xs
xsm
sm
md
lg

9 สมาคมยาสูบผนึกกำลังค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบใหม่ ชี้ร่างกฎหมายสุดโต่ง กระทบอาชีพ สร้างความขัดแย้ง วอนคลัง พาณิชย์ เกษตรช่วยหยุดร่างกฎหมายก่อนบานปลาย

เผยแพร่:   โดย: วราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย


สมาคมยาสูบแถลงย้ำจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบใหม่ ร้อง คสช.และรัฐบาลพิจารณาให้ดี เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่สุดโต่ง สร้างความขัดแย้ง อีกทั้งยังกระทบอาชีพเกษตรกรชาวไร่ยาสูบและอาชีพค้าขายที่เกี่ยวข้อง เผยไม่ใช่วาระเร่งด่วน สวนทางกับนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร สหภาพยาสูบย้ำชัดพร้อมยกระดับการคัดค้าน หากเดินหน้าผ่านกฎหมาย

เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมยาสูบรวม 9 สมาคม ได้แก่ สมาคมผู้เพาะปลูก ผู้บ่ม ผู้ค้าใบยาสูบภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย-พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง) สมาคมพัฒนาชาวไร่บ่มเองจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดสุโขทัย สมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เครือข่ายชาวไร่ยาสูบภาคอีสาน สมาคมการค้ายาสูบไทย สมาคมผู้ประกอบการค้ายาสูบไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ...ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศเสนอร่างเข้าคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความบกพร่องและมีข้อโต้แย้งมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ตั้งแต่เริ่มการทำประชาพิจารณ์เมื่อปี 2555 เนื่องจากเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสุดโต่ง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ให้อำนาจรัฐมนตรีออกกฎหมายลูกโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของ ครม.หรือสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญยังส่งผลกระทบผู้เกี่ยวข้องวงกว้างในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ คือชาวไร่ยาสูบกว่า 52,000 ครอบครัวทั่วประเทศไปจนถึงปลายน้ำ คือ ร้านค้าปลีกที่ขายยาสูบกว่า 500,000 ราย ด้านสหภาพรัฐวิสาหกิจยาสูบชี้ชัดร่างไร้ความเป็นธรรม ทวงถามความรับผิดชอบ หากคนจำนวนมากตกงาน ย้ำเคลื่อนไหวมวลชนแน่ หากเดินหน้าผ่านกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบ

นายกฤษณ์ ผาทอง นายกสมาคมผู้เพาะปลูก ผู้บ่มและผู้ค้าใบยาสูบ จ.เชียงใหม่ได้กล่าวถึงผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวไร่ยาสูบและแรงงานว่า “คนกลุ่มนี้เป็นเกษตรกรกลุ่มเดียวกับที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายจำนำข้าวที่ไม่ได้ผล ขณะนี้อุตสาหกรรมใบยาสูบ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือกำลังประสบภาวะขาดสภาพคล่องเนื่องจากปัญหาใบยาล้นตลาด การขายให้ต่างประเทศมีความยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น การที่สาธารณสุขออกมาประกาศเร่งนำร่าง พ.ร.บ.ควบคุมนี้เข้าสู่วาระการพิจารณา ครม.ภายในปีนี้เป็นสิ่งที่สวนทางกับนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล ชาวไร่ยาสูบได้พยายามคัดค้านร่างฯ นี้มาโดยตลอดตั้งแต่การทำประชาพิจารณ์แล้วแต่ไม่เป็นผล”

นายสมนึก ยิ้มปิ่น ผู้จัดการและตัวแทนจากสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดสุโขทัยกล่าวเสริมว่า “สธ. ยังยืนยันผลักดันร่างฯ นี้ต่อไป ทั้งๆ ที่ชาวไร่จำนวนมากไม่เห็นด้วยเพราะกระทบต่ออาชีพรายได้ของเรา ใบยาสูบเบอร์เล่ย์ที่เราขายให้โรงงานยาสูบและส่งออกไปยังต่างประเทศยังสร้างรายได้เม็ดเงินกว่า 700-800 ล้านบาทให้จังหวัด พืชยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจของคนสุโขทัยและอีกหลายจังหวัด สุโขทัยมีชาวไร่ยาสูบกว่า 5,000 ครอบครัว ผลิตใบยาแห้งได้ 14 ล้านกิโลกรัมต่อปี มาวันนี้คนไม่กี่กลุ่มจะออกกฎหมายที่มีอคติและกีดกันพวกเรา บีบคั้นให้การขายใบยาสูบยากขึ้นไปอีก เรื่องนี้ส่งผลกระทบชาวไร่ยาสูบจำนวนมากที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรม เราจึงต้องมาแสดงพลังในวันนี้เพื่อวอนขอให้รัฐบาลและ คสช.ช่วยเหลือพวกเราชาวไร่ยาสูบด้วย”

นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นร่างกฎหมายที่สุดโต่งและก่อให้เกิดการโต้แย้งมากมาย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร้านค้าปลีกที่ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล “ขณะนี้เรามีร้านค้าปลีกที่ได้รับใบอนุญาตให้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบจากสรรพสามิตกว่า 500,000 รายทั่วประเทศ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้มากที่สุด เนื่องจากมีมาตรการบังคับร้านค้ามากมายที่สุดโต่ง ไม่มีเหตุผล ไม่คำนึงถึงสภาพการค้าขายหน้าร้านตามความเป็นจริง ทั้งมาตรการห้ามแบ่งขายแบบมวน หรือกำหนดอายุคนขาย หรือมาตรการที่จะเพิ่มภาระการบริหารจัดการร้านค้าและต้นทุน อย่างการบังคับร้านจัดทำรายงานประจำปีหรือมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบที่จะทำให้การปลอมบุหรี่เข้ามาขายในประเทศของไทยได้ง่ายขึ้น กฎหมายฉบับนี้ไปไกลเกินกว่าวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพ รัฐควรหันมาบังคับใช้กฎหมายเดิมให้เข้มงวดจริงจังมากกว่าออกกฎหมายใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่มาบีบคั้นร้านค้าและคนทำมาหากินแบบนี้”

นอกเหนือจากนี้ ผลสำรวจความเห็นของร้านค้าปลีกทั่วประเทศต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ...ที่จัดทำโดย สมาคมการค้ายาสูบไทยและนิด้าโพลได้เผยว่า ร้อยละ 79 เชื่อว่าร่างกฎหมายจะส่งผลกระทบเสียหายต่อธุรกิจ ร้อยละ 92 เห็นว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ร้านค้าในการบริหารจัดการ และร้อยละ 90 เห็นว่าการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล

นางรติรัตน์ วิโรจน์ชาติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ กล่าวเสริมว่า “จะเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ที่สาธารณสุขกำลังผลักดันไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ที่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมยาสูบ ทั้งที่อุตสาหกรรมทำรายได้เข้ารัฐปีละหลายหมื่นล้านบาท สธ.กำลังตะบี้ตะบันออกกฎหมายที่สุดโต่งนี้โดยอ้างถึงหลักการของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ทั้งๆ ที่กรอบอนุสัญญาฯ ได้กำหนดให้ภาคีสมาชิกนั้นต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของคนในประเทศด้วยก่อนจะมีการนำมาตรการใดๆ มาปรับใช้ เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคเออีซีที่การแข่งขันในทุกๆ ด้านมีแต่จะเข้มข้นขึ้น ปัญหาบุหรี่เถื่อน-ปลอมจากเพื่อนบ้านยังคงเป็นประเด็นที่หนักหน่วง หากรัฐวิสาหกิจยาสูบไม่ออกมาปกป้องคนอาชีพยาสูบ คนตกงานนับหมื่นนับแสน หน่วยงานใดจะรับผิดชอบ วันนี้สหภาพและชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศพร้อมที่จะยกระดับการต่อสู้และคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นปัญหานี้ต่อไป หากรัฐยังคงเพิกเฉยต่อเสียงของพวกเรา”

“ในขณะที่รัฐบาลกำลังมุ่งเน้นสร้างความปรองดองในชาติเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่ยั่งยืน ท่านนายกรัฐมนตรีพล.อประยุทธ์ จันทร์โอชาได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการออกกฎหมายหลายฉบับของกระทรวงสาธารณสุขที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ณ เวลานี้ ร่างกฎหมายนี้ก็จะเป็นกฎหมายที่สร้างความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง สมาคมยาสูบทั้ง 9 สมาคม จึงมีมติเห็นพ้องร่วมกันในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบพ.ศ...โดยขอให้รัฐบาลไม่รับพิจารณาร่างกฎหมายนี้และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาร่วมยับยั้งร่างกฎหมายนี้ด้วย” นางวราภรณ์กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ http://www.ttta.or.th
กำลังโหลดความคิดเห็น