ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การหันซบอกอุ่นๆ ของบิ๊กเบิ้มแห่งโลกตะวันออกของผู้นำประเทศไทย นัยหนึ่งเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับคณะรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งเพื่อแสดงต่อโลกตะวันตกว่า พ.ศ.นี้ไทยเลือกจีนเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญที่พร้อมก้าวไปด้วยกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น หากชาติตะวันตกยกเอาประเด็นทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยมากดดันต่อไทยก็มีโอกาสที่จะสูญเสียความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยตามมา
โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่สร้างความขุ่นเคืองให้กับเพื่อนมิตรทั้งสอง เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายการเข้าเยี่ยมคาราวะของนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ว่าการจัดการเลือกตั้งของประเทศไทยจะเกิดขึ้นเดือนก.พ. 2559 ทำให้สหรัฐฯ ผิดหวังอย่างยิ่ง และวิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ฉลาดและไร้เหตุผลอันควร พร้อมกับสั่งระงับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่า 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงยกเลิกกำหนดการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตลอดจนปฏิบัติการฝึกซ้อมทั้งทางทหารและตำรวจ
แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอย่างรอบด้านแล้ว การเลือกเล่นไพ่จีนของคณะผู้นำของไทยหาใช่มีแต่ผลได้ และหาใช่มีอำนาจต่อรองกับตะวันตกเพิ่มมากขึ้นแต่เพียงประการเดียว เพราะหากพิจารณาอย่างถึงที่สุดแล้ว การที่รัฐบาลทหารของไทยเอาประเด็นทางการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจมาผูกติดเป็นเรื่องเดียวกัน อาจจะพลอยทำให้ไทยสูญเสียโอกาสมากกว่าก็เป็นไปได้
ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างเช่น เรื่องรถไฟ ที่รัฐบาลไทยไปทำข้อตกลงกับรัฐบาลจีน มีความหมายเท่ากับปิดทางเลือกอื่น เมื่อเทียบกับว่าหากโครงการนี้รัฐบาลไทยเปิดให้ประมูลแบบอินเตอร์เนชั่นแนล (international Bidding) ก็ย่อมทำให้มีโอกาสเลือกสิ่งที่ดีที่สุดทั้งเทคโนโลยีและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของไทยก็จะไม่รู้สึกว่าไทยเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะทันทีที่มีข่าวว่าไทยเลือกรถไฟจีน ทางญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในไทยก็แสดงออกถึงความไม่พอใจ หรือแม้แต่เยอรมันที่ฝันหวานจะเข้ามาร่วมแข่งขันก็ชวดโอกาสไป
และอย่าลืมว่าอย่างไรเสียชาติตะวันตกทั้งสหรัฐอเมริกากับยุโรปก็เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกตะวันตกก็ยังเหนือกว่าตะวันออกอยู่หลายขุมแม้ว่าจีนกำลังพยายามจะไล่กวาดอย่างกระชั้นชิดก็ตาม
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลประยุทธ์เลือกเล่นไพ่จีน ก็ต้องถามกันต่อว่าแล้วใครได้ ใครเสีย? และหากเหลียวมองประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นรัฐบาลพม่าที่เลือกเล่นไพ่จีนมาก่อนไทยนับตั้งแต่ปิดประเทศ สุดท้ายก็ต้องเปิดประเทศให้ชาติตะวันตกเข้ามาลงทุนเพื่อถ่วงดุลกับจีน สร้างโอกาสและสร้างทางเลือกให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด
มาดูกันว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ลงนามในบันทึกข้อตกลงอะไรกันบ้าง และจะมีผลอย่างไรตามมา
ข้อตกลง 2 ฉบับแรกมีการลงนามกันเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ในโอกาสที่นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion - GMS Summit) ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการพบปะกันครั้งแรกในประเทศไทยนั้น คือ
1)บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565
และ 2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว นายกรัฐมนตรียังเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย - จีน ทั้งในส่วนของการพัฒนาเส้นทางรถไฟและความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร และขอให้คณะกรรมการร่วมฯ เริ่มการประชุมครั้งแรกภายในในต้นปี 2558
สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับแรก รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล
สำหรับบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรนั้น จะเป็นการแสดงเจตจำนงของจีนในการซื้อสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าวและยางพารา รวมทั้งจะเพิ่มปริมาณการสินค้าเกษตรอื่นจากไทยอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอีก 4 ฉบับ ลงนามกันเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2557 ในโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 22 - 23 ธ.ค. 2557 ซึ่งโอกาสนี้ พลเอกประยุทธ์ และนายหลี่ เค่อเฉียง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ ประกอบด้วย
1)บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารประชาชนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศไทยและจีน โดยจะมีการเลือกธนาคารจีนในไทยรายใดรายหนึ่ง ได้แก่ Bank of China (BOC) หรือ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ให้ทำหน้าที่เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวน และสามารถเข้าถึงตลาดการเงินในประเทศจีนได้อย่างคล่องตัว ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องเงินหยวนในระบบ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถลดต้นทุนการทำธุรกรรมเงินหยวนและเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างไทยและจีน
2)ความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาทกับธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อต่ออายุความตกลงฯ เป็นการจัดทำ “ความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินหยวนและบาท” ฉบับใหม่ ทดแทนฉบับปัจจุบันที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ธ.ค. 2557 นี้ เป็นกลไกรองรับสภาพคล่อง กรณีการขาดสภาพคล่องเงินบาทหรือหยวน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนในการใช้เงินสกุลหยวนและบาทในการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมให้ใช้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักในการทำธุรกรรมการค้าการลงทุนของจีนอีกด้วย ภายใต้สัญญา BSA ฉบับใหม่นี้ กำหนดให้มีวงเงินกรณีกู้ยืมเงินหยวนเทียบเท่า 70,000 ล้านหยวน และวงเงินกรณีกู้ยืมเงินบาทเทียบเท่า 370,000 ล้านบาท และมีอายุสัญญา 3 ปีนับจากวันที่มีการประกาศใช้
3)บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการทรัพยากรน้ำและ การชลประทานระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน
4)บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประทศจีน จำกัด ซึ่งมีสาระสำคัญในการเข้าถึงตลาดทุนไทย การนำบริษัทจีนเข้าจดทะเบียนในตลาดทุนไทย ฯลฯ
มองจากสายตานักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ข้อตกลงร่วมมือกันทั้ง 6 ฉบับนั้น เหมือนจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของไทยและจีน แต่ถ้าดูให้ลึกซึ้งดูเหมือนว่าจีนได้ประโยชน์มากกว่า เช่น เรื่องรถไฟ เมื่อไทยดีลกับจีนแล้ว ไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องใช้เทคโนโลยีจีน อุปกรณ์จีน การเงินจีน และยังต้องจ่ายผลตอบแทนจากการลงทุนให้จีนด้วย
ในขณะที่เรื่องสินค้าเกษตรนั้น บทเรียนที่ผ่านมาเรื่องการความตกลงทางการค้าเอฟทีเอไทยกับจีนก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไทยเป็นตลาดระบายสินค้าเกษตรให้กับจีนมากกว่า ขณะที่เกษตรกรปลูกหอมกระเทียมของไทยได้รับผลกระทบถ้วนหน้า การที่ไทยจะส่งสินค้าเกษตรไปขายให้กับจีนต้องฝ่าด่านกีดกันทางการค้าสารพัด
ส่วนสัญญาและเอ็มโอยูอีก 4 ฉบับนั้น กล่าวได้ว่าเป็นผลประโยชน์จีนล้วนๆ กล่าวคือสัญญาสว๊อปเงินบาทและเงินหยวน ผนวกกับศูนย์เคลียริ่งเงินในไทยคือการสร้างความมั่นคงและการเข้าถึงเงินหยวนของจีนโดยแท้
ปกติประเทศไทยค้ากับจีน ทางการอนุญาตให้ถือเงินหยวนไว้ได้ แต่แลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นลำบาก ต่อไปมีศูนย์เคลียริ่งแล้ว ให้แลกเงินหยวนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นคือเงินบาทได้ไม่ต้องรอ แปลว่าเงินหยวนจะหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ได้คล่องตัวขึ้น และมั่นคงด้วยเพราะเป็นการแลกตรง คนจีนทำการค้าการลงทุนไม่ต้องคำนึงถึงความผันผวนของเงินดอลล่าร์หรือสกุลอื่นๆ ที่มีค้าขายในตลาดอีกต่อไป ดังนั้นต่อไปเงินหยวนก็จะมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้
จากแต่เดิมจีนใช้ฮ่องกงเป็นตลาดการเงินพาเงินหยวนออกไปสู่โลก บัญชีในฮ่องกงเป็นเงินหยวนเยอะแยะ ตอนนี้ก็จะมีกรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่งที่เงินหยวนจะมาจราจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งจีนก็มีสัญญาสว๊อปแบบทวิภาคีกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ด้วย เช่น มาเลเซีย หมายความว่าเงินหยวนจะเดินคล่องตัวมากขึ้น
ณ เวลานี้ ไม่ผิดนัก หากจะบอกว่านายกรัฐมนตรีของไทยและจีน กำลังช่วยกันทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองบริวารอีกแห่งหนึ่งของปักกิ่งแล้วในเวลานี้
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การซบอกอุ่นจีน ขณะที่จีนต้องการรุกเข้าสู่ไทย และใช้ไทยเป็นสปริงบอร์ด โดยถือเป็นหนึ่งในเส้นทางการครองโลกในสงครามเศรษฐกิจซึ่งจีนกำลังไต่ขึ้นสู่อันดับหนึ่งแทนสหรัฐฯ นั้น คณะผู้นำของไทยต้องใคร่ครวญกันให้รอบคอบด้วยว่า เมื่อเลือกเล่นไพ่จีน เกมนี้ใครได้ ใครเสีย? แม้ว่า นี่จะเป็นปฏิบัติการตอบโต้รัฐบาลมะกันที่ชอบ “เผือก” ไปทุกเรื่องและแสวงหาผลประโยชน์การการร่วมือกับรัฐบาลและกลุ่มทุนไทยได้อย่างสะใจก็ตาม