xs
xsm
sm
md
lg

ภัยคุกคามโลก! รมต.อียูเห็นพ้องร่วมมือป้องกันอีโบลา-ผู้ติดเชื้อนอร์เวย์ฟื้นไข้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเมื่อวันจันทร์ (20 ต.ค.) เห็นพ้องเพิ่มความพยายามจำกัดการแพร่ระบาดของอีโบลา เพื่อป้องกันไม่ให้มันกลายเป็นภัยคุกคามโลก ในนั้นรวมถึงใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรับประกันว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนานาชาติจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ขณะที่เริ่มมีข่าวดีเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ด้วยสตรีชาวนอร์เวย์ที่ติดเชื้อระหว่างร่วมภารกิจด้านการแพทย์ในแอฟริกาตะวันตก กลายเป็นผู้ป่วยรายล่าสุดที่ฟื้นไข้จากไวรัสมรณะชนิดนี้

ถ้อยแถลงของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศ 28 ชาติสมาชิกอียู หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่ลักเซมเบิร์ก ระบุว่า “สิ่งจำเป็นสำหรับควบคุมการแพร่ระบาดคือทุกชาติต้องมีความสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเดียวกับเพิ่มความพยายามให้มากขึ้น” พร้อมชี้ว่าเหล่าประเทศที่ได้รับผลกระทบและชาติเพื่อนบ้านจำเป็นต้องการได้รับความช่วยเหลือตามความจำเป็นและอย่างเหมาะสม

ผลสรุปของการหารือครั้งนี้จะหยิบยกไปพูดคุย ณ ที่ประชุมซัมมิทของเหล่าผู้นำอียู ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันพฤหัสบดี (23) และวันศุกร์ (24) นี้ ซึ่งจะเป็นอีกครั้งที่วิกฤตอีโบลาจะเป็นหัวข้อหลักของการประชุม

เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศเห็นพ้องว่า คณะกรรมาธิการยุโรปควรหามาตรการดูแลทีมงานด้านการแพทย์นานาชาติอย่างเหมาะสม ในนั้นรวมถึงทางเลือกสำหรับการอพยพทางการแพทย์เพื่อรับประกันว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำการอยู่แถวหน้าจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดให้พ้นจากเงื้อมมืออีโบลาที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษา

มาตรการดังกล่าวถือเป็นประเด็นหลักของความพยายามเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ต่างชาติเข้าไปยังไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินี เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของอีโบลา ซึ่งจนถึงตอนนี้คร่าชีวิตชาวบ้านใน 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดข้างต้นมากกว่า 4,500 ศพแล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังบอกด้วยว่ามีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอาสาสมัครจากประเทศสมาชิกอียูให้เร็วที่สุดและมีเป้าหมายคือส่งเข้าไปประจำการในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุข “อียูควรวางเป้าหมายช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการป้องกันตนเองจากอีโบลาแก่พวกเขา” ถ้อยแถลงระบุ

ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรป มีขึ้นหลังท่ามกลางข่าวดีเกี่ยวกับสถานการณ์อีโบลาที่คลี่คลายลงไปในหลายชาติ ในนั้นรวมถึงกรณีที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไนจีเรียเป็นประเทศที่ปลอดจากเชื้อไวรัส “อีโบลา” อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (20 ต.ค.) หลังผ่านพ้นระยะฟักตัวของเชื้อ 2 รอบ รวมทั้งสิ้น 42 วัน โดยไม่มีการรายงานยืนยันว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะรายใหม่อีก ขณะที่อีโลบา คร่าชีวิตผู้คนในดินแดนแห่งนี้ไปทั้งสิ้น 8 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 20 คน

การประกาศอย่างเป็นทางการของไนจีเรียคราวนี้ บังเกิดขึ้นหลังจากชาติในแอฟริกาตะวันตกอีกรายหนึ่ง คือ เซเนกัล ได้รับการรับรองว่าปลอดอีโบลาแล้วในวันศุกร์ (17) ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกล่าวเตือนว่า ทั้งสองประเทศไม่ควรคลายมาตรการระมัดระวัง เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้ยังคงอาละวาดหนักในพื้นที่อื่นๆ ของภูมิภาคแถบนี้

ขณะเดียวกันก็มีอีกหนึ่งข่าวดี โดยเมื่อวันอาทิตย์ (19 ต.ค.) รัฐบาลสเปนแถลงยืนยัน ไม่พบเชื้อไวรัสอีโบลาหลงเหลือในตัวนางเตเรซา โรเมโร พยาบาลชาวสเปนที่กลายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะรายแรกนอกทวีปแอฟริกาแล้ว หลังผลการตรวจเลือดของเธอล่าสุดที่ดำเนินการโดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลการ์โลส เตรสในกรุงมาดริด ที่เธอเข้าพักตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผลออกมาเป็นลบ

ล่าสุด องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเผยในวันจันทร์ (20 ต.ค.) ว่าสตรีชาวนอร์เวย์ที่ติดเชื้ออีโบลาระหว่างปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สังกัดของพวกเขาในเซียร์ราลีโอน เวลานี้ฟื้นตัวจากอาการป่วยและออกจากห้องไอซียูของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโลแล้ว “เราดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าเพื่อนร่วมงานของเราหายป่วยแล้ว” โยนาส ฮาเกนเซน โฆษกองค์การแพทย์ไร้พรมแดนสาขานอร์เวย์กล่าว

ท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของอีโบลานอกแอฟริกาตะวันตก ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้เตือนถึงอันตรายของความตื่นตระหนกในชาติตะวันตก หลังพบมีการแจ้งเท็จผู้ติดเชื้อหลายต่อหลายครั้ง ตามหลังพยาบาล 2 คนของโรงพยาบาลเทกซัส ที่ให้การดูแลคนไข้อีโบลาชาวไลบีเรีย เกิดติดเชื้อไวรัสมรณะนี้เสียเอง ขณะที่ฝรั่งเศสและเบลเยียม เป็นสองชาติล่าสุดที่ดำเนินการตามอย่างอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ที่ใช้มาตรการคัดกรองเข้มข้นต่อผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเหล่าประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลาหนักหน่วงที่สุด

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ประเทศดังกล่าวข้างต้น ยังไม่มีแผนระงับเที่ยวบินที่มาจากเซียร์ราลีโอน กินี และไลบีเรีย ด้วยความกังวลว่ามันจะก่อผลในทางตรงข้าม ด้วยเหล่าผู้โดยสารอาจใช้หนทางอื่นในการเดินทางมายังต่างแดนและเป็นไปได้ที่จะปกปิดความจริงว่าเคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งจะส่งให้การสังเกตอาการและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสยากยิ่งขึ้นไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น