xs
xsm
sm
md
lg

ไทยจัดประชุมอาเซียนบวกสามรับมืออีโบลา จัดรายการสดระดมทุนช่วยแอฟริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รมต.สาธารณสุข 10 ประเทศอาเซียนบวกสาม จัดทำข้อตกลงร่วมรับมือ “โรคอีโบลา” พร้อมเตรียมจัดรายการสดระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก

วันนี้ (8 ธ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 14 - 15 ธ.ค. ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษว่าด้วยการเตรียมพร้อมและรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา” ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กทม. รวม 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เพื่อจัดทำข้อตกลงเชิงนโยบายในการป้องกันโรคอีโบลาในภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งในการปกป้องประชาชนในภูมิภาคนี้ให้ปลอดภัยจากโรคอีโบลา ลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดตามมา รวมทั้งให้การสนับสนุนแก่การระดมความช่วยเหลือของนานาชาติ ในการควบคุมการแพร่ระบาดในแอฟริกาด้านตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศกินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน รวมทั้งประเทศมาลี ที่ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกล่าสุด พบผู้ป่วย 17,145 ราย เสียชีวิต 6,070 ราย และประเมินว่ามีโอกาสแพร่ระบาดออกจากทวีปแอฟริกา จากการเดินทางระหว่างประเทศ ทุกประเทศจึงต้องร่วมมือกัน

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ. ยังร่วมกับสภากาชาดไทยจัด “โครงการรวมพลังปันน้ำใจ ต้านภัยอีโบลา” เพื่อระดมเงินจากทุกภาคส่วนของประเทศไทย ส่งความช่วยเหลือร่วมกับนานาประเทศ ไปยังประเทศแอฟริกาตะวันตก ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อหยุดยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาโดยเร็วที่สุด ตามที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตั้งเป้าหมายไว้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนไทย ให้เกิดความตระหนักในการป้องกันโรค และมั่นใจในมาตรการรับมือโรคนี้ของรัฐบาลไทย โดยหากสามารถควบคุมการระบาดที่ประเทศต้นทางได้สำเร็จโดยเร็ว เชื้อก็จะไม่สามารถแพร่กระจายไปทวีปอื่นๆทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย โดยวันที่ 16 ธ.ค. 2557 เวลา 22.20 - 23.40 น. ได้ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 จัดรายการสด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคอีโบลา และเปิดให้โอกาสทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริจาคเงินในรายการ หรือร่วมซื้อเสื้อรณรงค์ราคา 199 บาท หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารสาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ชื่อ “พลังน้ำใจเพื่อหยุดยั้งอีโบลา” ได้แก่ ไทยพาณิชย์ เลขที่ 468-0-41667-5 กสิกรไทย เลขที่ 623-1-00234-9 และกรุงเทพ เลขที่ 913-3-50021-6 และรัฐบาลจะรวบรวมเงินบริจาคทั้งหมด ส่งไปช่วยเหลือประเทศในแอฟริกาด้านตะวันตกร่วมกับนานาชาติต่อไป

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า วันที่ 14 ธ.ค. จะมีการประชุมของปลัด สธ. ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่วิชาการอาวุโส ประมาณ 50 คน จากประเทศในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม เพื่อร่วมกันจัดทำร่างข้อตกลงเชิงนโยบายในการป้องกันโรคอีโบลาในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ที่จะนำเสนอเข้าสู่เวทีการประชุมของรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม ในวันรุ่งขึ้น เพื่อประกาศเป็นข้อตกลงร่วมกันทั้ง 13 ประเทศ ขณะนี้ ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยังไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลา ส่วนการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด มีการติดตามอาการทุกรายทุกวัน จนพ้นระยะฟักตัวของเชื้ออีโบลาคือ 21 วัน การปฏิบัติงานในระยะที่ผ่านมาได้ผลดี ซึ่งต่อไปประเทศไทยจะติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งอย่างถาวร และพัฒนาระบบการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาความพร้อมของโรงพยาบาล ภาครัฐและเอกชน ทั้งด้านมาตรฐานการวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วย และการควบคุมการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสอีโบลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีหลายประเทศที่มีห้องปฏิบัติการระดับ 3 แล้ว แต่หลายๆ ประเทศก็ยังไม่มี ดังนั้น ในที่ประชุมยังจะมีการหารือเพื่อให้ประเทศไทยเป็นหน่วยสำหรับการส่งต่อตัวอย่างเลือดของผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลาเข้ามาตรวจด้วยเพื่อไม่ต้องส่งตัวอย่างเลือดข้ามทวีปไปตรวจที่อื่น ส่วนเรื่องการสร้างห้องปฏิบัติการชีวะนิรภัยระดับ 4 นั้นอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันและยังไม่ได้ข้อสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น