xs
xsm
sm
md
lg

ประชาพิจารณ์ราคาอ้อย 900 บาท/ตัน ชาวไร่จ่อยื่นรัฐขอกู้เพิ่มอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดรับฟังความเห็นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 57/58 ที่ 900 บาทต่อตันวันนี้ ก่อนเดินหน้าเปิดหีบ ชาวไร่อ้อยเตรียมร่อนหนังสือถึง 3 รัฐมนตรีที่ดูแลขอกู้ ธ.ก.ส.เพิ่มอีกอย่างน้อยเท่าปีที่ผ่านมา 160 บาทต่อตัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า วันที่ 18 พ.ย.นี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2557/58 ที่เบื้องต้นได้คำนวณไว้ที่ 900 บาทต่อตัน โดยจะเปิดให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานได้แสดงความคิดเห็น หลังจากนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเพื่อพิจารณาเห็นชอบ

“ราคาที่คำนวณคิดราคาน้ำตาลดิบตลาดโลกเฉลี่ยประมาณ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ รวมค่าพรีเมียมแล้วก็ถือว่าพอที่จะไปได้แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำตาลดิบตลาดโลกตกต่ำเหลือเฉลี่ยเพียง 16 เซ็นต์ต่อปอนด์กว่าๆ ซึ่งก็ต้องลุ้นราคาช่วงต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวยอมรับว่าจะต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ชาวไร่อ้อยต้องการซึ่งคงอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะช่วยเหลือเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เช่นที่ผ่านมาหรือไม่ โดยฤดูกาลผลิตที่ผ่านมากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้กู้ ธ.ก.ส.เพิ่มค่าอ้อยตันละ 160 บาท จากราคาประกาศ 900 บาทต่อตัน ซึ่งคิดเป็นเงินกู้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการชำระหนี้ทยอยจ่ายเดือนละเฉลี่ย 1,300 ล้านบาทจากรายได้การขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) โดยจะใช้หนี้หมดช่วงสิ้นปี 2558 และหากประเมินที่สุดรัฐให้กู้ในอัตราเดิมคือ 160 บาทต่อตันหนี้ก็จะลากยาวไปหมดถึงกลางปี 2561

ส่วนการเปิดหีบอ้อยล่าสุดโรงงานส่วนใหญ่ต้องการเปิดวันที่ 1 ธันวาคมเพราะฝนเพิ่งมาทำให้อ้อยกำลังสะสมความหวาน แต่มีบางโรงต้องการเปิดวันที่ 25 พ.ย.นี้เพราะเกรงหีบไม่ทันฝนฤดูหน้า ซึ่งคงต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยคาดว่าปริมาณอ้อยปีนี้อาจไม่ถึง 100 ล้านตัน

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยเห็นด้วยกับราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศราคา 900 บาทต่อตัน แต่คงต้องทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐมนตรี 3 กระทรวงที่ดูแล คือ กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และเกษตรฯ เพื่อขอให้ช่วยเหลือราคาอ้อยให้คุ้มทุนกับการผลิตโดยให้รัฐสนับสนุนแหล่งเงินกู้เช่นที่เคยดำเนินการมา

“คิดว่ารัฐบาลคงไม่มีปัญหาอะไรเพราะเป็นเงินกู้ไม่ได้เป็นเงินงบประมาณอะไรต่างจากพืชอื่นทั้งข้าว.ยางพาราที่รัฐช่วยเหลือที่ล้วนแต่ใช้เงินจำนวนมาก ส่วนรัฐจะให้กู้มากน้อยเท่าไหร่ก็แล้วแต่ขอเพียงให้พอคุ้มทุนเพราะต้นทุนปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ตันละกว่า 1,200 บาท ซึ่งคิดว่าอย่างต่ำก็ควรเท่าปีที่ผ่านมาคือ 160 บาทต่อตัน” นายธีระชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น