xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง กม.คุมยาสูบใหม่ ส่งเสริมสุขภาพ หรือฆ่าคนทางอ้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ

กลายเป็นอีกหนึ่งร่างกฎหมายที่ดูจะมีปัญหาขึ้นมา เมื่อมีผู้เห็นต่างทั้งสนับสนุนและคัดค้าน “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการบริโภคยาสูบ” ที่กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเจ้าของเรื่องเตรียมผลักดันให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในไม่ช้าไม่เร็วนี้

แง่หนึ่งในฝ่ายผู้สนับสนุนที่มี “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” เป็นหัวหอก ก็ให้เหตุผลในความพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อเสริมมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ “บุหรี่” หรือยาสูบชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของลดความสูญเสียจากโรคร้ายต่างๆ โดยเฉพาะการป้องกันเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าถึง “สารเสพติด” ประเภทนี้ได้โดยง่าย

แต่อีกแง่หนึ่งในฝั่งของผู้คัดค้าน นำโดยสมาคมยาสูบต่างๆอย่างน้อย 9 สมาคม ก็ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้างจากมาตรการต่างๆ ที่ถูกกำหนดในไว้ในร่างกฎหมายฉบับใหม่แบบยาวเป็นหางว่าว ทั้งการให้อำนาจ “รัฐมนตรี” ในการออกกฎหมายลูกต่างๆ โดยไม่ผ่าน ครม.หรือรัฐสภา รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีการประเมินตัวเลขผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ชาวไร่ยาสูบ 5.2 หมื่นครอบครัวและแรงงาน จนถึงปลายน้ำ คือ บรรดาร้านค้าปลีกกว่า 5 แสนราย ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็อยู่ในระดับ “รากหญ้า” ของประเทศ

โดยปัจจุบันทั้ง “ชาวรากหญ้า” ที่ว่าก็ต้องเรียกว่าอย่ากันอย่างลำบากลำบนจากปัญหาปากกท้องอยู่แล้ว เพราะเกษตรกรที่ทำไร่ใบยาสูบส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นปมปัญหาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแก้ไม่ตก ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม หรือข้าวโพด ที่อยู่ในภาวะ “ขาลง” แบบโงหัวไม่ขึ้น

ชาวไร่ก็เพิ่งบาดเจ็บสาหัสจากโครงการรับจำนำข้าว ส่วน “โชห่วย” ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง กฏหมายนี้จึงถูกมองว่า ออกมาซ้ำเติม “รากหญ้า” เข้าไปอีก

จึงเป็นที่มาของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ที่มีการติดป้ายต่อต้านกันอย่างแพร่หลาย บางรายเครียดหนัก เพราะเกรงว่า อาชีพปลูกยาสูบที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนจะสูญพันธ์ในไม่ช้า

หรือกระทั่งก่อนหน้านี้ “กระทรวงการคลัง” ก็แสดงความไม่เห็นด้วยมาแล้วในหลายประเด็น

เรื่องนี้ “สงกรานต์ ภักดีจิตร” นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จ.เพชรบูรณ์ ตัวแทนเกษตรกรไร่ยาสูบระบุว่า “ยาสูบ” นับเป็นพืชที่สร้างรายได้ดีและมีอัตราการรับซื้อค่อนข้างสม่ำเสมอ มีราคาที่แน่นอนดีกว่าพืชชนิดอื่น อีกทั้งใบยาสูบของไทยยังได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพจากโรงงานยาสูบและผู้ซื้อยาสูบทั่วโลก

“ถ้าไม่ให้ปลูกยาสูบ แล้วใครจะมารับผิดชอบต่อเงินที่เราลงทุนไปทำโรงบ่ม หรือจะให้ไปปลูกพืชอะไรที่ราคาดีเท่ายาสูบ ตอนนี้รัฐบาลไม่ให้ปลูกข้าวนาปรัง ก็หันมาปลูกใบยาสูบ แต่ถ้าใบยาสูบถูกทำลายอีกทั้งๆ ที่ระบบการปลูกดีกว่าพืชอื่นๆ ทั้งหมด ก็จะได้รับผลกระทบไปในที่สุด ลักษณะเหมือนกีดกันสินค้าภายในประเทศ แต่เอื้อให้สินค้าต่างประเทศ”

ประเด็นเรื่อง “กีดกันสินค้าภายในประเทศ” ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะในเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับแก้ไข มีทั้งการขยายอายุห้ามขายยาสูบให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี การห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีขายยาสูบ ห้ามขายยาสูบแบบแบ่งขายแยกมวน และยังจำกัดการสื่อสารระหว่างเกษตกร-ภาครัฐ เนื่องจากไม่ให้มีตัวแทนเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเลย

ต่างๆเหล่านี้ดูเหมือนจะ “หวังดี” ในแง่ของสุขภาพ แต่หากมองลึกๆ แล้ว “ประสงค์ร้าย” กับวงการยาสูบไทยมากกว่า

เพราะในขณะที่ “บุหรี่ไทย” มีข้อจำกัดมากมาย แต่ “ยาสูบ-บุหรี่นอก” จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าจะทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดบุหรี่ของไทยได้มากขึ้น ที่สำคัญอีกไม่นานจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อีก ซึ่งจะมีการมาตรการผ่อนปรนสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก ที่น่ากลัวคือ “ช่องโหว่” ที่ทำให้ “บุหรี่ปลอม-เถื่อน” ทะลักมาตามแนวชายแดนอีกด้วย

ในความเป็นจริงได้มีการริเริ่มแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้มาเป็นระยะเวลาพอสมควร และมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับถ้อยความที่แก้ไขเข้ามาใหม่มาโดยตลอด ซึ่งจากการทำประชาพิจารณ์เมื่อช่วงปี 2555 ได้มีการชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องในหลายจุด

จนถึงขนาดถูกตราหน้าว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ “สุดโต่ง-ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ”

และจากผลสำรวจความเห็นของร้านค้าปลีกทั่วประเทศต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ระบุว่า ร้อยละ 79 เชื่อว่าร่างกฎหมายจะส่งผลกระทบเสียหายต่อธุรกิจ ร้อยละ 92 เห็นว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ร้านค้าในการบริหารจัดการ และร้อยละ 90 เห็นว่าการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล

ดังนั้น การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งที่ยังมีเสียงคัดค้านอย่างเซ็งแซ่จึงดูจะ “เงื่อนงำ” บางประการ เรื่องนี้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องชั่งใจให้ดี โดยเฉพาะเรื่องความเห็นต่าง ที่อาจจะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ขยายความขัดแย้งไปในวงกว้างได้

คงไม่มีใครอย่าคัดค้านกฎหมายที่มุ่งในการส่งเสริมสุขภาพ แต่หากตราเป็นกฎหมายแล้วกลับกลายเป็นการฆ่าคนทางอ้อม “ผู้มีอำนาจ” ก็ควรจะตรองให้หนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น