ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -1 ในกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ "วิกฤตไฟใต้" ที่โชนเปลวอย่างยืดเยื้อเรื้อรังมานานแสนนานมอดดับลงได้ และเวลานี้เป็นที่จับตาของสังคมอย่างจดจ่อก็คือ "กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนเปลี่ยนศักราช หรืออย่างช้าข้ามปีหน้าไปไม่กี่วันก็จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้น
อันเป็นเวทีการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งฝ่ายหลังนี้ก็คือเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ปัจจุบันมีอยู่มากมายและหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมีความเคลื่อนไหวหรือเปิดปฏิบัติการอยู่ในพื้นชายแดนใต้ โดยมีมาเลเซียรับหน้าที่เป็นคนกลางที่คอยช่วยประสานงานให้
กระบวนการพูดคุยสันติสุขมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะไปเยือนและเจรจาความเมืองกับ ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ถือโอกาสเปิดตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ขณะที่ฝ่ายมาเลเซียยังคงให้ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิม
เวลานี้การจัดโครงสร้างคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยมี 3 ระดับคือ 1) คณะกรรมการระดับอำนวยการ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ร่วมเป็นกรรมการ
นอกจากนั้นยังมีคณะที่ปรึกษาของคณะพูดคุยด้วย โดยมี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในคณะนี้ ซึ่งก่อนหน้าเคยถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยมาก่อน เพราะมีอดีตเป็นที่ปรึกษา ผบ.ทบ. เพื่อนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ มีประสบการณ์เจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) จนยอมวางปืน สร้างความสงบสุขให้กับดินแดนมาเลเซียและด้ามขวานทองของไทยเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน
2)คณะกรรมการพูดคุยสันติสุข มี พล.อ.อักษราเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทน สมช. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทน กอ.รมน. ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทน สขช. ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 4 นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมประมาณ 10 คน และ 3) คณะกรรมการประสานงานในพื้นที่ มี กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
ในส่วนของกลุ่มผู้เห็นต่างต่อรัฐไทย แม้จะยังไม่มีการประกาศออกมา แต่ฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยได้แจ้งแล้วว่า จะมีการตัวแทนจากขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเน็ต พูโล มูจาฮีดิน เบอร์ซาตู และกลุ่มอื่นๆ อีก 5-6 กลุ่มเข้าร่วม พร้อมๆ กับมีการเปลี่ยนตัวหัวขบวนจาก นายฮาซัน ตอยิบ เป็น นายอับดุลการีม กาหลิบ ประธานฝ่ายเยาวชนหรือเปอร์มูดอของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งในการพูดคุยครั้งก่อนๆ เขาไม่ร่วมนั่งบนโต๊ะพูดคุยด้วย แต่เป็นผู้มีบทบาทในการกำกับการแสดงอยู่หลังเวที
สิ่งที่ต้องจับตามองบนโต๊ะพูดคุยสันติสุขระลอกใหม่คือ มีข่าวจากวงในระบุว่า รัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกจะให้บีอาร์เอ็นฯ และกลุ่มอื่นๆ ที่มีโอกาสเข้าร่วมได้หารือกันก่อนเพื่อทำข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอใหม่ยื่นต่อคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย เนื่องจากรู้ดีว่าถ้ายังจะให้ใช้ข้อเสนอ 5 ข้อที่นายฮาซันเคยยื่นให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวตั้ง วงพูดคุยสันติสุขที่จะมีขึ้นคงจะเดินต่อไปไม่ได้
เพราะใน 5 ข้อเสนอที่นายฮาซันเคยเสนอไว้ให้รัฐไทยพิจารณานั้น มีหลายข้อและหลายประเด็นที่เกี่ยวพันกับเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" และ "สิทธิของคนมลายู" ที่กองทัพไทยไม่เคยเห็นด้วยมาโดยตลอด
หากจับกระแสความสนใจของคนไทย และโดยเฉพาะคนบนแผ่นดินปลายด้ามขวานที่คลุกอยู่กับวิกฤตการณ์ไฟใต้มานานนม เวลานี้พวกเขามีความรู้สึกอย่างไรต่อเวทีพูดคุยสันติสุขที่กำลังจะเกิดขึ้นระลอกใหม่ ปรากฏการณ์ที่เห็นอาจจะใช้คำกล่าวนี้ได้อย่างไม่ขัดเขินก็คือ...
ทำไมช่างเงียบเหงาเหมือนเป่าสากก็มิปาน?!
ทำไมไม่เหมือนกับการเปิดเวทีพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างเพื่อดับไฟใต้ระลอกก่อนในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่อยู่ภายใต้ปีกโอบของระบอบทักษิณ โดยเฉพาะการเปิดม่านให้สังคมได้เห็นโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการที่มาเลเซียครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ครั้งนั้นสร้างความฮือฮากึกก้องไปทั่วทุกสารทิศ และยังเป็นที่ติดตามของผู้คนเมื่อมีการเปิดเวทีต่อเนื่องถึง 4 หน ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคมต่างก็ให้ความคาดหวังต่อการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างในรอบแรกประมาณว่า...
เหมือนพวกเขาได้เห็นของวิเศษหล่นจากฟ้าก็ไม่ปาน ?!
สาเหตุที่เวทีพูดคุยเพื่อดับไฟใต้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากประชาชน ประเด็นหนึ่งอาจเป็นเพราะเวลานี้ประเทศชาติมีเรื่องราวที่สำคัญกว่าวิกฤตไฟใต้ที่แม้จะถูกยกเป็นวาระแห่งชาติมานานแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่เป็นข่าวครึกโครมไม่เว้นวัน และที่สำคัญรัฐบาลเองก็ให้น้ำหนักต่อข้อมูลข่าวสารในประเด็นนี้น้อยมาก
สำหรับเวทีของการพูดคุยดังกล่าวยังคงเป็นความหวังหนึ่งของแนวทางในการแก้วิกฤตไฟใต้ ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็เชื่อว่าการดับไฟใต้ไม่สามารถใช้ความรุนแรงเพื่อระงับความรุนแรง การพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันต่างหากที่ควรถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ทุกประเทศในทั่วโลกใช้กัน ดังนั้นรัฐไทยก็ควรที่จะใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับนานาประเทศที่มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนทำมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากมองวิกฤตไฟใต้ในภาพรวม เราจะเห็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องจากอดีตกาลมาจนถึงห้วงปัจจุบัน อันกล่าวได้ว่าเวลานี้ประเทศที่มีกองทัพเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ พล.อ.ประยุทธ์คือผู้เผด็จอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก็มีที่มาจากการก่อการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557
ณ เวลานี้รัฐบาลจึงเดินหน้าแก้วิกฤตไฟใต้ด้วยนโยบาย “การทหารนำการเมือง”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อรัฐบาล พล.ประยุทธ์บริหารประเทศก็ปรับรื้อโครงสร้างอำนาจรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งใหญ่ จากที่ฝ่ายพลเรือนเคยเป็นกลไกหลัก โดยเฉพาะหน่วยงานอย่าง ศอ.บต.ที่ถึงขั้นมีการออก พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2553 ขึ้นมารองรับ ทำให้เคยมีบทบาทสูงในการขับเคลื่อนพื้นที่ชายแดนใต้ในเกือบจะทุกด้าน แต่เวลานี้ชื่อของ ศอ.บต.กับเลือนรางไปแบบแทบจะไม่ได้ถูกกล่าวถึง ขณะที่อำนาจถูกถ่ายไปให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก็คือกองทัพภาคที่ 4 นั่นเอง
กระบวนการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยระลอกแรกให้ชื่อว่า “การพูดคุยสันติภาพ” เวลานี้ก็ให้เปลี่ยนเป็น “การพูดคุยสันติสุข” เพราะกองทัพมีความเห็นว่า สันติภาพเป็นเรื่องใหญ่ หรือเป็นเรื่องของคนทั้งโลก ในขณะที่ไทยต้องการเพียงให้เกิดสันติสุขที่ปลายด้ามขวานเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีคำถามกลับว่า ถ้าสันติภาพไม่เกิดขึ้นมาก่อน แผ่นดินปลายด้ามขวานจะเกิดสันติสุขได้อย่างไร
นอกจากนี้ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยเคยมอบให้หน่วยงานภาคพลเรือน “เลขาธิการ สมช.” ตอนนี้ก็ให้เป็น “ประธานที่ปรึกษากองทัพบก” ซึ่งก็เป็นไปตามวัฒนธรรมเมื่อทหารเป็นผู้ปกครองประเทศ ย่อมต้องไว้วางใจทหาร และต้องใช้ทหารด้วยกันในการทำการใหญ่ๆ เรื่องนี้ยังเป็นที่ติดใจของนายราจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียด้วย เมื่อครั้งที่ได้พบ พล.อ.ประยุทธ์ในเวทีประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ที่อิตาลี ยังเคยเอ่ยถามแบบตรงๆ ว่าหัวหน้าคณะพูดคุยของไทยเป็นทหารใช่ไหม
ยิ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ จะนำคณะเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ มีรายงานว่าได้ส่งทีมไปปฏิบัติการเจรจากับแกนนำขบวนการต่างๆ ทั้งที่เคลื่อนไหวอยู่ในชายแดนใต้และในมาเลเซีย ไม่เว้นแม้บุคคลสำคัญที่ทางการไทยต้องการตัวและตั้งค่าหัวไว้หลายล้านบาทคือ นายสะแปอิง บาซอ และ นายมะแซ อุเซ็ง 2 แกนนำระดับสูงของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่ไปพูดคุยกันที่อินโดนีเซีย
ความจริงแล้วฝ่ายทหารไม่ปลื้มกับเวทีพูดคุยแบบโจ่งแจ้งที่เกิดขึ้นในระลอกแรกอยู่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าการพูดคุยเจรจาควรจะทำอย่างเงียบๆ จนเป็นที่ตกลงแล้วจึงค่อยประกาศให้สังคมรับทราบ แต่ความที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการสร้างภาพให้กับรัฐบาลน้องสาว จึงผลักดันให้เกิดการตั้งโต๊ะพูดคุยสันติภาพอย่างเอิกเกริก แต่อย่างไรก็ตาม เวทีพูดคุยสันติสุขที่กำลังจะเกิดระลอกที่สองนี้ ยังต้องนับว่าเป็นการเดินตามแนวทางที่ถูกวางไว้ในระลอกแรกนั่นเอง
เมื่อมองวิกฤตไฟใต้ในภาพรวมจะพบว่า เวลานี้ที่รัฐบาลใช้นโยบาย "การทหารนำการเมือง" ถือเป็นการหวนกลับไปใช้วิธีแก้ปัญหาเหมือนในอดีตกาลนานมาแล้ว ซึ่งย้อนไปหนหลังสุดที่ใช้วิธีการแบบนี้ก็เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้วในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2524 มอบอำนาจให้ทหารในการจัดการไฟใต้ พร้อมๆ กับให้กำเนิด ศอ.บต.และกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43)
แล้วพัฒนาการของการแก้วิกฤตไฟใต้ก็ถูกขับเคลื่อนต่อเนื่องในรัฐบาลต่อๆมา พร้อมกับมีพัฒนาการที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาว่า มีการปรับเปลี่ยนนโยบายกลับมาใช้ "การเมืองนำการทหาร" โดยอำนาจจากกองทัพภาคที่ 4 ถูกถ่ายโอนให้กับหน่วยงานพลเรือนอย่าง ศอ.บต.เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาทุกด้าน ยกเว้นการไล่ล่ากลุ่มผู้ไม่หวังดียังอยู่ที่ฝ่ายทหาร ซึ่งก็เป็นผลให้สถานการณ์ไฟใต้คลี่คลายลงเป็นลำดับ
ความเชื่อที่ว่า การใช้ความรุนแรง เพื่อไปสยบความรุนแรงนั้น ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ถูกต้องของวิกฤตไฟใต้ กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้นระลอกใหม่ภายใต้อุ้งมือของทหารหาญ เช่นเดียวกับการเดินหน้าดับไฟใต้ของรัฐบาล พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้เวลานี้สังคมจะไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยในอีกไม่นานนักก็จะได้เห็นกันว่า...
สังคมไทยในยุค "ทหารนำการเมือง" เพื่อเดินหน้าดับไฟใต้นั้น จะเป็นการถอยหลังสู่เพื่อให้เกิดสันติสุข หรือถอยหลังลงคลองกันแน่..??!!