xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯประชุมสธ.อาเซียน+3 รับมือสถานการณ์โรคอีโบลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15 ธ.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม เรื่อง "การเตรียมความพร้อมและการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา" โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม เข้าร่วม ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ( WHO) ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุข โภชนาการและประชากร จากธนาคารโลก รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ WHO ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) รวมกว่า 100 คน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความพร้อมประเทศอาเซียนในการรับมือกับอีโบลา รวมทั้งสนับสนุนนานาชาติในการช่วยเหลือปัญหาในแหล่งพื้นที่ระบาด

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลานั้น จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.57 พบผู้ป่วย 17,942 คน เสียชีวิต 6,388 คน โดยจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตยังคงอยู่ใน 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตก แบ่งเป็นประเทศเซียร์ราลีโอน พบผู้ป่วยมากสุด 7,897 คน เสียชีวิต 1,768 คน ไลบีเรีย 7,719 คน เสียชีวิต 3,177 คน กินี ป่วย 2,292 คน เสียชีวิต 1,428 คน โดยประเทศเซียร์ราลีโอน ยังน่าห่วงมากที่สุดผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นอยู่มาก ขณะที่กินีเพิ่มขึ้นช้าๆ ส่วนไลบีเรียมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมมีใจความ ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกยังน่าเป็นห่วงมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน และผู้ติดเชื้อขยายตัวเพิ่มมาก ที่สำคัญยังไม่สามารถหาวิธีการป้องกัน ยับยั้ง หรือรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ภูมิภาคอาเซียนจะอยู่ห่างไกล แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะทุกภูมิภาคทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้น จะมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดไปยังที่อื่นๆ ในภูมิภาคอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้ท้าทายแค่งานด้านสาธารณสุข แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย อย่างการแพร่ระบาดของโรคซาร์ และไข้หวัดนกในอดีตพบว่า ความหวาดกลัวจากความไม่รู้ส่งผลกระทบได้มากกว่าโรคระบาด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก จนการไปมาหาสู่และค้าขายหยุดชะงัก ผู้นำประเทศที่เกี่ยวข้องได้รวมตัวกันกำหนดมาตรการต่างๆ จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญในการร่วมมือกันแก้ปัญหาเช่นกัน

รัฐบาลไทยตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ โดยเฉพาะโรคอีโบลา มีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค มีการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ห้องปฏิบัติการ ห้องแยกโรคและมาตรการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ควบคู่กับการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน ด้วยข้อมูลที่เป็นจริง รวมทั้งการเฝ้าระวังทางด่านท่าอากาศยาน และทางน้ำ รวมถึงติดตามผู้สงสัยจากประเทศระบาด การร่วมมือของทุกประเทศในภูมิภาคในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนในภูมิภาคมั่นใจ โดยหลักสำคัญในการรับมือคือ “ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนก” โดยสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน สร้างศักยภาพ ทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้า มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร กลไกการรับมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยับยั้งและรับมือกับโรคอีโบลาอย่างเข้มแข็ง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ส่งกำลังใจไปยังบุคลากรด้านสาธารณสุขนานาชาติ ที่ได้อุทิศตน เสียสละ และกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรค รวมถึงชื่นชมความพยายามของนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ระดมกำลังให้ความช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคอีโบลาสะท้อนถึงความอ่อนแอของโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขในประเทศที่ได้รับผลกระทบ จนนานาประเทศจะต้องเพิ่มการลงทุนช่วยเหลือ ทั้งนี้ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยป้องกัน ตรวจสอบ และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่แรกๆ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานภายในชุมชนได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียม โดยประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยอาศัยเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาเซียนบวกสาม

"การระบาดของอีโบลาเป็นทั้งบททดสอบและบทเรียน สำหรับนานาประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามนี้ จะช่วยสนับสนุนความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่ในกรอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือภายใต้การนำของสหประชาชาติ ความร่วมมือไตรภาคีระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และความร่วมมือในกรอบ Global Health Security Agenda ของสหรัฐฯ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่เคยลงพื้นที่ทำงานรับมืออีโบลาในประเทศแอฟริกา กล่าวว่า จากการลงไปทำงานในประเทศเซียร์ราลีโอน เพื่อพูดคุยและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในหลายชุมชน จนถึงขณะนี้ชาวเซียร์ราลีโอน ยังเชื่อว่าไวรัสอีโบลาไม่มีจริง ประกอบกับระบบสาธารณสุขไม่ค่อยดี ไม่มีระบบการคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน และเกิดสงครามการเมือง ทำให้การระบาดยังน่าเป็นห่วง แม้จะมีองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือการพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อการควบคุม ป้องกันโรคอีโบลา ซึ่งคาดว่าหากสามารถจัดการระบบคัดแยกผู้ป่วย พร้อมพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดีกว่านี้ การระบาดน่าจะคลี่คลายภายใน 3 เดือน และอาจจะไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ ตรงนี้ก็ถือเป็นความท้าทาย ส่วนที่คนมองว่าเป็นความล้มเหลวในการป้อกันควบคุมโรคของ WHO นั้น จริงๆ แล้ว การระบาดครั้งนี้กินพื้นที่กว้างขวาง จากเดิมที่พบการระบาดในพื้นที่ชนบทเท่านั้น แต่ครั้งนี้พบในพื้นที่เมือง เพราะคนจากชนบทเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองทำให้การควบคุมทำได้ยาก ต้องใช้เวลา ซึ่งขณะนี้ WHO ได้ให้แต่ละประเทศออกมาตรการควบคุมโรคของตัวเอง และยังได้ตัดการเดินทางเข้ามาในพื้นที่เสี่ยงแล้ว พยายามทำทุกอย่างเพื่อควบคุมการระบาดของโรคอยู่

**อาเซียนออกประกาศร่วมสกัด "อีโบลา"

วานนี้ (15 ธ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวผลการประชุมสมัยพิเศษ รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม เพื่อเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า ธนาคารโลกได้ประเมินผลกระทบจากโรคอีโบลาว่า หากเชื้อไวรัสยังคงระบาดนักในพื้นที่ 3 ระเทศแอฟริกาตะวันตก และแพร่ระบาดไปสู่ประเทศข้างเคียง จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาในช่วงปลายปี 2558 พุ่งสูงถึง 32,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 978,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันยุติ เพื่อลดการสูญเสีย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ในที่ประชุมว่า ความสำเร็จในการควบคุมโรคอีโบลามี 4 มาตรการคือ การเตรียมความพร้อมการรับมือที่ดี มาตรการ้องกันที่มีประสิทธิภาพ นโยบายที่เข้มแข็งของรัฐบาล และความร่วมมือของชุมชน ดังเช่นประเทศไนจีเรีย และเซเนกัล ที่สามารถควบคุมโรคได้ผล

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับผลการประชุมได้มีคำประกาศร่วมการป้องกันโรคอีโบลาใน 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ เช่น เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ฝึกซ้อมแผนรับมือหากพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น ระดับภูมิภาค เช่น เพิ่มความร่วมมือการป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อข้ามพรมแดน โดยแลกเปลี่ยนข้อมูล ฝึกอบรมบุคลากร จัดช่องทางสื่อสารเตือนภัยล่วงหน้า ร่วมมือการศึกษาวิจัย เป็นต้น และ ระดับโลก โดยให้ความสนับสนุนร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ ระดมความช่วยเหลือ ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เป็นต้น ซึ่งสรุปแล้วจะแบ่งงานออกเป็น 3 ด้าน คือ 1. สร้างเสริมความเข้มแข็งของประเทศและภูมิภาคในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคอีโบลา 2. เร่งความร่วมมือระดับภูมิภาคป้องกันโรคติดเชื้ออบุติใหม่ในอนาคต และ 3. ระดมความช่วยเหลือการควบคุมการระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกา รวมทั้งจัดทำแผนกรอบยุทธศาสตร์เพื่อแปลงเป็นโครงการต่างๆนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผลการประชุมเป็นจริง

"ขณะนี้การส่งความช่วยเหลือไปประเทศแอฟริกาตะวันตกมีประเทศจีน ญี่ปุ่น ที่ส่งเงิน อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยเหลือ โดยประเทศเกาหลีใต้เตรียมที่จะส่งความช่วยเหลือไปในเร็วๆ นี้ ส่วนการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือในภูมิภาคอาเซียน แต่ละประเทศก็มีการเตรียมตัวมาสักระยะหนึ่ง ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องกลับไปพิจารณาดูว่าแต่ละประเทศมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในด้านใด ทั้งเงิน บุคลากรทางการแพทย์ เพราะแต่ละประเทศมีความพร้อมที่แตกต่างกัน ส่วนประเทศไทยคงต้องดูนโยบายของรัฐบาลด้วย แต่คงยังไม่มีการส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปในพื้นที่ระบาด อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องมีการเรียนรู้จากประเทศที่ส่งความช่วยเหลือคือ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่การระดมทุนมีโครงการพิเศษร่วมกับสภากาชาดไทย จัดรายการระดมทุนผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้" รมว.สาธารณสุข กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น