xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง กม.คุมยาสูบใหม่ ส่งเสริมสุขภาพ หรือฆ่าคนทางอ้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**กลายเป็นอีกหนึ่งร่างกฎหมายที่ดูจะมีปัญหาขึ้นมา เมื่อมีผู้เห็นต่างทั้งสนับสนุน และคัดค้าน“ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการบริโภคยาสูบ”ที่กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเจ้าของเรื่อง เตรียมผลักดันให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาในไม่ช้านี้
แง่หนึ่งในฝ่ายผู้สนับสนุนที่มี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหัวหอก ก็ให้เหตุผลในความพยายามแก้ไขกฎหมาย เพื่อเสริมมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ บุหรี่ หรือยาสูบชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของการลดความสูญเสียจากโรคร้ายต่างๆ โดยเฉพาะการป้องกันเด็ก และเยาวชนที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าถึง“สารเสพติด”ประเภทนี้ได้โดยง่าย
แต่อีกแง่หนึ่งในฝั่งของผู้คัดค้าน นำโดย สมาคมยาสูบต่างๆ อย่างน้อย 9 สมาคม ก็ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้าง จากมาตรการต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ แบบยาวเป็นหางว่าว ทั้งการให้อำนาจ“รัฐมนตรี”ในการออกกฎหมายลูกต่างๆ โดยไม่ผ่าน ครม. หรือรัฐสภา รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบแบบต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยมีการประเมินตัวเลขผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ชาวไร่ยาสูบ 5.2 หมื่นครอบครัว และแรงงาน จนถึงปลายน้ำ คือ บรรดาร้านค้าปลีกกว่า 5 แสนราย ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็อยู่ในระดับ“รากหญ้า”ของประเทศ
โดยปัจจุบันทั้ง ชาวรากหญ้า ที่ว่า ก็ต้องเรียกว่าอยู่กันอย่างลำบากลำบน จากปัญหาปากท้องอยู่แล้ว เพราะเกษตรกรที่ทำไร่ยาสูบ ส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นปมปัญหาที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแก้ไม่ตก ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม หรือข้าวโพด ที่อยู่ในภาวะ“ขาลง”แบบโงหัวไม่ขึ้น
**ชาวไร่ก็เพิ่งบาดเจ็บสาหัสจากโครงการรับจำนำข้าว ส่วน“โชห่วย”ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง กฎหมายนี้จึงถูกมองว่า ออกมาซ้ำเติม“รากหญ้า”เข้าไปอีก
จึงเป็นที่มาของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ที่มีการติดป้ายต่อต้านกันอย่างแพร่หลาย บางรายเครียดหนัก เพราะเกรงว่า อาชีพปลูกยาสูบที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน จะสูญพันธุ์ในไม่ช้า หรือกระทั่งก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ก็แสดงความไม่เห็นด้วยมาแล้ว ในหลายประเด็น
เรื่องนี้ “สงกรานต์ ภักดีจิตร”นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จ.เพชรบูรณ์ ตัวแทนเกษตรกรไร่ยาสูบ ระบุว่า ยาสูบนับเป็นพืชที่สร้างรายได้ดี และมีอัตราการรับซื้อค่อนข้างสม่ำเสมอ มีราคาที่แน่นอนดีกว่าพืชชนิดอื่น อีกทั้งใบยาสูบของไทย ยังได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพจากโรงงานยาสูบ และผู้ซื้อยาสูบทั่วโลก
" ถ้าไม่ให้ปลูกยาสูบ แล้วใครจะมารับผิดชอบต่อเงินที่เราลงทุนไปทำโรงบ่ม หรือจะให้ไปปลูกพืชอะไรที่ราคาดีเท่ายาสูบ ตอนนี้รัฐบาลไม่ให้ปลูกข้าวนาปรัง ก็หันมาปลูกใบยาสูบ แต่ถ้าใบยาสูบถูกทำลายอีก ทั้งๆ ที่ระบบการปลูกดีกว่าพืชอื่นๆทั้งหมด ก็จะได้รับผลกระทบไปในที่สุด ลักษณะเหมือนกีดกันสินค้าภายในประเทศ แต่เอื้อให้สินค้าต่างประเทศ”
ประเด็นเรื่อง“กีดกันสินค้าภายในประเทศ”ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะในเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับแก้ไข มีทั้งการขยายอายุห้ามขายยาสูบให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี การห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีขายยาสูบ ห้ามขายยาสูบแบบแบ่งขายแยกมวน และยังจำกัดการสื่อสารระหว่างเกษตกร-ภาครัฐ เนื่องจากไม่ให้มีตัวแทนเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆที่เกี่ยวข้องเลย
ต่างๆเหล่านี้ดูเหมือนจะ“หวังดี”ในแง่ของสุขภาพ แต่หากมองลึกๆแล้ว“ประสงค์ร้าย”กับวงการยาสูบไทยมากกว่า
เพราะในขณะที่“บุหรี่ไทย”มีข้อจำกัดมากมาย แต่“ยาสูบ-บุหรี่นอก”จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่า จะทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดบุหรี่ของไทยได้มากขึ้น ที่สำคัญอีกไม่นานจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อีก ซึ่งจะมีการมาตรการผ่อนปรนสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก ที่น่ากลัวคือ“ช่องโหว่”ที่ทำให้“บุหรี่ปลอม-เถื่อน”ทะลักมาตามแนวชายแดนอีกด้วย
ในความเป็นจริง ได้มีการริเริ่มแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้มาเป็นระยะเวลาพอสมควร และมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับถ้อยความที่แก้ไขเข้ามาใหม่มาโดยตลอด ซึ่งจากการทำประชาพิจารณ์ เมื่อช่วงปี 2555 ได้มีการชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องในหลายจุด
**จนถึงขนาดถูกตราหน้าว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ “สุดโต่ง –ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ”
และจากผลสำรวจความเห็นของร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ระบุว่า ร้อยละ 79 เชื่อว่า ร่างกฎหมายจะส่งผลกระทบเสียหายต่อธุรกิจ ร้อยละ 92 เห็นว่า จะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ร้านค้าในการบริหารจัดการ และร้อยละ 90 เห็นว่า การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล
ดังนั้นการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ยังมีเสียงคัดค้านอย่างเซ็งแซ่ จึงดูจะมี“เงื่อนงำ”บางประการ เรื่องนี้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องชั่งใจให้ดี โดยเฉพาะเรื่องความเห็นต่าง ที่อาจจะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว”ที่ขยายความขัดแย้งไปในวงกว้างได้
**คงไม่มีใครอยากคัดค้านกฎหมายที่มุ่งในการส่งเสริมสุขภาพ แต่หากตราเป็นกฎหมายแล้ว กลับกลายเป็นการฆ่าคนทางอ้อม“ผู้มีอำนาจ”ก็ควรจะตรองให้หนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น