เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส “อีโบลา” ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกกำลังจะทะยานแตะ 10,000 ราย ขณะที่นักวิจัยทั่วโลกกำลังเร่งระดมค้นหาหนทางรักษาโรคติดต่อชนิดนี้
องค์กรชำนาญการด้านสุขภาพขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ประชาชนในกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็นสามประเทศที่เป็นจุดศูนย์กลางในการแพร่ระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งนี้ ได้ติดเชื้อไวรัสมรณะแล้ว 9,936 คน และในตอนนี้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 4,877 คน
ในเวลาที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือนว่า ในต้นเดือนธันวาคม อัตราการติดเชื้ออาจพุ่งแตะ 10,000 คน ต่อสัปดาห์ นักวิจัยทั่วโลกก็กำลังระดมความพยายามต่อสู้กับไข้เขตร้อนชนิดนี้ ซึ่งในเวลานี้ยังคงไม่มีวิธีการรักษาหรือวัคซีนที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
ตัวเลขเหล่านี้เปิดเผยออกมาขณะที่วานนี้ (22) WHO จัดการประชุมฉุกเฉินว่าด้วยอีโบลา รอบที่ 3 ในนครเจนีวา เพื่อหารือถึงความพยายามในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยจะมีการจัดงานแถลงข่าวหลังการประชุมสิ้นสุดลงในวันนี้ (23)
ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า การหารือกันจะใช้เวลา 2 วัน
ในเวลาเดียวกัน แคนาดาได้ส่งมอบวัคซีน rVSV ที่อยู่ระหว่างการทดลองป้องกันอีโบลา ไปถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา
องค์การอนามัยโลกจะประสานงานในการทดลองวัคซีนที่นครเจนีวา ไปพร้อมๆ กับการทดลองที่กำลังเกิดขึ้นที่เยอรมนี กาบอง และเคนยา
วัคซีนชนิดนี้ ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ห้องปฏิบัติการทดสอบจุลชีววิทยาแห่งชาติ ในเมืองวินนิเพก แคนาดา คือ 1 ใน 2 วัคซีนป้องกันเชื้ออีโบลาที่ WHO ระบุว่า ได้ผลน่าพอใจ เมื่อนำไปทดลองกับลิง
มารี-ปอล คีนนีย์ รองผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถจะส่งวัคซีนล็อตแรกไปยังแอฟริกาได้ภายในต้นปี 2015 แม้ว่าจะยังไม่มีแผนรณรงค์วัคซีนฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปในทวีปนี้ก็ตาม
เป้าหมายหลักคือการใช้วัคซีนเหล่านี้ช่วยป้องกันเจ้าหน้าที่การแพทย์ไม่ให้ติดเชื้ออีโบลา ภายหลังที่มีเจ้าหน้าที่ต้องจบชีวิตจากการทุ่มเทความพยายามรักษาคนไข้โรคอีโบลาที่สิ้นหวังไปแล้วราว 240 คน
ในเวลาเดียวกัน สถาบันสุขภาพแห่งอเมริกาออกมาประกาศว่า ได้เริ่มการทดลองวัคซีนกับอาสาสมัครในคลินิก 39 คน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะการทดลองจะประสบความสำเร็จ แต่จะยังไม่สามารถนำวัคซีนนี้ไปใช้ได้จนกว่าจะถึงปีหน้า
วานนี้ (22) กิจการยักษ์ใหญ่ด้านเภสัชภัณฑ์ “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ประกาศจะทุ่มเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6.47 พันล้านบาท) เพื่อเร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาวัคซีนอีโบลา
บริษัทนี้มีแผนจะนำวัคซีนมาทดลองกับอาสาสมัครในเดือนมกราคม
สภากาชาดระบุว่า จะใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือนจึงจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นได้ทั้งหมดเท่านั้น
เอลฮัดจ์ อัส ซี เลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) กล่าวว่า “มีความไปได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาด (ของอีโบลา) ได้ภายใน 4 ถึง 6 เดือน” หากรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ