คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
“การพูดคุยสันติสุข” รอบใหม่ระหว่างรัฐบาลไทย ซึ่งมี พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบกเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งยังคงเป็นขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เป็นผู้นำขบวน กำลังจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในกางเดือนธันวาคม หรือก่อนจะถึงสิ้นปีเก่านี้แน่นอน
เป็นอันตกลงกันแล้วว่า รัฐบาลไทยยังจะมอบหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยในครั้งที่สองให้แก่รัฐบาลมาเลเซีย โดยมี “ดาโต๊ะซำซามีน” อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติของมาเลเซียทำหน้าที่นี้ เหมือนเมื่อครั้งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะในการพูดคุย
เพียงแต่ครั้งนี้หัวหน้าคณะพูดคุยของไทยเราเปลี่ยนจาก “เลขาธิการ สมช.” มาเป็น “ประธานที่ปรึกษากองทัพบก” ซึ่งเป็นไปตามวัฒนธรรม เมื่อทหารเป็นผู้ปกครองประเทศย่อมต้องไว้วางใจทหาร และต้องใช้ทหารด้วยกันในการทำเรื่องใหญ่ๆ ระดับการ “ดับไฟใต้”
ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการพูดคุยเมื่อครั้งแรกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยคือ ในครั้งแรกให้ชื่อว่า “การพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ก็เปลี่ยนมาเป็น “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” เพราะกองทัพมีความเห็นว่า “สันติภาพ” เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของคนทั้งโลก ในขณะที่ไทยต้องการเพียงให้เกิด “สันติสุข” ที่ปลายด้ามขวานเท่านั้น
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ที่ต้องจับตามองคือ ฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยได้มีการเปลี่ยนตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จาก “ฮาซัน ตอยิบ” มาเป็น “อับดุลการีม กาหลิบ” ซึ่งเป็นประธานฝ่ายเยาวชน หรือเปอร์มูดอ ซึ่งในการพูดคุยครั้งก่อนเขาไม่มีโอกาสในการพูดคุยบนโต๊ะ แต่เป็นผู้มีบทบาทในการกำกับการแสดงหลังเวที
สิ่งที่ต้องจับตามองที่สำคัญอีกประเด็นคือ ในการเปิดเวทีเปิดพื้นที่พูดคุยครั้งนี้ มีข่าวจากวงในว่า ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยคือ รัฐบาลมาเลเซีย จะให้ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ และขบวนการอื่นๆ ที่มีโอกาสเข้าร่วมเวทีได้หารือกัน และให้มีการยื่นข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอใหม่ต่อคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย เพราะรู้ดีว่า ถ้ายังมีการใช้ข้อเสนอ 5 ข้อที่ นายฮาซัน ตอยิบ เคยยื่นให้แก่ตัวแทนรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมาใช้ในเวทีการพูดคุย คงจะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการพูดคุยได้อย่างราบรื่น
เพราะใน 5 ข้อเสนอที่เสนอโดย นายฮาซัน ตอยิบ มีหลายข้อ หลายประเด็นที่เกี่ยวพันกับเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” และเรื่อง “สิทธิของคนมลายู” ที่กองทัพไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยในครั้งนั้นมาโดยตลอด
ดังนั้น ถึงแม้ว่าการพูดคุยครั้งนี้จะเป็นการสานต่อภารกิจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เคยนำร่องเอาไว้ แต่เนื้อหาในการพูดคุยจะเป็นการ “จำกัดวง” ที่แตกต่างกับภารกิจการพูดคุยในครั้งแรก อย่างแน่นอน
ส่วนการพูดคุยในครั้งนี้ที่ผู้รับผิดชอบคือ กองทัพ จะเป็นความ “จริงใจ” หรือการ “สร้างภาพ” บนเวทีโลกหรือไม่นั้น จากการติอตามความเคลื่อนไหวของวงในพบว่า กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีความจริงจังต่อการเปิดเวทีพูดคุยครั้งนี้พอสมควร
อย่างก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะเดินทางไปสันถวไมตรีกับ นายราจิบ นาซัก นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย เพื่อตกลงในเรื่องการพูดคุย โดยให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกเหมือนกับที่เคยได้รับหน้าที่อันนี้ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น
“หน่วยล่วงหน้า” ที่มีความสำคัญในการทำงานลับๆ ในการพบปะเจรจากับแกนนำขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็นฯ หรือพูโล และกลุ่มย่อยๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในต่างประเทศได้เดินทางไปจับเข่าเพื่อพูดคุยกับ “สะแปอิง บาซอ” อดีตผู้บริหารโรงเรียนธรรมวิทยา และ “มะแซ อุเซ็ง” 2 แกนนำระดับสูงของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่ประเทศอินโดนีเซีย
และมีรายงานจากจากคณะผู้เดินทางไปพบกับ 2 แกนนำบีอาร์เอ็นฯ ดังกล่าวรายงานสู่ผู้นำรัฐบาลว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปใน “ทางบวก” ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่มีรายงานจริง แสดงให้เห็นว่ากองทัพมีความตั้งใจ มีวิธีการที่รอบคอบ และหวังผลของความสำเร็จในการดับไฟใต้บนเวทีของการพูดคุยครั้งนี้อย่างแท้จริง
ที่สำคัญสิ่งที่น่าจะให้ภาพเชิงบวกคือ การที่ พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก หัวหน้าคณะการพูดคุยได้เปิดเผยว่า คณะทำงานที่จะไปพูดคุยกับตัวแทนของขบวนการในชายแดนใต้ และกลุ่มต่างๆ จะมีคนเก่า หรือคนเดิมที่เคยทำหน้าที่เป็นคณะทำงานการพูดคุยสมัยที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช.เป็นหัวหน้าคณะรวมอยู่ด้วย
หากเป็นจริงจะเป็นส่วนดี และเป็นความก้าวหน้าของการพูดคุยในครั้งนี้ เพราะคนเก่าที่เคยทำหน้าที่พูดคุยในครั้งก่อนจะมีข้อมูล มีความเข้าใจ มีความเป็นกันเองกับคณะผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย รวมถึงตัวแทนของขบวนการต่างๆ
ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงประเด็นการพูดคุยในหัวข้อที่ไม่อยู่ใน 5 ข้อเดิม แต่ขบวนการ และกลุ่มก้อนของผู้เข้าร่วมพูดคุยนั้นก็ยังเป็นขบวนการ หรือกลุ่มเดิมๆ เช่น บีอาร์เอ็นฯ พูโล มูจาฮีดิน เบอร์ซาตู และอื่นๆ ใน 5-6 กลุ่มในั่นเอง
ดังนั้น เมื่อในคณะพูดครั้งใหม่คุยมีคนที่เคยทำหน้าที่พูดคุยครั้งเก่ามาแล้วอยู่ในคณะด้วย จึงเห็นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง อันจะทำให้เห็นว่ากองทัพไม่แยกเขา แยกเราในการแก้ปัญหาของประเทศ
เห็นด้วยกับ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่แยกการพูดคุยในเวทีนอกประเทศ ออกจากการพูดคุย และการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ โดยการแก้ปัญหาในพื้นที่จะต้องเปิดแนวรุกที่เข้มข้น ทั้งในการป้องกัน ปราบปราม รักษาความสงบและการพัฒนา โดยไม่ต้องไปรอ หรือหวังผลจากการพูดคุยกับขบวนการต่างๆ ที่ประเทศมาเลเซีย เพราะจะสำเร็จ หรือล้มเหลวก็ยังไม่รู้
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งอาจจะทำให้มาเลเซียมีบทบาทในด้าน “บวก” ต่อการพูดคุยที่มาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกคือ ขณะนี้มาเลเซียมีความวิตกกังวลต่อกองกำลัง “รัฐอิสลาม” หรือ “นักรบไอเอส” ในประเทศซีเรีย แลอิรัก เพราะมีคนของประเทศมาเลเซียเข้าร่วมรบกับไอเอสแล้ว 41 คน และเสียชีวิตแล้ว 5 คน รวมถึงรัฐบาลมาเลเซียจับได้อีก 17 คน ส่วนที่ยังไม่มีตัวเลขอีกเท่าไหร่ยังไม่รู้
ซึ่งกำลังไอเอสเป็นภัยต่อความมั่นคงของมาเลเซีย เช่นเดียวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ที่เป็นปัญหาความมั่นคงต่อรัฐไทย ประเด็นนี้อาจจะทำให้มาเลเซียต้องการที่จะยุติบทบาทที่เคยให้หลังพิงต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของรัฐไทยก็เป็นไปได้สูง
ประการถัดมาคือ ปีนี้มาเลเซียเป็นประธานกลุ่มอาเซียน ซึ่งมาเลเซียต้องการมีบทบาทในการเป็นผู้สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพื่อการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่แท้จริง ซึ่งหาก มาเลเซียทำสำเร็จ ภาพของมาเลเซียก็จะโดดเด่นในสายตาของทั่วโลก
แต่อย่างไรก็ตาม จากการจับกระแสความรู้สึกของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ผู้คนในพื้นที่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อการพูดคุยสันติสุขในรอบที่ทหารเป็นผู้ดำเนินการครั้งนี้เท่าที่ควร ไม่เหมือนกับการพูดคุยสันติภาพในรอบแรกที่ให้ความสนใจแบบชนิดฮือฮาเลยทีเดียว
แถมผู้คนในทุกภาคส่วนทั้งประเทศก็ให้ความคาดหวังต่อการพูดคุยในครั้งนั้น ประมาณว่าเหมือนกับเห็นของวิเศษหล่นจากฟ้าก็ไม่ปาน
เช่นเดียวกับกระแสของขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งในครั้งนั้นจะมีการทั้งตอบรับ และตอบโต้ รวมทั้งแบะท่าที่จะเข้าร่วมในเวทีการพูดคุยเหมือนกับกลัวว่าจะตกขบวนรถไฟสันติภาพ ทั้งยังมีการออกใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือเพื่อเป็นการหยั่งท่าทีต่อรัฐไทย มีทั้งการปฏิเสธ และการแสดงความพร้อมที่จะเป็นพันธมิตร
แต่สำหรับการพูดคุยครั้งนี้ ขบวนการและกลุ่มผู้เห็นต่างกลับอยู่ในลักษณะที่เงียบเหมือนเป่าสากก็มิปาน
แต่อย่างไรก็ตาม เวทีของการพูดคุยคือความหวังหนึ่งของแนวทางในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อว่าไฟใต้ไม่สามารถใช้ความรุนแรงเพื่อระงับความรุนแรง และเวทีการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ ถือเป็นเวทีที่เป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ประเทศในทั่วโลกใช้กัน ซึ่งรัฐไทยก็ควรที่จะใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับนานาประเทศที่มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนทำมาแล้ว
สุดท้ายนี้ในภาวะที่ประเทศไทยมีองค์ “รัฏฐาปิปัตย์” ที่มีอำนาจการชี้เป็นชี้ตายอยู่ภายในอุ้งมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมเป็นโอกาสที่ดีในการพูดคุย เพราะเป็นรัฐบาลที่สามารถตัดสินใจเองได้อย่างเด็ดขาด ผิดกับรัฐบาลพลเรือนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อกองทัพไม่เห็นด้วย หรือไม่เอาด้วย ถึงจะมีการพูดคุยอย่างไรก็ป่วยการ
ดังนั้น ถ้าการพูดคุยครั้งต่อไปไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยมีองค์รัฏฐาธิปัตย์เป็นกองทัพ ซึ่งหากยังไม่สามารถดับไฟใต้ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการพูดคุยนอกประเทศ หรือการใช้กำลังเจ้าจัดการในพื้นที่ จึงเชื่อได้ว่าต่อไปไฟใต้ยังจะเป็นเรื่องของ “ทศนิยมที่ไม่รู้จบ” แน่นอน