รอยเตอร์/เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลกเมื่อวันศุกร์(24) กำหนดแผนสำหรับเร่งพัฒนาและกระจายวัคซีนอีโบลาที่ผ่านการทดลองแล้ว ด้วยคาดหมายว่าน่าจะได้วัคซีนหลายแสนโดสสำหรับพร้อมใช้งานในแอฟริกาในช่วงกลางปี 2015 หลังมันแผ่ลามๆขยายวงกว้างขึ้นเรือยๆ ด้วยล่าสุด มาลี เป็นชาติที่ 6 ของแอฟริกาตะวันตกซึ่งพบผู้ติดเชื้อ ขณะที่จีน เดินตามรอยสหภาพยุโรปเพิ่มเงินช่วยชาติที่ได้รับผลกระทบสู้กับไวรัสมรณะชนิดนี้
หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเจนีวาแห่งนี้ ยืนยันว่า 2 ตัวเลือกวัคซีนลำดับต้นๆกำลังอยู่ในขั้นทดลองทางคลินิกในมนุษย์ ขณะที่วัคซีนอื่นๆอีก 5 ตัวยังอยู่ในขั้นพัฒนาและน่าจะเริ่มต้นทดลองทางคลินิกได้ในต้นปีหน้า
"ก่อนหมดครึ่งปีแรกของปี 2015 เราอาจได้วัคซีนหลายแสนโดส คงราวๆ 200,000 ไม่มากหรือไม่น้อยกว่านั้น" ดร.แมรีพอล ไคนีย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกบอกกับผู้สื่อข่าว หลังประชุมที่เจนีวา กับเหล่าผู้บริการอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของโลก ผู้ดูแลกฎระเบียบยาและผู้สนับสนุนเงินทุน
ไคนีย์ เผยต่อว่าเหล่านักวิจัยกำลังทดสอบวัคซีน 2 ตัวเลือกของบริษัท แกลกโซสมิทไคลน์และนิวลิงค์ เจเนติกส์ ขณะเดียวกันก็มีวัคซีนอย่างน้อยอีก 5 ตัวที่กำลังตามมาติดๆและน่าจะเข้าสู่ขั้นทดลองทางคลินิกในช่วงเดือนแรกของปี 2015 โดยในนั้นเป็นของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน "วัคซีนไม่ใช่กระสุนมหัศจรรย์ แต่เมื่อใดที่มันพร้อม บางทีมันอาจเป็นส่วนดีของความพยายามเปลี่ยนแนวโน้มของการแพร่ระบาดนี้"
ผู้เชี่ยวชาญมีเป้าหมายทดลองทางคลินิกในขอบเขตที่หลากหลายทั้งในไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและกินี เพื่อให้ได้ข้อมูลแรกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนราวๆเดือนเมษายน ซึ่งแผนต่างๆมีความคืบหน้ามากที่สุดในไลบีเรีย ด้วยมีการนำวัคซีน 2 ตัวมาเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพในการควบคุมหรือฤทธิ์ผลจากวัคซีนหลอก
ขณะเดียวกันในที่ประชุม เหล่าผู้ผลิตยาให้คำสัญญาว่ายาที่ผลิตออกมานั้นจะมีราคาอยู่ในระดับที่ซื้อหาได้ "มีความเข้าใจอย่างกว้างขวางว่าเรื่องเงินไม่ใช่ประเด็น" ไคนีย์ "และเหล่าผู้ผลิตยาให้คำมั่นเกี่ยวกับราคาที่สามารถซื้อหาได้"
เหล่าบริษัทผู้ผลิตยาบอกว่าพร้อมร่วมมือกันเร่งมือพัฒนาและผลิตอีโบลา และหากการทดลองด้านความปลอดภัยในอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์บ่งชี้ว่ามันมีความปลอดภัย แผนก็คือจะมีการกระจายวัคซีนเหล่านั้นหลายพันโดสไปให้แก่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ก่อนเป็นลำดับแรกในต้นปีหน้า อย่างเช่นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่กำลังปฏิบัติการในกินี เซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย
ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเผยต่อว่าระหว่างการหารือนั้นยังมีการพิจารณาในประเด็นด้านการเงินด้วย ซึ่งสถาบันต่างๆ รวมถึงธนาคารโลกและองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ได้ให้สัญญาจะมอบเงินเป็นทุนสำหรับทดลอง แจกจ่ายและกระจายวัคซีน
คำสัญญาดังกล่าวแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกที่กำลังร่วมกันสู้กับอีโบลา หลังจากก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป(อียู) เผยว่าทางกลุ่มเห็นพ้องเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อสู้ภัยเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกขึ้นเป็น 1 พันล้านยูโร (ราว 4.1 หมื่นล้านบาท)
ก่อนหน้านี้ชาติสมาชิก 28 ประเทศ ได้ให้คำมั่นมอบเงิน 600 ล้านยูโร ( 2.4 หมื่นล้านบาท) เพื่อนำมาจ่ายค่าเจ้าหน้าที่และเครื่องอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดเลวร้ายที่สุด อย่าง ไลบีเรีย , เซียร์ราลีโอน , กินี ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตจากโรคนี้แล้วราว 4,900 คน
ส่วนสำนักข่าวซินหวาของจีนรายงานว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เผยเมื่อวันศุกร์(24ต.ค.) ว่าปักกิ่งจะมอบความช่วยเหลือรอบใหม่เพิ่มอีกราว 82 ดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและกินี เช่นเดียวกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆที่กำลังร่วมต่อสู้กับวิกฤตอีโบลา
นอกจากอียูและจีนแล้ว สหรัฐฯก็เป็นอีกชาติที่มอบความช่วยเหลือมากกว่า 350 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา ก็ให้คำมั่นทุ่มเงินสนับสนุบ 400 ล้านดอลลาร์และ 225 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ไม่เว้นแม้กระทั่งคิวบา ที่ส่งคณะแพทย์ 256 คนไปยังกินีและไลบีเรีย
โลกเพิ่มความพยายามมากขึ้น หลังพบว่าอีโบลาเริ่มแพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ด้่วยเมื่อวันพฤหัสบดี(23ต.ค.) มาลี ยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะเป็นคนแรก นับเป็นประเทศที่ 6 ในแอฟริกาตะวันตกที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ถัดจากไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี เซเนกัล และไนจีเรีย โดย 2 ประเทศหลังเพิ่งถูกประกาศว่าปลอดจากเชื้ออีโบลาแล้ว
กระทรวงสาธารณสุขมาลีออกถ้อยแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี(23ต.ค) พบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาคนแรกในประเทศ โดยเป็นเด็กหญิงวัย 2 ขวบ หลังผลตรวจเลือดในวันพุธออกมาเป็นบวก ปัจจุบันผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองเคเยส ห่างจากกรุงบามาโกไปทางตะวันตกราว 600 กิโลเมตร ทั้งนี้ มารดาของเธอเสียชีวิตเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาในกินี แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันว่าเกิดจากเชื้อไวรัสมรณะหรือไม่
เด็กหญิงมีประวัติเคยเดินทางไปยังเมืองคิสซิดูกู ทางตอนใต้ของกินีด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองแรกๆที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก่อนเริ่มมีการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยืนยันสามารถติดตามตัวบุคคลที่เคยใกล้ชิดกับผู้ป่วยให้มารายงานตัวเพื่อกักกันโรคแล้ว ในนั้นหลายคนเป็นพยาบาล อย่างไรก็ตามยังร้องขอให้บุคคลใดก็ตามที่คิดว่าตนเองเคยสัมผัสกับเด็กหญิงรายนี้มารายงานตัวด้วยเช่นกัน