xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ประกาศเพิ่ม “บามาโก” เป็นเขตติดโรคอีโบลา เลิกเฝ้าระวัง “คองโก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.
สธ. จ่อออกประกาศเพิ่ม “เมืองบามาโก” ประเทศมาลี เป็นเขตติดโรคอีโบลาต้องเฝ้าระวัง พร้อมถอน “คองโก” ออกจากเขตระบาด หลังไม่พบผู้ป่วยนาน 42 วัน ด้าน “ซีเซ่” หนีตรวจอีโบลายังอยู่ไทย ภายใต้การดูแล ตม.

วันนี้ (1 ธ.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานสถานการณ์อีโบลาจนถึงวันที่ 28 พ.ย. 2557 มีผู้ป่วยทั้งหมด 16,211 ราย เสียชีวิต 6,963 ราย โดยประเทศเซียร์ราลีโอน ยังน่าเป็นห่วง มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศกินี และ ไลบีเรีย เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ สธ. เตรียมถอนชื่อประเทศคองโกออกจากเขตติดโรคอีโบลา ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยครบ 42 วัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถอนชื่อเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ไปแล้ว และจะเพิ่มเมืองบามาโก ประเทศมาลี ทวีปแอฟริกา ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศกินีเป็นเขตติดโรคเพิ่มจากเดิมที่มี 3 ประเทศ คือ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้วมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 ราย โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศตามกฎหมาย

นพ.วชิระ กล่าวว่า มาตรการของไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ขณะนี้มีการเฝ้าระวังติดตามอาการบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดทุกราย ข้อสังเกตขณะนี้ผู้ที่เดินจากประเทศที่มีการระบาดเข้าประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ไปทำงาน ส่วนผู้ที่มีสัญชาติของประเทศที่มีการระบาดมีแนวโน้มลดลง สธ. จะดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกัน จนถึงวันนี้ได้ตรวจผู้เดินทางทั้งหมด 3,000 กว่าคน อยู่ในข่ายติดตามอาการภายใน 21 วันหลังเดินทางออกจากพื้นที่ระบาด 12 คน ติดตามได้ครบทุกคน ส่วน นายซีเซ่ ซามูเอล อายุ 31 ปี ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศเซียร์ราลีโอน ที่อยู่ในข่ายติดตามอาการ 21 วัน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโรคติดต่อไทยนั้น ขณะนี้ร่างกายแข็งแรงดี อยู่ระหว่างขั้นตอนออกนอกประเทศ ภายใต้การดูแลของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

“องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า โรคอีโบลาอาจจะระบาดต่อเนื่องจนถึงปีหน้า สธ. ได้วางแผนรับมือโดยได้จัดแผนปฏิบัติการทั้งระบบ ในปี 2558 วงเงิน 198 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการเฝ้าระวัง การรักษาพยาบาล การพัฒนาห้องแยกและห้องตรวจปฏิบัติการ การควบคุมป้องกันโรค การให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน และการระบบจัดค่าเสี่ยงภัยบุคลากรการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงติดโรคนี้มากที่สุด สำหรับงบประมาณปี 2557 ที่ได้รับจัดสรรมา 99.7 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการและจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมอีก 11,000 ชุด และจะจัดอบรมบุคลากรของมหาวิทยาลัยต่างๆ และกระทรวงอื่นๆ วงเงิน 9.8 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา สธ. ได้จัดอบรมบุคลากรในสังกัดทั่วประเทศในการดูแลผู้ป่วยโรคอีโบลาและการป้องกันโรค รวมทั้งหมด 4,696 คน เป็นแพทย์ 480 คน พยาบาล 1,394 คน เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ 665 คน หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว 457 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ และจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อทั่วประเทศ ในวันที่ 25-26 ธ.ค. 2557” รองปลัด สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น