ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ฉาวส่งท้ายปี 2557 กับเหตุการณ์ยักยอกเงินมูลค่ามหาศาลจำนวน1,663 ล้านบาทไปจากบัญชีกองกลางของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จากจำนวนเงินทั้งหมด 3,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดสถาบันฯ มีการเปิดบัญชีธนาคารหลายบัญชี (ซอยบัญชี) รวมนับ 10 บัญชี..
งานนี้ส่งกลิ่นตุ..เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าเงินจำนวนมหึมาขนาดนี้จะหายอย่างไร้ร่องรอย ทั้งเป็นไปได้ยากที่คนในจะไม่รู้เห็น และน่าจะร่วมมือกันทำเป็นขบวนการ!!
ล่าสุด..กองปราบปรามได้จับกุม นายทรงกลด ศรีประสงค์ อายุ 40 ปี ผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ และยังอายัดตัว น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อายุ 56 ปี ผู้อำนวยการส่วนการคลัง สจล.ที่ขณะนี้นอนรักษาตัวอยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู. โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางนา โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม
ทั้งนี้ เหตุแห่งการจับกุมสืบเนื่องจาก สจล.เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.1.บก.ป.เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาให้ดำเนินคดีต่อนายทรงกลด และ น.ส.อำพร ในความผิดฐานดังกล่าว ด้วยเหตุที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ซึ่งขณะนั้น น.ส.อำพรได้ดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.การคลังของสถาบัน ได้ทำเรื่องถอนอนุมัติเงินของสถาบัน ซึ่งฝากไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขา สจล.จำนวน 50 ล้านบาท และเงินของสถาบันที่ฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย สาขานิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จำนวน 30 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 80 ล้านบาท ออกไปโดยอ้างว่าจะนำเงินไปฝากรวมกับบัญชีของสถาบันอีกบัญชีหนึ่งเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราเดิม โดยนำไปฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ซึ่งมีนายทรงกรดเป็นผู้จัดการสาขาอยู่
ต่อมา นายเผ่าภัค ศิริสุข รักษาราชการแทนรองอธิการบดี สจล.พบข้อพิรุธเกี่ยวกับเงินกองกลางของ สจล.จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารตามที่มีการกล่าวอ้างว่าได้นำเงินเข้าบัญชีธนาคารนั้น ๆ กระทั่งพบว่าไม่มีการนำเงินเข้าบัญชีธนาคารแต่อย่างใด ส่วนรายการยอดเงินในบัญชีเป็นเพียงรายการปลอมที่ทำขึ้นเพื่อหลอกลวงว่าเงินยังมีอยู่ในบัญชีธนาคารเท่านั้น สจล. จึงได้ดำเนินการตรวจสอบเงินกองกลางที่ฝากไว้ในบัญชีธนาคารต่างๆ ย้อนหลังตั้งแต่ปี2555 ถึงปัจจุบัน จึงพบว่ามีเงินอีกจำนวน 1,583 ล้านบาทได้หายไป รวมแล้วเป็นจำนวน 1,663 ล้านบาท ...
แม้จะสามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดทั้ง 2 รายได้แต่ยังไม่ใช่การสิ้นสุดของคดี เพราะเป็นจุดเชื่อมโยงเพื่อเฟ้นหา “ตัวการ” ที่อยู่เบื้องหลังอันแท้จริง ส่วนจะโยงใยไปถึงคนใน สจล.หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินในระดับใดด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอการสืบสวนและชี้ชัดจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ฟากสถาบันฯ หลังใช้วิธีการส่งแถลงการณ์ชี้แจง ฉบับที่ 1 เบื้องต้นไปยังสื่อสำนักต่าง ๆ เพื่อเลี่ยงการตอบข้อซักถามจากสื่อที่พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ ได้เปิดโต๊ะแถลงข่าวพร้อมออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้แถลงข่าวผลการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย
โดย ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล.พร้อมคณะรักษาการผู้บริหาร สจล. เปิดเผยว่า เนื่องจากรักษาการรองอธิการบดี ที่รับผิดชอบดูแลด้านการคลังได้พบความผิดปกติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ที่ ผอ.ส่วนการคลัง ได้พานายทรงกลด มาแนะนำตัวกับรักษาการแทนรองอธิการบดี โดยแจ้งว่ามาจากธนาคารไทยพาณิชย์ และจะนำของขวัญปีใหม่มาร่วมในการจัดงานปีใหม่ของทางสถาบันฯ และในวันเดียวกันนายทรงกลด ได้นำแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 จำนวนเงิน 50 ล้านบาท เพื่อให้รักษาการแทนรองอธิการบดีทำการสลักหลังเช็คดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเข้าบัญชีของบุคคลแทนที่จะเข้าบัญชีสถาบันฯ ทำให้รักษาการแทนรองอธิการบดีพบว่ามีความผิดปรกติและปฏิเสธที่จะเซ็น
ทั้งนี้ จากความผิดปกติดังกล่าว ทางสถาบันฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบมี ศ.ดร.โมไนย ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ จนกระทั่งวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมาได้พบเอกสารที่ทำให้สงสัยว่าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถาบันฯ จำนวน 4 บัญชีเป็นบัญชีปลอม จึงรวบรวมเอกสารทั้งหมดและนำไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม และรายงานสภาสถาบันฯ ในวันที่ 17 ธันวาคม โดยกองปราบปรามได้ขยายผลการติดตามตรวจสอบจนนำมาสู่การจับกุม นายทรงกลด และอายัดตัว น.ส.อำพร ได้ในที่สุด ซึ่งในส่วนของ น.ส.อำพร ทางสถาบันฯ จะระงับการจ่ายเงินเดือนจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบย้อนหลังทำให้ทาง สจล.พบความจริงที่น่าตกใจว่าบัญชีของ สจล.มีความผิดปกติมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2555 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 2 ปีและช่วงเวลาดังกล่าว รักษาการแทนอธิการบดี สจล.ยืนยันว่า สถาบันฯ มีการตรวจสอบบัญชีมาโดยตลอดทั้งการตรวจสอบภายในและจากภายนอกโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แต่ไม่สามารถตอบคำถามว่าเมื่อมีการตรวจสอบเหตุใดจึงไม่พบความผิดปกติ ?
ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงรายชื่อผู้มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินในอดีต 4 รายมีใครบ้าง รักษาการแทนอธิการบดีฯ ปฏิเสธว่าไม่สามารถตอบได้ แต่สามารถตอบได้ในสิ่งที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบันว่า กระบวนการเบิกจ่ายเงินต้องกระทำโดยผู้ที่มีอำนาจ 2 ส่วนคือ ฝ่ายบริหาร ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล และฝ่ายการคลัง ได้แก่ ผอ.ส่วนการคลัง และเจ้าหน้าที่คลังที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งการเบิกจ่ายเงินทุกครั้งต้องมีลายเซ็นทั้ง2 ฝ่าย ๆ ละ 1คนจึงจะสามารถเบิกเงินได้
การเปิดโต๊ะแถลงข่าวของคณะรักษาการแทนผู้บริหารสถาบันฯ คราวนี้ดูทีว่าเพื่อออกมาเบรกเสียงกระแสสังคมที่มองว่าฝ่ายบริหารไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือมีท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นการแถลงข่าวด้วยบรรยากาศแบบสงวนท่าที สงวนคำพูด เพียงแต่มาบอกเล่าความเป็นมาที่พบว่าเงินเก็บที่มีหายไปกว่าครึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการซักถามว่าเหตุการณ์ยักยอกเงินครั้งนี้อาจโยงไปถึงอดีตผู้บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้นหรือไม่ ซึ่งทางคณะรักษาการแทนผู้บริหารสถาบันฯ เลี่ยงที่จะเอ่ยถึงผู้บริหารชุดเก่าบอกเพียงว่ารวบรวมหลักฐานทุกอย่างไว้และจะมอบให้พนักงานสอบสวนหากมีการร้องขอ ส่วนจะมีรายชื่อของอดีตผู้บริหาร และข้อมูลการดำเนินการต่างๆ ในช่วงนั้นรวมอยู่ด้วยหรือไม่นั้น ไม่ขอตอบและขอให้เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนดำเนินการตรวจสอบ
เหตุผลที่มีการตั้งคำถามดังกล่าว เนื่องจากช่วงเวลาที่เกิดความผิดปกติ คือ ช่วงเดือนธันวาคม 2555 ผู้ที่มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินตามขั้นตอนและดำรงตำแหน่งอธิการบดีในช่วงเวลานั้น คือ นายถวิล พึ่งมา ที่ได้ออกโรงแจง ว่า ช่วงที่ตนเข้ารับตำแหน่ง ไม่เคยพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงิน โดยตนรับตำแหน่งอธิการบดี สจล. ในเดือนสิงหาคม 2555 และออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2556 เกษียณอายุราชการเมื่อเดือนกันยายน 2557 โดยปกติเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งอธิการบดี ทุกครั้งก็จะต้องมีการเปลี่ยนลายเซ็นผู้เบิกจ่ายมาเป็นอธิการบดีคนใหม่ และกรณีที่สถาบันฯ เปิดบัญชีหลายบัญชีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะหลังจากที่ สจล.ออกนอกระบบ โดยปกติต้องบริหารจัดการบัญชีเพื่อให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุด ดังนั้นหากธนาคารใดให้ดอกเบี้ยสูง ก็จะมีการโยกเงินไปฝากยังธนาคารดังกล่าว ซึ่งปกติก็จะมีการเปลี่ยนธนาคารทุก 3 เดือน 6 เดือน ทั้งนี้พร้อมรับการตรวจสอบและอยากให้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ สตง.ด้วย
งานนี้ นายถวิล ยังทิ้งท้ายด้วยว่า “หากพบว่ามีการยักยอกเงินจริงผมเชื่อว่าเรื่องนี้คงต้องมีการทำเป็นขบวนการใหญ่ มีผู้รู้เห็นทั้งคนใน สจล.และธนาคารที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน”
สำหรับ สจล.นั้นแม้เวลานี้ฝ่ายบริหารสถาบันฯ จะยืนยันว่าเงินจำนวนมหาศาลที่หายไปจะไม่ทำให้การบริหารงานของ สจล.สะดุด หรือส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการการเรียนการสอน และการดำเนินโครงการต่างๆ ในปัจจุบันแน่นอน เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินคงคลัง หรือเงินสะสม แต่หากจะริเริ่มทำโครงการพิเศษในอนาคตก็ยอมรับว่ามีผลกระทบแน่นอน
ในส่วนความคืบหน้าของคดีนั้น พ.ต.อ.อัครเดช พิมลศรี รรท.ผบก.ป. กล่าวว่า การตรวจสอบแคชเชียร์เช็คดังกล่าว พบว่า มีการนำเงินเข้าไปฝากในบัญชีของนายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่านายพูลศักดิ์เป็นใครและมีความเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม คดีนี้เชื่อว่าน่าจะมีผู้ร่วมขบวนการอีกหลายคน หลังจากนี้ได้ประสานไปยังทางสำนักงาน ปปง.เพื่อมาร่วมทำการตรวจสอบบัญชี รวมทั้งความเคลื่อนไหวของเส้นทางเงิน หากพยานหลักฐานไปถึงตัวผู้ใดก็จะนำตัวมาดำเนินคดีทันที
ขณะที่ พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พงส.ผนพ.กก.1 บก.ป. เปิดเผยว่า เวลานี้มีตัวละครเพิ่มมาอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 5-6 คน จากการสอบสวนนายทรงกลด พบว่ามีหน้าที่คอยทำตามคำสั่ง น.ส.อำพร เพราะเป็นเจ้าของเงินคอยสั่งให้โอนเงินเดือนทั้งหมด 1,600 กว่าล้านบาทเข้าบัญชีต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้องกลุ่มใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นใครบ้าง เกี่ยวข้องกับ น.ส.อำพร อย่างไร แต่เบื้องต้นพบว่าไม่ใช่คนในของ สจล. ซึ่งจากนี้จะเตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบเพิ่มเติมและขณะนี้ก็อยู่ระหว่างตรวจสอบลายเซ็นด้วยว่ามีใครทำหน้าที่เบิกถอนบ้าง รวมไปถึงจะมีการเรียกผู้บริหารชุดเก่ามาตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม นายทรงกลด ให้การภาคเสธยอมรับว่ารู้จักกับ น.ส.อำพร ในฐานะพนักงานธนาคารกับลูกค้ามานานร่วม 10 ปี มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในการทำธุรกรรมการเงินทุกครั้งจะเดินทางไปพบกับ น.ส.อำพร เพื่อรับเอกสารการเบิกถอน หรือโอนเงิน ที่ผ่านมาในการทำธุรกรรม น.ส.อำพรจะนำเอกสาร มีลายเซ็นการมอบอำนาจครบถ้วน ประกอบกับ น.ส.อำพรเป็นข้าราชการระดับสูง และเป็นหน่วยงานน่าเชื่อถืออย่าง สจล.ไม่คิดว่าจะเกิดการทุจริต จึงดำเนินการให้ตาม น.ส.อำพรทุกครั้งด้วยความเชื่อใจ
ส่วนตัว น.ส.อำพร ที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งด้วยโรคประจำตัวนั้นและเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดตัวไว้แล้วนั้น ปรากฏแหล่งข่าวระดับสูงแสดงความหนักใจต่อคดีนี้ ระบุว่า ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องมากนัก อีกทั้งอาการของน.ส.อำพร ต้องบอกว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งหากอยู่ในสภาพนี้ หรือทรุดหนักลงอีก ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการสอบสวนแน่นอน เพราะ น.ส.อำพร คือ กุญแจสำคัญเป็นผู้กำความลับต่างๆ ไว้ทั้งหมด ทางตำรวจกองปราบปราม จึงจัดกำลังเวรยามทั้งในและนอกเครื่องแบบดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังประสานกับคณะแพทย์ให้ดูแล น.ส.อำพร อย่างดีที่สุดเพื่อความรุดหน้าของคดี หากเป็นอะไรไปนั่นก็คือการตัดตอนทำให้การสาวไปถึงขบวนการและไอ้โม่งอยู่เบื้องหลังทำได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ ทั้งนั้น มีการคาดการณ์ด้วยว่า มีแนวโน้มสูงที่กรณีดังกล่าวจะส่งเรื่องต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งหมด เนื่องจากมีมูลค่าความเสียหายสูงอีกทั้งมีความสลับซับซ้อนคาดว่ายังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในระดับต่าง ๆ อีกจำนวนมาก คาดว่าก่อนปีใหม่น่าจะสรุปได้ชัดเจนขึ้น
สุดท้ายแล้วยังไม่แน่ชัดว่าเงินเก็บที่หายไปจากกระเป๋าของ สจล.กว่า 1.6 พันล้านบาทนี้ จะได้กลับคืนมาหรือไม่ แต่การทุจริตยักยอกเงินมูลค่ามหาศาลในสถาบันอุดมศึกษาคราวนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญให้กับผู้บริหารของสถาบันการศึกษาทุกระดับทุกแห่งหันมาย้อนมองดูเงินเก็บและมาตรการต่าง ๆ ในบ้านตัวเอง ที่วางไว้ว่ามีจุดไหนบอด จุดไหนโหว่เร่งแก้ไข สำคัญที่สุดคงต้องฝากความหวังให้ทางเจ้าหน้าที่ติดตามตัว“ไอ้โม่ง” ที่ยังแอบซ่อนตัวอยู่มาลงโทษ