เอเอฟพี - สหภาพยุโรป (อียู) วานนี้ (17 พ.ย.) ให้คำมั่นว่า จะบริจาคเงินหลายล้านยูโรให้แก่มาลี เซเนกัล และโกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์) ในช่วงที่เกิดความวิตกกังวลว่า เชื้ออีโบลาที่กำลังแพร่ระบาดใน 3 ชาติแอฟริกาตะวันตกอาจลุกลามเข้าสู่ประเทศเหล่านี้
ในเวลาเดียวกัน คณะกรรมการการชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้แถลงว่า กำลังส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปยังมาลีเพื่อยับยั้งโรคร้ายชนิดนี้
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ผู้ติดเชื้ออีโบลาส่วนใหญ่จากทั้งหมด 14,500 ราย อาศัยอยู่ในเซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และกินี โดยในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 5,177 ราย
ที่มาลี มีผู้เสียชีวิตจากอีโบลาแล้ว 4 ราย ขณะที่ยังไม่พบผู้เสียชีวิตในเซเนกัล และโกตดิวัวร์
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (17) อียูได้ประกาศมอบเงินทุน 12 ล้านยูโร (ราว 490.7 ล้าน) ให้แก่ 3 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา “เพื่อช่วยให้ดินแดนเหล่านี้พร้อมตั้งรับความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดตั้งช่วงแต่แรกๆ ที่พบผู้ติดเชื้อ และเป็นทุนในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเตือนให้ประชาชน” เรียนรู้วิธีป้องกัน และรับมือกับเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้
เงินบริจาคก้อนนี้เป็นเงินที่มาจากกองทุนช่วยเหลือใหม่มูลค่า 29 ล้านยูโร ที่อียูเตรียมมอบให้ทุกประเทศในแอฟริกาตะวันตก ทันทีหลังจากสหภาพยุโรป และชาติสมาชิกประกาศมอบเงินบริจาคหนึ่งพันล้านยูโรไปก่อนหน้านี้
เงินส่วนที่เหลือในกองทุนจะถูกนำไปใช้ในเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดส่งความช่วยเหลือ และอุปกรณ์ไปยังเซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และกินี และใช้สนับสนุนการอพยพเจ้าหน้าที่การแพทย์จากนานาประเทศ ที่ติดเชื้ออีโบลาระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำพวกเขากลับไปรักษาที่โรงพยาบาลในยุโรป
คริสตอส สไตเลียไนเดส ผู้ประสานงานด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อรับมือกับอีโบลาของคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศบริจาคเงินช่วยเหลือระลอกล่าสุดนี้ ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดเมื่อช่วงต้นเดือน
สไตเลียไนเดส ระบุ ระหว่างแถลงสรุปความคืบหน้าในการรับมือกับอีโบลา ต่อบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศจากชาติสมาชิกอียูวานนี้ (17) ว่า “เราต้องยกระดับความพยายามร่วมกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อที่จะยับยั้ง ควบคุม รักษา จนกระทั่งสามารถกำราบเชื้อไวรัสได้ในที่สุด ”
เบอร์เต ฮัลด์ จาก ICRC กล่าว ในการแถลงข่าวที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมว่า กาชาด “กำลังส่งทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติลงไปช่วยเหลือสภากาชาดมาลี ตามปฏิบัติการที่วางเอาไว้ เพื่อให้เราสามารถยับยั้งอีโบลาในมาลีได้”
มาลีได้ระดมกำลังกันป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดในวงแคบ ลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤตใหญ่ ภายหลังการเสียชีวิตของอิหม่ามชาวกินี และพยาบาลชาวมาลีที่ให้การดูแลเขา ในกรุงบามาโก และผู้ติดเชื้ออีก 2 ราย
ฮัลด์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันความพยายามของกาชาดในกรุงโกนากรี ของกินี เสริมว่า “เรากำลังดำเนินปฏิบัติการเตรียมความพร้อมในทุกประเทศรอบ” ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของอีโบลา