xs
xsm
sm
md
lg

ต้องสร้างระบบวัฒนธรรมผู้นำและการนำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สังคมไทยมีความอ่อนแอเชิงโครงสร้างวัฒนธรรมและกฎหมายสำหรับการกำหนดพฤติกรรมของผู้คน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความอ่อนแอนี้เกิดขึ้นคือการมีแบบอย่างที่ดีไม่เพียงพอจนมิอาจก่อเป็นพลังสร้างสรรค์ ค้ำยัน และพัฒนาโครงสร้างวัฒนธรรมให้เข้มแข็งได้

กลุ่มที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้คนในสังคมคือกลุ่มชนชั้นนำหัวกระทิของกลุ่มองค์การและสถาบันต่างๆในสังคมทุกระดับทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แต่สังคมไทยมีกลุ่มผู้นำในลักษณะนี้น้อยเกินไป

ไม่ใช่ว่าเราไม่มีผู้นำที่โดดเด่นในสาขาอาชีพต่างๆ เรามีเป็นบางช่วงบางเวลา แต่ทว่าผู้นำที่โดดเด่นเหล่านั้นมักจะโดดเดี่ยวหรือเป็นผู้นำเดี่ยว เป็นเสมือนพลุที่ถูกจุดส่องสว่างชั่วครู่ชั่วยาม และจางหายไปในที่สุด จากนั้นความมืดมิดก็แผ่ปกคลุม ผู้คนก็เฝ้ารอโชคชะตาหรือร้องเรียกหาผู้นำแบบนี้ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง เหมือนรออัศวินม้าขาว

พฤติกรรมและผลงานของผู้นำมักได้รับการเล่าขานอย่างยกย่องชื่นชมดุจตำนานที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เป็นดั่งแบบอย่างในอุดมคติอันสูงส่ง จนยากที่ผู้คนธรรมดาสามัญจะกระทำเลียนแบบได้ เราจึงมักยกย่องบูชาผู้นำมากกว่าที่จะนำความคิดแบบแผนการปฏิบัติของบุคคลเหล่านั้นมาเป็นแบบอย่างการกระทำของตนเองในชีวิตประจำวัน

สังคมไทยอาจยังไม่ได้คิดอย่างจริงจังในการสร้างและพัฒนาระบบวัฒนธรรมผู้นำ ภาวะผู้นำและการนำแบบเป็นกลุ่ม เราจึงมีผู้นำแบบปัจเจกชนเดี่ยวๆซึ่งผ่านมาและผ่านไปหลายคนแล้ว แต่ก็ไร้พลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน และพฤติกรรมของผู้คนในสังคม

หากเรายังไม่ตระหนักถึงประเด็นนี้ แม้ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองสักกี่ครั้ง เปลี่ยนวิธีเลือกนายกรัฐมนตรีกี่แบบ เปลี่ยนระบบเลือกตั้งอีกสิบครั้งร้อยครั้ง เราก็จะตกอยู่ในวังวนของปัญหาแบบเดิมเหมือนหนูติดจั่น วิ่งวนไปวนมา เมื่อมีปัญหาก็ลองวิธีใหม่ ใช้วิธีใหม่ก็มีปัญหาอีก จากนั้นหวนกลับมาใช้วิธีการเดิม หมุนเวียนไปเรื่อยดุจอยู่ในเขาวงกตและวังวนของปัญหานั้น

ระบบวัฒนธรรมผู้นำเริ่มต้นจากการสร้างแบบแผนความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และวิถีปฏิบัติที่เราประสงค์ให้เป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาสำหรับตัวเราและคนรอบข้างใกล้ตัว เมื่อเราได้กระทำการจนหนักแน่นเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนทั่วไปแล้ว เราก็คิดหาแนวทางและวิธีการในการถ่ายทอดแบบแผนเหล่านั้นแก่ผู้อื่น พร้อมกันนั้นก็สร้างระบบและมาตรการในการดำรงรักษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ระบบวัฒนธรรมใหม่อาจเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีอยู่แล้วโดยนำมาตีความและให้ความหมายเสียใหม่เพื่อให้มีพลังมากขึ้น หรืออาจเป็นแบบแผนใหม่ๆที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตก็ได้

แต่จุดสำคัญคือการวางรากฐานและการปฏิบัติการของระบบวัฒนธรรมใหม่จะต้องเริ่มต้นจากกลุ่มผู้นำขององค์กรและชุมชนต่างๆ ยิ่งจำนวนมากเท่าไรก็ยิ่งสร้างพลังในการขับเคลื่อนมากขึ้นเท่านั้น แต่หากมีจำนวนน้อย ไม่นานก็จะถูกกลืนหายตกเข้าไปในกระแสของวัฒนธรรมแบบเก่าๆ หรืออาจได้รับการต่อต้านจนไม่อาจขับเคลื่อนได้

ตัวอย่างเรื่องค่านิยม 12 ประการที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในเวลานี้ ผมคิดว่ามีแนวทาง ขั้นตอนและวิธีการที่ไม่ถูกต้องและยากที่จะทำให้เกิดผลอันใดที่เป็นชิ้นเป็นอันได้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเป็นบทอาขยานให้เด็กท่อง การสร้างเป็นบทละครสั้น หรือ การทำเป็นสติ๊กเกอร์ในไลน์ก็ตาม

สิ่งแรกที่ควรทบทวนคือคณะรัฐมนตรี คสช. สนช. และสภาปฏิรูปอันเป็นกลุ่มชนชั้นนำของสังคมในยามนี้มีความคิดเกี่ยวกับความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์กระจ่างและตรงกันหรือยัง หรือว่ายังตีและความเข้าใจไปคนละทางกัน หากความคิดตรงกันแล้วบรรดาท่านเหล่านั้นมีความเชื่ออย่างไรกับความรักชาติ และมีบรรทัดฐานแห่งการปฏิบัติอย่างไรที่บ่งบอกว่าพวกท่านรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ท่านจะสร้างตัวชี้วัดอะไรที่บ่งบอกถึงความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ท่านลองไปทำการบ้านในกลุ่มของท่านก่อนจะดีไหม จากนั้นก็ออกมาพูดหรือประกาศให้สาธารณะทราบ เพื่อประชาชนเข้าใจว่าความรักชาติที่ว่านี้คืออะไร ทำแล้วเกิดผลดีอย่างไร จากนั้นท่านก็ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างให้พร้อมเพรียงกัน และขยายแบบอย่างที่ท่านกระทำไปสู่บรรดาหัวหน้าส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายให้ยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน

หรืออย่างเรื่องความซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม ขอให้ท่านนิยามในเชิงปฏิบัติให้ชัดว่าสิ่งที่ท่านประกาศออกมานี้หมายถึงอะไร ท่านและกลุ่มของท่านได้กระทำแล้วหรือยัง มีมาตรการเชิงรูปธรรมอะไรบ้างที่จะทำให้สาธารณะเชื่อว่าท่านซื่อสัตย์และเสียสละเพื่อส่วนรวมจริง ต้องทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ครับจึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ต้องการได้

การบอกให้คนอื่นทำโน่นทำนี่ในสิ่งที่ดีแต่เป็นนามธรรมนั้นเป็นเรื่องง่าย ใครๆก็ทำได้ แต่บ้านเรามีคนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำที่สอนหรือบอกผู้อื่นอย่างหนึ่ง แต่ตนเองและลูกหลานกลับทำอีกอย่างหนึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองสอน เช่นสอนให้คนไทยคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง แต่ผู้สอนและคนใกล้ชิดกลับมีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่สอนเลย แล้วอย่างนี้ใครจะไปปฏิบัติตามคำสอนเล่า เพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่กระทำตามพฤติกรรมที่ผู้นำทำ มากกว่าจะทำตามคำพูดที่เปล่งออกมา

ยิ่งกว่านั้นบางคนก็เป็นประเภทมือสากปากถือศีล บอกให้คนอื่นซื่อสัตย์ อย่าทุจริต อย่าละเมิดกฎหมาย แต่ตนเองและลูกน้องกลับร่วมมือกันกระทำสิ่งผิดกฎหมายทุกอย่างทั้งค้าของเถื่อน คุมบ่อน รีดไถ ร่วมสร้างความรุนแรง สั่งลูกน้องไปลอบสังหารคนที่ไม่ชอบ อุ้มฆ่า ก่ออาชญากรรมสารพัดราวกับบ้านเมืองไร้กฎหมาย

บางคนก็ดีแต่พูดแบบน้ำท่วมทุ่ง ท่าดีทีเหลว แรกๆก็ทำเท่าเอาจริงเอาจัง จะทำงานแก้ปัญหาสารพัดอย่าง จะจัดระเบียบบ้านเมืองให้เรียบร้อย สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ครั้นทำไปได้นิดหน่อยพอเจอตอ ก็งอหงายกลับมา อย่างนี้จะบอกคนอื่นว่าเสียสละอดทนเพื่ออุดมการณ์อันสูงส่งต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างไร จะเข้าประเภทขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปเป็นบ้องกัญชาเสียมากกว่า

ผมว่าบรรดากลุ่มผู้นำทางสังคมและการเมืองทั้งหลายควรหันมาวิเคราะห์ตนเองอย่างจริงจัง ยอมรับจุดอ่อนและข้อเสียในอดีตของตนเอง เอาง่ายๆนำค่านิยม 12 ประการนั่นแหละเป็นกรอบการวิเคราะห์ ดูว่าตนเองยังขาดตกบกพร่องข้อใด แล้วลองตั้งใจแก้ไข เริ่มต้นใหม่ จากนั้นควรทำกันเป็นกลุ่มเป็นเรื่องเป็นราวดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น

กลุ่มผู้นำต้องเปลี่ยนแปลงระบบวัฒนธรรมและบรรทัดฐานเชิงพฤติกรรมของตนเองเสียก่อนครับ จากนั้นใช้ภาวะการนำโดยลงมือปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ผู้คน เพื่อให้พลังร่วมของการกระทำนี้ส่งผลสืบเนื่องจนมีก่อเกิดเป็นอำนาจแห่งการโน้มน้าวเหนี่ยวนำให้ผู้คนได้ปฏิบัติตาม นั่นแหละครับจึงเป็นหนทางปฏิรูปที่ถูกต้อง และจะได้ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อกันอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น