมทั้งตัวแทนคณะกรรมการเมืองน่าน สื่อมวลชน และตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆที่คัดค้านโครงการทาสีถนนเมืองเก่าน่าน เข้าหารือกันนานกว่า 3 ชั่วโมง

ในที่สุด ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงาน อพท.น่าน ก็ยอมรับว่า อพท.ขาดการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ , ขาดการสร้างความมีส่วนร่วม และเพื่อให้เกิดความสบายใจกับคนน่านทั้งหมด อพท.ตัดสินใจยอมคืนสภาพถนน โดยระงับการทาสีทันที หลังจากดำเนินการไปได้กว่าร้อยละ 60

จากนั้นได้ให้บริษัทผู้รับเหมาประเมินมูลค่างานที่เหลือ เพื่อใช้งบประมาณที่เหลืออยู่คืนสภาพถนนบางส่วนไปก่อน หากไม่พอ ก็จะขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในปี 58 เพื่อคืนสภาพถนนทั้งหมดต่อไป

อย่างไรก็ตามถึงแม้ทาง อพท.จะยอมยกธงขาว ระงับโครงการ พร้อมซ่อมแซมถนนให้กลับสู่สภาพเดิมแล้วก็ตาม แต่กลุ่มอนุรักษ์เมืองเก่าน่านยังคงเคลื่อนไหว ล่าชื่อคัดค้านโครงการฯนี้อย่างต่อเนื่อง

เพราะไม่มั่นใจว่า งบประมาณที่เหลืออีก 40 เปอร์เซ็นต์ จะพอซ่อมแซมถนนให้กลับสู่สภาพเดิมได้มากน้อยขนาดไหน และหากงบไม่พอ จะมีงบประมาณในปีหน้าเข้ามาซ่อมแซมได้จริงตามรับปากหรือไม่ อีกทั้งหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารใน อพท.จะมีการสานต่อข้อตกลงนี้ได้ต่อไปหรือไม่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีคำถามเกิดขึ้นตามมาด้วยว่า งบประมาณที่สูญเปล่าไปแล้ว ใครจะรับผิดชอบ !?

แน่นอนว่า คำถามที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ อพท.น่าน เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง อพท.องค์การมหาชน ที่ขยายเครือข่ายเข้าควบคุมสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

กรณีทาสีถนนเมืองเก่าน่านนั้น โชคดีครั้งนี้ ชุมชนคนรักเมืองน่าน รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้ยังคงรักษา “น่าน” เอาไว้ได้ ต่างจากหลายพื้นที่ ที่ อพท.สามารถเข้าไปยึดกุมอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่เฉพาะเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ


นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าฯน่าน นำทีมทดสอบความลื่นของถนน
กำลังโหลดความคิดเห็น