4 กระทรวง ได้แก่ อุตสาหกรรม วิทย์ฯ สาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรฯ เร่งสรุปแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบเหมืองทองคำ ยืนยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เผยจะเร่งแก้ไขระบบน้ำก่อนเพราะมีเหตุปนเปื้อนโลหะหนัก คาดชัดเจนภายในเมษายนนี้
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับตัวแทนจาก 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามผลการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพจากผลกระทบการทำเหมืองทองคำ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้บริเวณการทำเหมือง เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนว่า ได้รับความเดือดร้อน จึงสั่งการให้ 4 กระทรวงหลัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาข้อสรุป และแนวทางแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมทั้งประชาชน และผู้ประกอบการ คาดจะมีความชัดเจนภายในเดือนเมษายนนี้ ก่อนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ การหารือของทั้ง 4 กระทรวงจะมีการเชิญรัฐมนตรีว่าการเร่งหาทางแก้ไขระบบการจัดการน้ำก่อน เนื่องจากได้ระบการร้องเรียนว่า มีผลกระทบหนักสุด เพราะประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำบาดาล และที่ผ่านมา มีการปนเปื้อนของโลหะหนักในน้ำ และผิวดินมากกว่าปกติ ซึ่งการประสานข้อมูลดังกล่าวจะมีความเกี่ยวโยงต่อการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองทองคำของบริษัท อัครา รีซร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่หมดอายุสัมปทานลงตั้งแต่ปี 2555 และใบอนุญาตโรงโลหกรรมที่จะหมดอายุในปีนี้ด้วย
“กระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานให้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ติดตามเรื่องภาคพื้นธรณี โดยศึกษา และสำรวจองค์ประกอบทางเคมีของทรัพยากรแร่ต่างๆ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ติดตามรายงานข้อเท็จจริงผลการตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดประกอบการพิจารณาแนวทางแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมทั้งประชาชน และผู้ประกอบการ” นางอรรชกา กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากได้ผลการศึกษาแล้ว ทั้ง 4 กระทรวงจะไม่มีการชี้แนะข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรีว่าควรออกนโยบายบริหารจัดการเหมืองทองคำอย่างไร แต่จะนำเสนอข้อเท็จจริงทางด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และผลที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจเท่านั้น โดยข้อสรุปจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี