xs
xsm
sm
md
lg

เฝ้าระวัง “อีโบลา” หญิงจากกินีอีก 1 ราย ล่าสุดตรวจเลือดไม่พบเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฝ้าระวัง “อีโบลา” หญิงต่างชาติมาจากกินีอีก 1 ราย สธ. เผยผลตรวจเลือดแล้วไม่พบการติดเชื้อ เตรียมส่งตรวจเลือดอีกรอบ 15 ธ.ค. พร้อมเฝ้าระวังคนใกล้ชิด 18 ราย

วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้พบหญิงต่างชาติอายุ 40 ปี 1 ราย ต้องติดตามเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยหญิงรายดังกล่าวเดินทางกลับจากการทำงานที่ประเทศกินี มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. และรายงานตัวผ่านระบบการตรวจคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมบันทึกประวัติที่อยู่ครบถ้วน ไม่พบว่ามีไข้ แต่เมื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐาน จนถึงวันที่ 5 ธ.ค. พบว่าเริ่มมีอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย แต่ไม่มีไข้ สธ. จึงติดตามอาการต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 10 ธ.ค. ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายใจ จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวเข้าสังเกตอาการในโรงพยาบาลในสังกัด โดยในคืนเดียวกันนั้นเองจึงเริ่มมีไข้ ทั้งนี้ แพทย์ได้เจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมติดตามผู้สัมผัสซึ่งเป็นคนในครอบครัวและผู้ร่วมงานรวม 18 คน เป็นเวลา 21 วัน ส่วนผลการตรวจเลือดไม่พบการติดเชื้อไวรัสอีโบลา รวมทั้งเชื้อมาลาเรีย และไข้เลือดออก โดยล่าสุดผู้ป่วยอาการปกติ ไม่มีไข้ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลจะเจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสอีโบลาอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 15 ธ.ค.

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังดำเนินมาตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลาตามระบบที่วางไว้ทุกช่องทาง และติดตามอาการจนครบ 21 วันตามเกณฑ์ หากมีไข้จะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพื่อป้องกันเชื้อแพร่เชื้อ และจะติดตามอาการผู้สัมผัสทุกคน ส่วนผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังต้องสอบสวนโรคตามปกติ และยังเป็นเพียงผู้ที่อยู่ในการเฝ้าระวังตามระบบที่วางไว้ซึ่งเป็นไปตามระบบสากล ยังไม่ใช่ผู้ป่วยโรคอีโบลา ส่วนอาการของผู้สัมผัสพบว่าทุกคนปกติดี ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบการเฝ้าระวัง

“สำหรับผลการตรวจคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดวันที่ 10 ธ.ค. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมี 13 ราย ไม่มีรายใดมีไข้ ยอดตรวจสะสมตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2557 เป็นต้นมา รวมทั้งหมด 3,438 คน ส่วนใหญ่มาจากกินี 992 ราย ไลบีเรีย 132 ราย เซียร์ราลีโอน 103 ราย คองโก 309 ราย มาลี 118 ราย และอื่นๆ 1,784 ราย ทุกรายปกติ” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จ.จันทบุรี มีนักธุรกิจจากประเทศแอฟริกามาค้าขายพลอยเป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคอีโบลา พื้นที่ภาคตะวันออกจึงจำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการ DRA (Designated Receiving Area) ที่ได้มาตรฐานเพื่อการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเชื้อโรคติดเชื้อที่เหมาะสม สร้างความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคร้ายแรงสู่ชุมชน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการระบาดของโรคอีโบลา มีกลุ่มคนที่มีประวัติเสี่ยงต้องเฝ้าระวังติดตามอาการเดินทางมายังภาคตะวันออก 131 คน จำนวนนี้ มี 1 ราย เป็นชาวกินีเข้าข่ายสอบสวนโรคเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ซึ่งต้องเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งตรวจเชื้ออีโบลาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางและการตรวจวินิจฉัย อาจส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลาเสียโอกาสในการรักษาหากเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคมาลาเรีย หรือโรคไข้เลือดออก

“โรงพยาบาลในพื้นที่ภาคตะวันออกมีห้องปฏิบัติการ DRA ระหว่างรอผลการตรวจอีโบลาแพทย์จะสามารถตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆ ได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที ซึ่งโรงพยาบาลศูนย์พระปกเกล้า จ.จันทบุรี และโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี จ.ชลบุรี ทั้ง 2 แห่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิมีขนาดให้บริการจำนวน 755 เตียง และ 832 เตียง ตามลำดับ เป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางในการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยของเขตบริการสุขภาพที่ 6 มีความสามารถในการรองรับและดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรง มีทีมแพทย์เชี่ยวชาญ มีห้องแยกผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการ DRA ที่ได้มาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อร้ายแรงได้ครบวงจร สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศในการเดินทางมายังภาคตะวันออกของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.อภิชัย กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการ DRA เป็นห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคมาลาเรีย หรือโรคไข้เลือดออก ในผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที และหากผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลา ห้องปฏิบัติการ DRA ก็จะสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยโรคอีโบลาด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมฯ เป็นหน่วยงานหลักในการให้คำแนะนำและตรวจสอบมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการ DRA ดังกล่าวมีมาตรฐานและความปลอดภัย เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายในปี 2557 มีห้องปฏิบัติการ DRA 20 แห่ง และในอนาคตเพิ่มขึ้นอีก 30 แห่ง รวมถึง รพ. ในจังหวัดที่มีสนามบินทุกแห่ง และภายในปี 2558 จะต้องมีห้องปฏิบัติการ DRA ครอบคลุม รพ. ประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น