xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! คนเซียร์ราลีโอนยังไม่เชื่อ “อีโบลา” มีจริง ด้านนายกฯ พร้อมหนุนบัตรทองช่วยประเทศระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯเปิดประชุม รมต.สาธารณสุขอาเซียนบวกสาม รับมือสถานการณ์โรคอีโบลา ย้ำ “ตื่นตัว ไม่ตื่นตระหนก” หวั่นส่งผลเสียเศรษฐกิจ ฟุ้ง สธ. มีมาตรการป้องกัน ติดตาม และควบคุมโรคเข้มแข็ง เผยโครงการบัตรทองช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขประเทศที่ระบาดได้ ยินดีหนุนให้เกิดขึ้นผ่านหลักประกันฯอาเซียนบวกสาม ขณะที่คนเซียร์ราลีโอนยังไม่เชื่อไวรัสอีโบลามีจริง สงครามกลางเมือง ระบบสาธารณสุขด้อย ยิ่งทำแพร่ระบาด

วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม เรื่อง “การเตรียมความพร้อมและการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม เข้าร่วม ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุข โภชนาการและประชากร จากธนาคารโลก รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ WHO ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) รวมกว่า 100 คน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความพร้อมประเทศอาเซียนในการรับมือกับอีโบลา รวมทั้งสนับสนุนนานาชาติในการช่วยเหลือปัญหาในแหล่งพื้นที่ระบาด

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลานั้น จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2557 พบผู้ป่วย 17,942 คน เสียชีวิต 6,388 คน โดยจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตยังคงอยู่ใน 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตก แบ่งเป็นประเทศเซียร์ราลีโอน พบผู้ป่วยมากสุด 7,897 คน เสียชีวิต 1,768 คน ไลบีเรีย 7,719 คน เสียชีวิต 3,177 คน กินี ป่วย 2,292 คน เสียชีวิต 1,428 คน โดยประเทศเซียร์ราลีโอนยังน่าห่วงมากที่สุด ผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นอยู่มาก ขณะที่กินีเพิ่มขึ้นช้าๆ ส่วนไลบีเรียมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมมีใจความ ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ยังน่าเป็นห่วงมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน และผู้ติดเชื้อขยายตัวเพิ่มมาก ที่สำคัญ ยังไม่สามารถหาวิธีการป้องกัน ยับยั้ง หรือรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ภูมิภาคอาเซียนจะอยู่ห่างไกล แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะทุกภูมิภาคทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นจะมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดไปยังที่อื่นๆ ในภูมิภาคอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้ท้าทายแค่งานด้านสาธารณสุข แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย อย่างการแพร่ระบาดของโรคซาร์และไข้หวัดนกในอดีต พบว่า ความหวาดกลัวจากความไม่รู้ส่งผลกระทบได้มากกว่าโรคระบาด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก จนการไปมาหาสู่และค้าขายหยุดชะงัก ผู้นำประเทศที่เกี่ยวข้องได้รวมตัวกันกำหนดมาตรการต่างๆ จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการร่วมมือกันแก้ปัญหาเช่นกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ โดยเฉพาะโรคอีโบลา มีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค มีการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ห้องปฏิบัติการ ห้องแยกโรคและมาตรการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ควบคู่กับการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนด้วยข้อมูลที่เป็นจริง รวมทั้งการเฝ้าระวังทางด่านท่าอากาศยาน และทางน้ำ รวมถึงติดตามผู้สงสัยจากประเทศระบาด การร่วมมือของทุกประเทศในภูมิภาคในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนในภูมิภาคมั่นใจ โดยหลักสำคัญในการรับมือคือ “ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนก” โดยสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน สร้างศักยภาพ ทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้า มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร กลไกการรับมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยับยั้งและรับมือกับโรคอีโบลาอย่างเข้มแข็ง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังส่งกำลังใจไปยังบุคลากรด้านสาธารณสุขนานาชาติที่ได้อุทิศตน เสียสละ และกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรค รวมถึงชื่นชมความพยายามของนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ระดมกำลังให้ความช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคอีโบลาสะท้อนถึงความอ่อนแอของโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขในประเทศที่ได้รับผลกระทบ จนนานาประเทศจะต้องเพิ่มการลงทุนช่วยเหลือ ทั้งนี้ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยป้องกัน ตรวจสอบ และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่แรกๆ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานภายในชุมชนได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียม โดยประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยอาศัยเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาเซียนบวกสาม

“การระบาดของอีโบลาเป็นทั้งบททดสอบและบทเรียน สำหรับนานาประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามนี้ จะช่วยสนับสนุนความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่ในกรอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือภายใต้การนำของสหประชาชาติ ความร่วมมือไตรภาคีระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และความร่วมมือในกรอบ Global Health Security Agenda ของสหรัฐฯ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่เคยลงพื้นที่ทำงานรับมืออีโบลในประเทศแอฟริกา กล่าวว่า จากการลงไปทำงานในประเทศเซียร์ราลีโอน เพื่อพูดคุยและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในหลายชุมชน จนถึงขณะนี้ชาวเซียร์ราลีโอนยังเชื่อว่าไวรัสอีโบลาไม่มีจริง ประกอบกับระบบสาธารณสุขไม่ค่อยดี ไม่มีระบบการคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน และเกิดสงครามการเมืองทำให้การระบาดยังน่าเป็นห่วง แม้จะมีองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือการพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อการควบคุม ป้องกันโรคอีโบลา ซึ่งคาดว่าหากสามารถจัดการระบบคัดแยกผู้ป่วย พร้อมพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดีกว่านี้ การระบาดน่าจะคลี่คลายภายใน 3 เดือน และอาจจะไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ ตรงนี้ก็ถือเป็นความท้าทาย ส่วนที่คนมองว่าเป็นความล้มเหลวในการป้อกันควบคุมโรคของ WHO นั้น จริงๆ แล้ว การระบาดครั้งนี้กินพื้นที่กว้างขวาง จากเดิมที่พบการระบาดในพื้นที่ชนบทเท่านั้น แต่ครั้งนี้พบในพื้นที่เมือง เพราะคนจากชนบทเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองทำให้การควบคุมทำได้ยาก ต้องใช้เวลา ซึ่งขณะนี้ WHO ได้ให้แต่ละประเทศออกมาตรการควบคุมโรคของตัวเอง และยังได้ตัดการเดินทางเข้ามาในพื้นที่เสี่ยงแล้ว พยายามทำทุกอย่างเพื่อควบคุมการระบาดของโรคอยู่






ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น