xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจความชุ่ย! “เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นประเด็นในแวดวงจักรยานเมื่อม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตรวจเส้นทางจักรยานพร้อมทาสีใหม่ ก่อนวางแผนทำ “เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์” ทั้งหมดให้เสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า ทว่าทางเดิมที่สร้างไว้กลับยังคงเต็มไปด้วยปัญหาในการใช้งาน

ภาพของที่กั้นถนนบิดงอหักล้ม ภาพรถที่จอดทับเส้นทางจักรยาน กระทั่งแผงลอยร้านค้าหรือมอเตอร์ไซค์ที่มาใช้เลนร่วมกลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตาแทน

วันนี้ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ LIVE ลงพื้นที่สำรวจถึงปัญหาดังกล่าว ทางจักรยานจะมีขึ้นได้จริงมั้ยในสังคมไทย!



เปิดตัวยิ่งใหญ่...ความจริงยิ่งเจ็บ

การเปิดตัวของเล้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์นั้นถือเป็นสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจในกลุ่มคนรักการปั่นจักรยาน ด้วยเส้นทางที่ผ่านสถานที่ท่องเที่ยว ลัดเลาะไปตามหนทางที่สัญจรได้ในยามปกติ อีกทั้งในบางช่วงยังมีที่กั้นชัดเจน ในช่วงแรกๆ เส้นทางดังกล่าวจึงเป็นเสมือนเส้นทางที่นักปั่นต้องมา ทั้งยังเป็นเส้นทางที่นักปั่นหลายคนร่วมมือกันเฝ้าระวังมิให้คนมาจอดรถทับเส้นทาง หรือให้รถประเภทอย่างมอเตอร์ไซค์มาใช้เป็นการผิดกฎอีกด้วย
แต่หลังจากใช้งานจริงปัญหาหลายอย่างก็ยังคงเกิดขึ้น



เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทางทีมงาน ASTV ผู้จัดการ Live ได้ลงพื้นที่สำรวจ “เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์” พบว่ายังคงมีปัญหาเดิมที่ทางกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างจริงจัง เช่น มีรถกีดขวางช่องทางจักรยาน, ผู้ใช้รถจักรยานยนตร์ขับขี่เข้าไปในเส้นทางจักรยาน, พื้นผิวบางช่วงขรุขระซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อนักปั่นได้

เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ได้รับคำตอบว่า ทางกรุงเทพฯ พยายามอย่างเต็มที่ในการปรับปรุงพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งจักรยานอย่างแท้จริง แต่ปัญหาที่หนักใจที่สุดคงเป็นเรื่องการจอดรถกีดขวางช่องทางจักรยานซึ่งต้องได้รับความร่วมมือกับตำรวจ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการกวดขันเอาจริงจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ดี มีการออกมาตรการซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ว่า ห้ามจอดรถทุกชนิดบนเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์



เริ่มต้นการสำรวจจากบริเวณถนนพระอาทิตย์สิ้นสุดที่โรงละครแห่งชาติ ปัญหาโดยรวมที่ชัดเจน พอจะแบ่งออกเป็นได้ 5 ประเภท คือ 1. มีรถยนต์จอดกีดขวางเส้นทางจักรยาน ทั้งรถยนต์ส่วนตัว, รถบัสนำเที่ยว, รถตู้โดยสาร ทำให้นักปั่นต้องหลีกเลี่ยงมาปั่นบนเลนถนน ทั้งนี้ จากการสังเกตพบว่าหากบริเวณใดมีเสากั้นเลนจักรยานกับเลนรถยนต์ปกติปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากเสากั้นเลนนี้ยังมีเป็นส่วนน้อย จึงพบเห็นแทบจะทั้งเส้นทางว่ามีรถยนต์เข้ามาจอด 2. รถจักรยานยนต์เข้าไปในทางจักรยาน กลายเป็นช่องทางลัดหนีรถติดไปแทน

3. เลนจักรยานไม่ชัดเจน ไม่มีเสากั้นจึงไม่ต่างจากการเป็นเลนรถยนต์ปกติ ส่วนในบางช่วงของถนนราชดำเนินกลางที่เปลี่ยนมาใช้เส้นทางจักรยานบนบาทวิถีแทนก็พบปัญหาสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นเลนจักรยานซีดเก่าและลอกจนมองแทบไม่เห็น ถึงแม้จะปลอดภัยกว่าบนท้องถนนแต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ไปชนผู้คนที่เดินผ่านมาตามทาง 4. ความไม่ราบเรียบบนพื้นผิวเลนจักรยาน บางช่วงกำลังมีการก่อสร้าง บางช่วงพื้นผิวถนนไม่เท่ากัน อย่างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์จะเห็นว่าพื้นบาทวิถีเป็นรอยต่ออย่างชัดเจน อีกทั้งมีฝาท่ออาจก่อให้เกิดอันตรายได้



นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้างจากการสอบถามนักปั่นที่ใช้เส้นทางนี้ อาทิ อันตรายจากการปั่นสวนเลนกัน เนื่องจากมีเพียงเลนจักรยานมีเพียงฝั่งเดียวทำให้ต้องใช้เส้นทางเดิมทั้งขาไปและขากลับ แต่พื้นที่เลนจักรยานมีความแคบจึงต้องใช้ความระมัดระวังด้วย รวมไปถึงความต้องการให้เปลี่ยนฝาท่อแบบตะแกรงให้เป็นแนวขวาง เนื่องจากถ้าหากล้อตกลงไปในร่องตะแกรงที่วางแนวเดียวกับจักรยานจะทำให้เสียการทรงตัวและเกิดอันตรายต่อนักปั่นได้



ในส่วนของผู้ใช้จักรยานนั้น ณัฐพล วรรธนะตันติ นักปั่นจักรยานที่สัญจรผ่านเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์อยู่เรื่อยๆ มองว่า ภาพรวมของทางจักรยานดังกล่าวยังไม่เหมาะกับการใช้งานเท่าที่ควร มีบางช่วงที่มีฝาท่อและรถมาจอด อีกทั้งเส้นทางยังไม่ค่อยเรียบเป็นหลุมเป็นบ่อที่เกิดจากการขาดการซ่อมแซมดูแล

“บางช่วงมีทาสีอย่างเดียว แต่ก็มีที่กั้นบ้างอย่างช่วงถนนพระอาทิตย์แต่ว่าก็ยังมีรถมาจอด แล้วที่บางช่วงก็มีถังขยะมาตั้งอยู่เยอะทำให้ปั่นไม่ได้ บางครั้งปั่นไประหว่างทางก็มีแท็กซี่หรือรถสามล้อจอดรับผู้โดยสารทับเส้นทางบ้างหรือบางทีก็จอดยาวเลย ส่วนฝาท่อบางทีมันก็มีล้อเข้าไปติดได้ หรือท่อริมถนนมันเป็นหลุดลึกลงไป รถหรือมอเตอร์ไซค์อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่จักรยานจะโดนเต็มๆ มันเลยเป็นหลายปัจจัยที่รวมๆแล้วก็ทำให้ใช้ทางจักรยานสายนี้ได้ยากขึ้น”

ตัวเขาเองนั้นมองว่า การประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจถึงการมีอยู่ของทางจักรยาน รวมไปถึงการใช้รถใช้ถนนร่วมกันน่าจะเป็นหนทางที่แก้ไขเรื่องทั้งหมดได้ รวมไปถึงการดูแลถนนที่ชำรุดเสียหายก็เป็นอีกทางที่ช่วยให้ผู้ใช้จักรยานได้สะดวกขึ้น



“จริงๆ เราก็เข้าใจว่าถนนมันไม่ได้ออกแบบมาให้จักรยานใช้ตั้งแต่แรก การมีทางแบบนี้ขึ้นมามันก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว ตามปกติเราทางจักรยานก็ยังไม่ได้มีทุกที่ เราก็ใช้ถนนร่วมกับรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ด้วย ก็อยากแบ่งปันถนนกันใช้ ให้เกียรติเพื่อนร่วมถนน สุภาพมีน้ำใจให้แก่เพื่อนร่วมทางเท่านั้นแหละครับ”



สถานที่ไม่ให้หรือผู้คนไม่มีวินัย?

หลังจากผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กำหนดการจัดการเส้นทางจักรยานอย่างจริงจังก็ถูกเผยออกมาโดยมีกำหนดเสร็จสิ้นในช่วงปีใหม่ที่จะถึง โดยได้มีการมอบหมายให้สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตพระนคร ปรับปรุงผิวทางพร้อมปรับระดับผิวจราจรให้เสมอกัน ปรับปรุงทางลาดทางเท้า เปลี่ยนตะแกรงฝาบ่อพักเป็นแนวขวาง ตีเส้นจราจรช่องทางจักรยานเป็นเส้นคู่ พร้อมทาสีพื้นจักรยานเป็นสีเขียว ติดตั้งสัญลักษณ์ทางจักรยานและอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย

ทว่าปัญหาที่พบเจอหลายครั้งเป็นเรื่องที่เกิดจากวินัยการใช้ถนนร่วมกันของผู้คนในสังคมมากกว่า ปองขวัญ ลาซูส ที่ปรึกษากรรมธิการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยาม มองว่า พื้นที่ในกรุงเทพฯ อาจมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ก็สามารถทำได้เพียงแค่ต้องมีการออกแบบทั้งระบบ ในส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องของการจัดการมากกว่าปัญหาทางสถาปัตยกรรม

“ถึงจะออกแบบมาดียังไงก็ไม่มีประโยชน์ถ้าคนไม่ปฏิบัติตาม ตรงนี้เป็นปัญหาในด้านการจัดการซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องกวดขันเข้มงวด จับผู้ที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาดถึงจะทำให้คนปฏิบัติตามได้”



เธอเผยว่า ในอดีตนั้นตามตึกถนนหน้าตึกแถวก็มีการให้จอดรถได้ แต่เมื่อรถมีมากขึ้นก็มีการทาสีขาวแดงเป็นสัญญาณให้ห้ามจอด ตำรวจก็ต้องกวดขันจับกุมผู้กระทำผิด คนจึงเลิกจอดรถ กรณีที่เกิดขึ้นกับทางจักรยานก็เช่นกัน เพราะทางถูกเปลี่ยนให้เป็นทางที่ไม่สามารถจอดได้แล้ว หากยังจอดอยู่ก็ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย

แต่เมื่อพูดถึงการออกแบบ เธอมองว่า จำเป็นต้องทำทั้งระบบเพื่อเปลี่ยนเมืองทั้งเมือง มิใช่แค่ทำตามกระแสเท่านั้น ต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าจะออกแบบให้ออกมาในทิศทางใดโดยผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเมืองต้องจัดการให้ชัดเจน

“ถามว่ามันเป็นไปได้มั้ย จริงๆมันเป็นไปได้นะ เพียงแต่ต้องมีการออกแบบทั้งระบบ และชัดเจน เส้นทางมันต้องไปกันให้หมด บางประเทศไม่ใช่แต่ทางจักรยานแต่ทางเดินเท้าด้วย มันต้องคิดไปพร้อมๆกัน ให้กรุงเทพฯเป็นเมืองอะไร ตอบโจทย์อะไร



“รถเราเยอะ สร้างถนนไม่ได้แล้ว เราจะลดการใช้รถยังไง ระบบขนส่งมวลชนมันก็ต้องพร้อม มันต้องมีทั้งระบบ หรือถ้ามีทางจักรยานขึ้นมาเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้มงวดตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่มีขึ้นมาเดี่ยวๆ มันก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องมีการวางแผน ทำภายในกี่ปี และต้องทำอย่างจริงจังไม่ใช่ทำเพราะกระแสมา พอกระแสไปแล้วก็เลิก ไม่ได้”

ทั้งนี้ ท้ายที่สุดเธอมองว่า การทำกรุงเทพฯให้มีทางจักรยานนั้นเป็นไปได้ และลึกๆแล้ว การทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองจักรยานนั้นก็มีวัตถุประสงค์ลึกๆของการทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นอีกด้วย



“การนั่งรถมันทำให้เกิดมลพิษและทำให้คนไม่ได้รับรู้ว่าเมืองมันสกปรก อากาศมันย่ำแย่ยังไง การให้คนหันมาใช้จักรยาน หรือเดินกระทั่งบนส่งมวลชนแทนการใช้รถ มันทำให้คนรู้สึกว่าเมืองต้องน่าอยู่ขึ้น ต้องมีความร่มรื่น ต้องมีอากาศที่ดี ดังนั้นการจัดการตรงนี้จึงเป็นเรื่องของระบบทั้งหมดมากกว่า ทั้งการทำให้ต้องมีขนส่งมวลชนที่ดี ทำให้คนเลิกใช้รถ ทำให้ทางเท้าไม่มีสิ่งกีดขวาง”


ฝันของการมีทางจักรยานเป็นไลฟ์สไตล์หนึ่งของคนเมืองยุคใหม่ ทว่ากับสิ่งที่เป็นอยู่นั้นอาจอาศัยตัวแปรหลายอย่างกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ หากแต่จุดเริ่มต้นจะมาจากใครเท่านั้น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น