นายกรัฐมนตรี หารือกับประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เผยเน้นส่งเสริมเชื่อมโยงในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน พร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการขนส่ง ต่อมาต้อนรับนายกรัฐมนตรีจีน บรรลุความตกลง 2 ฉบับ ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและด้านการค้าสินค้าเกษตร ไทย - จีน
วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแหงชาติ (คสช.) หารือกับ นายทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี โดยภายหลังการหารือ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณ ประธานเอดีบี ที่เข้าใจพื้นฐานและพัฒนาการของประเทศไทย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเงินทุน และงานวิชาการ ทำให้เกิดการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งย้ำว่าไทยกำลังเดินหน้าปฏิรูปทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพราะก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยต้องหยุดชะงักไป และรัฐบาลชุดมีนโยบายสำคัญ คือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน จะมีการพิจารณามาตรการลงทุน พร้อมปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อให้เกิดกิจกรรมด้านการลงทุน ที่จะมีส่วนเชื่อมโยงในเรื่องการค้าขายพืชผลทางเกษตร รวมถึงการจ้างแรงงานในพื้นที่ และเสริมสร้างความเจริญในภูมิภาคอาเซียนได้ ทั้งนี้ไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนกับต่างประเทศ เช่นหากใครมาลงทุนในประเทศไทยก็จะสนับสนุนให้ไปลงทุนเพิ่มเติมในประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่เรียกว่าไทย บวก 1 อีกทั้งยังเห็นว่า เอดีบีสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาพัฒนาสาขาต่างในภูมิภาคนี้ได้ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเชื่อมโยงในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และอาเซียน และไทยเองก็มีความพร้อมในการที่จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางบก รถไฟ และทางทะเล นอกจากนี้ นายกฯยังขอให้เอดีบี สนับสนุนการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ด้วย
ด้านทางประธานเอดีบี ได้กล่าวชื่นชมไทย ที่มีบทบาทสำคัญที่สนับสนุนพัฒนากลุ่มภูมิภาคอาเซียน ทางเอดีบีพร้อมสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางพัฒนาในกลุ่มภูมิภาคนี้ เพราะไทยมีความโดดเด่นในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยที่มีสูง และเอดีบียืนยันจะร่วมกับไทย พัฒนาประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมทางการเงิน เทคนิค การวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญการพัฒนาด้านอาชีวะศึกษา
ต่อมาเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับนาย หลี่ เค่อเฉียง (Mr. Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสหารือทวิภาคีและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 2 ฉบับ ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมหารือ ประกอบด้วยฝ่ายไทย ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายจีน ได้แก่ นาย Gao Hucheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นาย Lou Jiwei รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง นาย Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Yang Chuantang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นาย Zhou Xiaochuan ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน และนายฉี เจ้าฉื่อ (XU SHAOSHI) ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ และนาย Sheng Guangzu ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศจีน ณ ทำเนียบรัฐบาล โอกาสนี้ ร้อยเอกยงยุทธ มัยลาภ ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งเป็นการพบปะกันครั้งแรกในประเทศไทย และยินดีที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด (GMS Summit) ครั้งที่ 5 ซึ่งจีนมีบทบาทสำคัญในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ไทยและจีนบรรลุการลงนามความตกลงที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 และ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว นายกรัฐมนตรียังเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย - จีน ทั้งในส่วนของการพัฒนาเส้นทางรถไฟและความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร และขอให้คณะกรรมการร่วมฯ เริ่มการประชุมครั้งแรกภายในในต้นปี 2558
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรอบความร่วมมือ GMS เป็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่ง ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาค GMS ทั้งทางถนน ราง และน้ำ ขณะนี้ได้มีการพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมโยงในเส้นทาง R3A (กรุงเทพฯ - คุนหมิง) เพื่อให้การขนส่งคนและสินค้าเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น ไทย สปป. ลาว และเวียดนาม ยังได้เห็นชอบในหลักการในการพัฒนาเส้นทางหมายเลข R8 และR12 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงไปยังกว่างซีในอนาคต นอกจากนี้ ไทยยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจ ไทยอยู่ระหว่างการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียงเศรษฐกิจ ในบริเวณชายแดน ซึ่งในอนาคตสามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่อยู่ตามระเบียงเศรษฐกิจเดียวกัน เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนต่อไป ส่วนความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ จีนมีบทบาทสำคัญในการจะช่วยสนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติภายใต้กรอบ GMS โดยเฉพาะการจัดการภัยพิบัติเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ การส่งเสริม Credit Guarantee สำหรับ SMEs ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆ ในไทยและอนุภูมิภาค
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวขอบคุณในการต้อนรับอย่างอบอุ่น การลงนามความตกลงทั้ง2 ฉบับ เป็นการยืนยันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ การพัฒนาเส้นทางรถไฟจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน ลาว ไทย จะทำให้มีการเพิ่มพูนปริมาณสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวระว่างประเทศในภูมิภาคต่อไปในอนาคต สำหรับความร่วมมือด้านการซื้อสินค้าเกษตร จีนจะพิจารณาเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าเกษตรจากไทยให้มากยิ่งขึ้น เช่น ข้าว และยางพารา ส่วนความร่วมมือในภูมิภาค GMS นั้น จีนพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาคในทุกมิติ พร้อมที่จะได้มีการร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการเชื่อมโยงเส้นทางถนน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งคนและสินค้าในอนาคต นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สถานการณ์ภายในประเทศไทยมีเสถียรภาพและความมั่นคง เป็นผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
หลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีจีน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China (PRC) on Cooperation on the Thailand’s Railways Infrastructure Development on The Strategic Framework for Development of Thailand’s Transportation Infrastructure 2015-2022(B.E.2558-2565)泰王国政府和中华人民共和国政府 关于在泰国2015 至2022 年交通运输基础设施发展战略框架下开展 铁路基础设施发展合作的谅解备忘录 ระหว่าง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายฉี เจ้าฉื่อ (XU SHAOSHI) ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ
อีกฉบับหนึ่ง คือ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร Memorandum of Understanding between the Government of the People’s Republic of China (PRC) and the Government of the Kingdom of Thailand for Cooperation on Agricultural Products Trade 泰王国政府和中华人民共和国政府 关于农产品贸易合作的谅解备忘录 โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และ นายฉี เจ้าฉื่อ (XU SHAOSHI) ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ
สาระสำคัญของร่างเอ็มโอยูดังกล่าว รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย - โคราช - แก่งคอย - ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย - กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล สำหรับบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรนั้น จะเป็นการแสดงเจตจำนงของจีนในการซื้อสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะ ข้าวและยางพารา รวมทั้งจะเพิ่มปริมาณการสินค้าเกษตรอื่นจากไทยอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนี้นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเข้าร่วมงานอาหารค่ำ (Gala Dinner) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำที่เข้าร่วมการการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร