xs
xsm
sm
md
lg

หลัก 5 ข้อเลือกหมอศัลยกรรมความงาม แพทยสภาดันไทยเป็น “คอสเมติกฮับ” สู้ “เกาหลี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพทยสภา เตรียมผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “คอสเมติกฮับ” ชี้แพทย์ไทยด้านศัลยกรรมและความงามมีศักยภาพขั้นเทพ ขณะที่มูลค่าตลาดปีละ 2-3 หมื่นล้าน เชื่ออีก 5 ปีก้าวสู่แสนล้านบาทชิงแชมป์เกาหลี เร่งออกมาตรการทั้ง “ควบคุม” และ “ส่งเสริม” รองรับกระแส “สวยด้วยมีดหมอ” ที่เน้นคุณภาพและผลิตแพทย์ด้านศัลยกรรมความงามรองรับได้ทัน พร้อมขอภาครัฐสนับสนุน ก้าวขึ้นเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ขณะเดียวกันแนะคนที่อยากศัลยกรรม ต้องยึดบัญญัติ 5 ประการ จะได้ไม่เสียโฉมหรือเสียชีวิตตามมา

วงการศัลยกรรมและความงามในประเทศไทยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ด้วยมูลค่าตลาดประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท และมีอัตราการเติบโตด้วยค่าเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี ปัจจุบันคนไทยนิยมทำศัลยกรรมหน้าอก ตา จมูก และจากสถิติที่ผ่านมาในรอบ 5 ปี พบว่าคนไทยทำจมูกเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึงเท่าตัว คือเพิ่มขึ้นถึง 20% ซึ่งแนวโน้มนี้ชี้ให้เห็นเทรนด์ว่าเรากำลังกลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญของประเทศเกาหลี ซึ่งมีรายได้จากธุรกิจศัลยกรรมและความงามในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

แนวโน้มการเติบโตที่เป็นโอกาสทองนี้ อาจกลายเป็นปัญหาตามมาได้ เนื่องจากประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงามขั้นเทพ ที่จบด้านนี้โดยตรงยังมีน้อย อีกทั้งสถาบันแพทย์แต่ละแห่งทั้งศิริราช รามาฯ จุฬาฯ หรือสถาบันแพทย์อื่นๆ มีโครงการรับแพทย์ต่อยอดวุฒิบัตรด้านศัลยกรรม หรือด้านโสต คอ นาสิก แห่งละ 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการเป็นแพทย์ประจำบ้านถึง 5 ปีกว่าจะจบออกมาเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม และต่ออนุสาขาเพื่อได้อนุมัติบัตรศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้าต่อไป

ส่วนแพทย์ที่ทำศัลยกรรมความงามในปัจจุบันที่เห็นว่ามีปริมาณมากนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ทั่วไปที่จบแพทยศาสตร์ออกมาก็สามารถทำการผ่าตัดได้แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ที่แพทย์ทั่วไปจะมาทำศัลยกรรมให้กับคนไข้ที่ต้องการเสริมความงาม แต่ด้วยความที่แพทย์ทั่วไปไม่ได้จบมาโดยตรง ทำให้บางครั้งก็เกิดเป็นปัญหาในการผ่าตัดศัลยกรรมความงามให้กับคนไข้จนทำให้ใบหน้าบิดเบี้ยวถึงขั้นเสียโฉมและเสียชีวิตบางราย จนมีเรื่องฟ้องร้องปรากฏเป็นข่าวให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยพร้อมที่จะรองรับกระแสการเติบโตของธุรกิจศัลยกรรมและความงาม ทั้งในเรื่องการผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ และปริมาณที่เพียงพอในอีก 5 ปีข้างหน้า แพทยสภาจึงเตรียมแผนรองรับการที่ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพ (Medical Hub) ด้วยการผลักดันให้การแพทย์ทางด้านศัลยกรรมและความงามของไทย ยกระดับเป็น Cosmetic Hub ไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล
นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภาแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ
แพทย์คลินิกศัลยกรรมไม่ได้คุณภาพ

นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภาแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ เปิดเผยถึงสภาพความจริงที่เกิดขึ้นว่า สาเหตุที่คนไทยหันมาทำศัลยกรรมมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องสวยงามอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างบุคลิกภาพ หน้าตาดีขึ้น ทำให้คนมีความมั่นใจยิ่งขึ้นด้วย เพราะบางคนต้องเข้าสังคม ขายหน้าตาให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ตามคำกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ว่า “ใครหน้าตาดี ใครสวยจะทำเงินได้มากกว่า” : More Beautiful Make More Money” รวมถึงกระแสเกาหลีที่เข้ามากระตุ้น ทำให้คนไทยใส่ใจกับบุคลิกหน้าตา ทั้งในรูปแบบการทำศัลยกรรม และไม่ศัลยกรรมเช่นการเสริมสวย ฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์

แม้ว่าแพทย์ศัลยกรรมไทยเรียกได้ว่า มีมือดี มีฝีมือขั้นเทพเกือบทุกคน แต่อาจจะไม่พอ ซึ่งในสถานการณ์นี้ เมื่อดีมานด์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น จึงต้องมีซัปพลายมาตอบสนอง และทำให้มีหมอรุ่นใหม่เข้ามาทำศัลยกรรมกันมากและมีการใช้โฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เป็นการโฆษณาเกินจริง โอ้อวด หลอกลวง พูดไม่หมด ซึ่งทำให้มีปัญหาตามมา เช่นคนไข้มีผลข้างเคียง จากการที่ไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจ และหลงเชื่อคำโฆษณา

นอกจากนี้ยังมีกรณี  NHK สำนักข่าวญี่ปุ่นออกประกาศว่าประเทศไทยทำจมูกพลาสติกด้วยแพทย์ที่ด้อยคุณภาพ เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปทำให้ประเทศไทยเสียหาย เรากำลังติดตามต้นตอที่มาของเรื่องว่าได้ข้อมูลมาจากที่ไหน ใครบางคนให้ข้อมูลแล้วเชื่อเลยหรือ ตรงนี้มีกระทบต่อประเทศ เพราะอันที่จริงแพทย์ศัลยกรรมมีฝีมือ แต่มีบางรายที่ทำให้มีผลข้างเคียงจริง แต่ถ้าเอาจำนวนน้อยมาเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสภาพทั้งหมดคงไม่ได้

อีกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมา คือ นำคนที่มีปัญหาได้รับผลข้างเคียงจากการทำศัลยกรรมมาเรียกร้องผ่านรายการทีวี อีกทั้งมีกลุ่มผู้เสียหายจากการทำศัลยกรรมกำลังฟ้องร้องขึ้นเฟซบุ๊ก ถล่มโจมตีกับคลินิกรายใหญ่ ปัจจุบันเริ่มมีเหตุการณ์แบบนี้แล้ว 3- 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า วงการศัลยกรรมกำลังจะเริ่มมีปัญหา ทำให้แพทยสภาต้องเข้ามาหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งหากแพทยสภาที่มีหน้าที่บทบาทคุมแพทย์ทั้งประเทศไม่เข้ามาแก้ ใครๆก็ทำไม่ได้ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะมีการโฆษณาเกินจริง และทำเกินขอบเขตความสามารถ “บางครั้งคุณภาพยังไม่ได้ ยังต้องพัฒนา ก็เข้ามาเปิดคลินิกศัลยกรรมกันแล้ว”

ผลักดันไทยผงาด “คอสเมติกฮับ”

นายแพทย์สัมพันธ์ระบุว่า แพทยสภาก้าวสู่เป้าหมายที่รัฐได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “เมดิคัลฮับ” โดยเฉพาะแพทย์ไทยด้านศัลยกรรมและความงาม ซึ่งมีทั้งผ่าตัดและไม่ผ่าตัด มีความเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับที่พร้อมจะก้าวขึ้นสู่การเป็น “คอสเมติกฮับ” ได้ทันที และหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะทำให้การแพทย์ไทยไม่เป็นภาระของประเทศที่คอยแต่จะของบประมาณรักษาคนเจ็บ ซึ่งมีแต่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี อีกทั้งความต้องการทำศัลยกรรมของคนไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศอื่นๆ อย่างลาว พม่า กัมพูชาเข้ามา ตลาดจะเริ่มขยายไปมากขึ้น

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการต่อยอดจุดแข็งทางด้าน “ศัลยกรรมและความงาม” ซึ่งมีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็น “ศูนย์กลาง” ในภูมิภาคเอเชีย

“เรามีทรัพยากรด้านบุคคล คือ มีหมอทำจมูก ทำตา ทำหน้าอก แปลงเพศ ที่มีฝีมือระดับต้นๆ เรียกว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ของโลก ซึ่งทำมาก่อนประเทศเกาหลี โดยไทยเริ่มมีการทำศัลยกรรมจมูกมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แม้จะไม่เด่นแต่ก็ค่อยๆ สะสมวิทยาทานตลอดมา ปัจจุบันเรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง 500-600 คน ด้านศัลยกรรมมือดีๆ 200 คน แต่ตัวเลขรวมของแพทย์ที่ทำจริงๆ มีหลักพัน ซึ่งการผลิตแพทย์ศัลยกรรมดีๆ ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 10 -20 ปี ถึงจะสร้างมือดีขึ้นมาได้

ส่วนทางแก้ปัญหาเพื่อให้ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพทันต่อความต้องการของวงการศัลยกรรมความงามที่แพทย์สภาเตรียมการไว้คือ การดึงแพทย์ทั่วไปที่ต้องการเข้าสู่ตลาดศัลยกรรมความงามมาเรียน โดยร่างเป็นหลักสูตรอย่างชัดเจน

“ในเมื่อห้ามแพทย์ทั่วไปไม่ได้ และจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือออกมาไม่สวย ซึ่งบางคนมีฝีมือ บางคนไม่มี หรือแม้แต่คนที่จบศัลยกรรมพลาสติก ก็เป็นเรื่องที่ผ่าตัดแล้วทำให้ตายได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า พลาสติกต้องเก่งและดีกว่าคนอื่น แต่คือการที่ได้เรียนมาโดยตรง จึงเป็นเรื่องฝีมือล้วนๆ ที่เราต้องยกระดับความรู้ขึ้นมา”

อย่างไรก็ดี กระแสการศัลยกรรมและความงามที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ก้าวขึ้นไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างแน่นอน หากรัฐบาล แพทยสภา สมาคมแพทย์ หรือแพทย์ที่เกี่ยวข้อง มีความพร้อม สามารถผลักดันเรื่องศัลยกรรมเป็นธุรกิจส่งออกได้เช่นกัน ซึ่งสามารถขยายไปในประเทศญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น

เลขาธิการแพทยสภาบอกว่า ปัจจุบันเริ่มมีเอเยนต์จากประเทศต่างๆ เหล่านี้เข้ามาติดต่อหมอศัลยกรรมไทยแล้ว ซึ่งราคาที่ตั้งไว้สำหรับคนกลุ่มนี้จะสูงและมีความแตกต่างจากในบ้านเรามาก รวมถึงหากแพทยสภาสามารถเตรียมการทุกอย่างให้เข้าสู่ระบบได้ และเพิ่มจำนวนหมอศัลยกรรม ประเมินว่ามูลค่าตลาดศัลยกรรมจะก้าวกระโดดจากหลัก 2-3 หมื่นล้านขึ้นเป็นแสนล้านบาทภายใน 5 ปี

ดังนั้นโอกาสที่ประเทศไทยจะขึ้นแท่น “คอสเมติกฮับ หรือ เอสต์เซสติกฮับ AESTSESTIC ” มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งถ้าไปสู่เป้าหมายได้นั้น ต่อไปคนไทยที่เดินทางไปทำศัลยกรรมไม่ต้องเดินทางไปที่ประเทศเกาหลีแล้ว และที่ไปส่วนใหญ่จะถูกชักชวน เมื่อไปแล้วกลับมาแก้กับหมอศัลยกรรมที่เมืองไทย ขณะเดียวกันเมื่อเปิดเออีซี กลุ่มคนที่ทำศัลยกรรมจากประเทศเพื่อนบ้านจะเดินทางมาทำที่ประเทศไทย เพราะว่าคุณภาพดีและมีราคาที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ

ทั้งนี้การจะก้าวไปสู่ขั้น Advance ต้องรอให้ทุกองคาพยพตามมาก่อน รวมถึงถ้ามีงบประมาณและเตรียมความพร้อมเรื่องทรัพยากรทางการแพทย์สามารถเปิดเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางได้ทันที ทั้งผ่าตัดและรับสอนแพทย์ที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ส่วนการจะก้าวไปสู่ คอสเมติกฮับ ได้นั่นจะเป็นการพึ่งพาภาคเอกชน ศูนย์การแพทย์ ทั้งคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีศักยภาพอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลานาน แต่หากรัฐบาลเห็นด้วยและเข้ามาเป็นโต้โผ เรามีความพร้อมอยู่แล้ว และโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และมีความเป็นไปได้สูงมาก ทั้งเรื่องคุณภาพ ความสามารถ ความรู้ และราคา เพียงแต่ว่าตอนนี้ต้องมารวบรวมจัดระบบ เรียบเรียง มีการส่งเสริมคุณภาพ หรือควบคุมในสิ่งที่ห้ามทำ เพราะฉะนั้นแพทยสภามีหน้าที่ทั้งควบคุมและส่งเสริมเพื่อยกระดับให้ก้าวขึ้นสู่สถาบันทางการแพทย์ด้านศัลยกรรม สร้างรายได้ให้เป็นที่พึ่งของประเทศ ไม่ใช่ภาระของประเทศ

ร่างแผนควบคุมและส่งเสริม

โดยแพทยสภาจะเข้ามาทำหน้าที่ดูแลใน 2 รูปแบบ คือ การควบคุม และส่งเสริม เพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะด้วยจำนวนหมอ และการเทรนนิ่งสร้างหมอศัลยกรรมใหม่ ที่กำลังเข้ามานั้น ไม่สามารถรองรับการเติบโตตรงนี้ได้ เพราะศักยภาพในการผลิตแพทย์ศัลยกรรมพลาสติกจบออกมาปีละ 10 คน หรือแพทย์โสต คอ นาสิก หู จมูก ที่ต่อยอดศัลยกรรมตกแต่งใบหน้ามีปีละ 5- 6 คน

อย่างไรก็ตาม เมื่อแพทยสภาไม่สามารถห้ามแพทย์ทั่วไปมาทำเรื่องความสวยความงามได้ จึงต้องจัดระเบียบให้ใหม่ และกำหนดเป็นร่างข้อบังคับสำหรับแพทย์ที่จะมาทำด้านศัลยกรรมตกแต่ง ด้วยการรวบรวมจากปัญหาที่ผ่านมา และกำลังจะทำเป็นข้อบังคับออกมา รวมถึงแนวคิด อนุกรรมการคุ้มครองประชาชน จากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเรื่องการเสริมสวยและการโฆษณา ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ที่แพทยสภาระดมแนวคิดทางแก้มา 2 ปีแล้ว เพื่อจะผลิตบุคลากรให้ออกมาได้ตามจำนวนที่สอดคล้องกับความต้องการและมีคุณภาพที่ปลอดภัยต่อประชาชน

สำหรับรูปแบบที่วางแนวทางไว้ แพทยสภาเป็นผู้กำหนดหลักสูตร และให้สถาบันที่สนใจเป็นผู้สร้างหลักสูตรขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องเรียน 5 ปีเหมือนที่ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแพทย์ศิริราช แพทย์ จุฬาฯ แพทย์รามาฯ ม.แม่ฟ้าหลวง หรือแม้แต่สมาคม วิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญศึกษาทางด้านนี้ ก็สามารถเป็นผู้จัดอบรมได้ ซึ่งจะได้เป็นการกระจายแพทย์ออกไปทั่วประเทศ

“แพทยสภาทำลักษณะนี้ดีกว่าปล่อยให้เปิดทำศัลยกรรมกันเอง หรือจะบังคับไม่ให้ทำก็ไม่ได้ ดังนั้นจับเข้ากฎเกณฑ์ดีกว่า แต่ถ้าจะต่อยอดด้วยการเรียนเต็มหลักสูตร 4-5 ปี คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านคอสเมติกฮับ ให้ได้ภายใน 5 ปี”

ดังนั้น แพทยสภาจึงต้องมีการควบคุมและส่งเสริม ด้วยการออกกฎข้อบังคับขึ้นมาว่า แพทย์ที่จะทำศัลยกรรมความงามได้ควรเข้ารับการฝึกอบรมแต่ละหลักสูตรอย่างไร เช่นทำตา จมูก ทำหน้าอก ฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ จะต้องผ่านหลักสูตรการอบรมที่ได้มาตรฐาน ส่วนการแปลงเพศต้องอบรมกันเป็นปี

“การร่างข้อบังคับขึ้นมานั้น เราจะทำกันเป็นเรื่องๆ ซึ่งจะต้องไม่กีดกันแพทย์ที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจศัลยกรรมความงาม แต่จะเป็นการยกระดับคุณภาพของหมอโดยตรง เพื่อประโยชน์ของคนไข้ที่จะได้หมอที่มีคุณภาพด้วย”

เลขาธิการแพทยสภาบอกอีกว่า คนไข้ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแพทย์ที่เราจะไปทำศัลยกรรมนั้นมีความเชี่ยวชาญหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการตรวจสอบ แต่เชื่อจากคำบอกเล่า หรือจากคำโฆษณาที่มีการประกาศในสื่อต่างๆ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังการทำศัลยกรรมมาแล้ว ดังนั้นร่างที่แพทยสภาจะประกาศออกมาจะมีประมาณ 3-4 หมวด คือ หมวดทั่วไป หมวดสิทธิผู้ป่วย คุณสมบัติของแพทย์ที่จะทำศัลยกรรม เป็นต้น

ระดมกึ๋น 10 ประเทศสร้างนวัตกรรมความงาม

นอกจากนี้แพทยสภายังวางแผนในเชิงรุก เพื่อกระตุ้นให้แพทย์ในวงการนี้รวมตัวกันจัดงานเชิงวิชาการแพทย์ศัลยกรรม ผ่าตัดทำจมูก ทำตา ทำหน้าอก ดูดไขมัน และแพทย์ผิวหนัง รักษาสิวฟ้า เลเซอร์ ร้อยไหม โบท็อกซ์ ซึ่งตอนนี้มีสมาคมที่กระจัดกระจายมากกว่า 10 สมาคม

“การที่เราจะเป็นผู้นำได้นั้นต้องมีนวัตกรรมเข้ามา และบ้านเรามีหมอเก่งอยู่แล้ว แต่มีจุดอ่อน คือ หมอไม่มีการรวมตัวกัน ต่างคนต่างอยู่ ขณะที่ประเทศเกาหลีล้ำหน้าไปมาก เพราะมีรัฐบาลผลักดันโดยตรง ซึ่งหากเรารวมตัวกันได้ และยังได้รัฐบาลผลักดัน ก็จะทำให้เราก้าวสู่เป้าหมายเป็นคอสเมติกฮับ ได้เร็ว”

ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นของการสัมมนาเชิงวิชาการแพทย์ศัลยกรรมจะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้โดยเร็วจะต้องมีรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน เพราะการจัดงานระดับชาติได้ต้องมีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งวันนี้ต้องเชื่อว่าประเทศไทยกำลังสู้กับเกาหลีเรื่องศัลยกรรมความงาม เพราะเรามีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีฝีมือ และมีราคาที่ถูกกว่าประเทศอื่นๆ เพียงแต่ว่าเราต้องยกระดับเรื่องวิชาการด้วย ที่ผ่านมามีการยกระดับด้านฝีมือ แต่จากนี้ไปต้องก้าวไปด้วยกันในรูปแบบการจัดประชุมเชิงวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์ของนานาประเทศ ซึ่งต้องทำให้เห็นภาพนี้ขึ้นมา

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวและนำเสนอในกลุ่มแพทยสภา 10 ประเทศในอาเซียน โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ไทยแลนด์ เมดิคัล เอ็กซ์โป” ที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 5 -7 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้รูปแบบวิชาการกำหนดให้แต่ละประเทศทั้ง ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลี มาอภิปรายกันว่าแต่ละประเทศมีปัญหาอะไร แล้วสรุปบทสุดท้ายให้ประเทศพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ใน 10 ประเทศนำมาเป็นแนวทางในการควบคุมแพทย์ และคุ้มครองประชาชน โดยประเทศไทยจะเป็นผู้นำให้ประเทศอื่นทำตาม ซึ่งร่างมาจากข้อมูลของแต่ละประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย อาร์เจนตินา อเมริกา และเข้ากับบริบทของประเทศไทยออกมาเป็นร่างของตัวเอง

หลักการ 5 ข้อก่อนเลือกหมอทำศัลยกรรม

นอกจากนี้เลขาธิการแพทยสภา ยังเตือนคนที่อยากทำศัลยกรรม ตา จมูก และหน้าอก ว่าการตัดสินใจเรื่องราคา จะเลือกแบบถูกหรือแพงก็ได้ ขึ้นอยู่กับทักษะของหมอเก่ง หรืออาจจะมีการใช้โฆษณาเกินจริง แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วก็ดีกว่าหมอที่มือไม่ถึง ซึ่งต้องนำหลายๆ เหตุผลมาประกอบกัน สำหรับแพทย์ที่มีชื่อเสียง ตลอดจนผลงานมีฝีมือที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์จะมีราคาสูง บางครั้งหากมีโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเองเก่งและดัง ราคาก็แพงตามมา

ทั้งนี้ ค่าทำจมูกจะมีช่วงราคาเริ่มต้นกันที่หลักพันจนถึงหลักแสน ซึ่งคุ้มค่าสมเหตุสมผลมาจากทักษะฝีมือล้วนๆ ไม่ได้ขึ้นกับวัสดุแต่คือราคาของทักษะฝีมือเท่านั้น

ค่าทำตา ในช่วงราคา 3-5 หมื่นบาท

ค่าทำหน้าอกเริ่มตั้งแต่ระดับ 5 หมื่นบาทจนถึงหลักแสน สูงสุดประมาณ 1.5 แสนบาท แล้วแต่วัสดุที่นำมาใช้ และสถานที่หากเป็นโรงพยาบาลใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ราคาค่าผ่าตัดแปลงเพศใช้เงินหลักแสนบาทเป็นต้นไป

ส่วนการดูดไขมัน การตั้งราคาของแต่ละแห่งไม่เท่ากัน

ขณะเดียวกันก่อนที่จะตัดสินใจทำศัลยกรรมนั้นจะต้องคิดถึงหลักการ 5 ข้อเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากการทำศัลยกรรมความงาม ประกอบด้วย

1.อย่าเชื่อคนง่าย เพราะธรรมชาติของคนไทยเชื่อคนง่าย บางครั้งเพียงแค่ไปส่งเพื่อน หรือเป็นกำลังใจเพื่อนที่ต้องผ่าตัด เมื่อทำเสร็จแล้วปรากฏว่า ตัวเองเข้าด้วย ยังไม่ได้มีการศึกษาหาข้อมูลให้ตัวเอง พอถูกชักชวนก็เข้า โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ มีการโหมโฆษณาโน้มน้าวให้เชื่ออย่างมาก

2.ปรึกษาคลินิกหลายๆ แห่ง ไม่ใช่หาข้อมูลที่เดียวแล้วตัดสินใจเลย ไปหาหมออย่างน้อยอีกสัก 2-3 คน ฟังแล้วดูว่าเข้าท่าตอบคำถามเราได้ โดยตั้งคำถามว่าทำแล้วจะเป็นอย่างไร ให้ถามวิธีการที่จะทำ จมูก ตา ดูดไขมัน ร้อยไหม ใช้ไหมอะไร ของประเทศอะไร ผ่าน อย. หรือเครื่องมือเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ต้องกลัวจะโดนว่า เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรู้ต้องถามเพื่อน หรือคนไข้ที่ทำมาแล้วว่าที่นี่เป็นอย่างไร

3.ดูประวัติแพทย์ จบมาทางด้านไหน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อันนี้สำคัญมาก เพราะการที่จะตัดสินว่าหมอเก่งหรือไม่เก่งอยู่ที่ชั่วโมงบินของการผ่าตัดศัลยกรรมมาเยอะด้วย เป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้ามีประสบการณ์มาเยอะแล้ว ส่วนใหญ่ผลลัพธ์จะดีไม่มีปัญหา

4.ให้ดูเรื่องราคาและความคุ้มค่า ให้ทำเท่าที่จำเป็น อย่าไปทำเพราะเสพติดศัลยกรรม

5.ความรับผิดชอบ เมื่อตกลงกันเรียบร้อย ก็ต้องตกลงกันเรื่องหลังผ่าตัด เป็นอย่างไร รับผิดชอบอย่างไร ถ้ามีปัญหาต้องแก้ไขให้ ต้องส่งไปไหนและตามไปรับผิดชอบด้วยนั้นจะเหมาะสมที่สุด ระยะเวลาคุณภาพการรับประกันเป็นอย่างไรบ้าง สมมติการทำตา 1-2 ปีต้องไม่เบี้ยวไปที่จมูก เพราะว่าจริงๆ แล้ว 3 เดือนต้องนิ่งแล้ว ไม่เคลื่อนไปไหนแล้ว 1 ปีจะไม่เบี้ยว แต่ถ้าไปทำอะไรมาเช่นอุบัติเหตุโดนชก ถ้ามีเหตุอย่างนี้จะหลุดจากการประกัน

ดังนั้นใครก็ตามที่ต้องการทำศัลยกรรมตกแต่งและความงามหากยึดหลักการ 5 ข้อตามที่เลขาธิการแพทยสภาแนะนำก็คงปลอดภัยได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในทางการแพทย์แล้ว “การผ่าตัดไม่มีอะไรที่ปลอดภัย 100% และคนไข้ทุกๆ คนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเสี่ยงจากการติดเชื้อ เสี่ยงจากเสียเลือดมาก หรือเสี่ยงจากการดมยา เป็นต้น

ขณะเดียวกัน หากแพทยสภาสามารถผลักดันคุณภาพของแพทย์ด้านศัลยกรรมและความงามเป็นผลสำเร็จ ประเทศไทยก็จะมีแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั้งในด้านคุณภาพและจำนวนแพทย์ที่เพียงพอต่อการดึงดูดคนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเสริมความงามในประเทศไทย และกลายเป็นคู่แข่งประเทศเกาหลี สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล และพร้อมที่จะก้าวขึ้นแท่น“คอสเมติกฮับ” ภายใน 5 ปีแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น