xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนออกประกาศร่วมสกัด “อีโบลา” สั่งเตรียมพร้อม ระดมความช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาเซียนออกประกาศความร่วมมือป้องกัน “โรคอีโบลา” ในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก มอบทุกประเทศหาแนวทางช่วยเหลือประเทศระบาด ไทยเตรียมระดมทุน 16 ธ.ค. ยันยังไม่ส่งบุคลากรไปในพื้นที่ระบาด ขอเรียนรู้จากจีน ญี่ปุ่นก่อน มั่นใจสร้างระบบหลักประกันฯให้ประเทศระบาด ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งระบบสาธารณสุขทั้งต่ออีโบลาและโรคต่างๆ ด้าน WHO ภูมิภาคอาเซียนย้ำสร้างความตระหนัก แต่ไม่ตระหนก ขณะที่แอนติบอดีรักษาอีโบลา ศิริราชยังไร้ความคืบหน้า

 
วันนี้ (15 ธ.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวผลการประชุมสมัยพิเศษรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม เพื่อเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า ธนาคารโลกได้ประเมินผลกระทบจากโรคอีโบลาว่า หากเชื้อไวรัสยังคงระบาดนักในพื้นที่ 3 ระเทศแอฟริกาตะวันตก และแพร่ระบาดไปสู่ประเทศข้างเคียง จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาในช่วงปลายปี 2558 พุ่งสูงถึง 32,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 978,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันยุติเพื่อลดการสูญเสีย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในที่ประชุมว่า ความสำเร็จในการควบคุมโรคอีโบลามี 4 มาตรการ คือ การเตรียมความพร้อมการรับมือที่ดี มาตรการ้องกันที่มีประสิทธิภาพ นโยบายที่เข้มแข็งของรัฐบาล และความร่วมมือของชุมชน ดังเช่นประเทศไนจีเรียและเซเนกัลที่สามารถควบคุมโรคได้ผล

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับผลการประชุมได้มีคำประกาศร่วมการป้องกันโรคอีโบลาใน 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ เช่น เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ฝึกซ้อมแผนรับมือหากพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น ระดับภูมิภาค เช่น เพิ่มความร่วมมือการป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อข้ามพรมแดน โดยแลกเปลี่ยนข้อมูล ฝึกอบรมบุคลากร จัดช่องทางสื่อสารเตือนภัยล่วงหน้า ร่วมมือการศึกษาวิจัย เป็นต้น และระดับโลก โดยให้ความสนับสนุนร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ ระดมความช่วยเหลือ ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เป็นต้น ซึ่งสรุปแล้วจะแบ่งงานออกเป็น 3 ด้าน คือ 1. สร้างเสริมความเข้มแข็งของประเทศและภูมิภาคในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคอีโบลา 2. เร่งความร่วมมือระดับภูมิภาคป้องกันโรคติดเชื้ออบุติใหม่ในอนาคต และ 3. ระดมความช่วยเหลือการควบคุมการระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกา รวมทั้งจัดทำแผนกรอบยุทธศาสตร์เพื่อแปลงเป็นโครงการต่างๆนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผลการประชุมเป็นจริง

“ขณะนี้การส่งความช่วยเหลือไปประเทศแอฟริกาตะวันตกมีประเทศจีน ญี่ปุ่น ที่ส่งเงิน อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยเหลือ โดยประเทศเกาหลีใต้เตรียมที่จะส่งความช่วยเหลือไปในเร็วๆ นี้ ส่วนการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือในภูมิภาคอาเซียน แต่ละประเทศก็มีการเตรียมตัวมาสักระยะหนึ่ง ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องกลับไปพิจารณาดูว่าแต่ละประเทศมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในด้านใด ทั้งเงิน บุคลากรทางการแพทย์ เพราะแต่ละประเทศมีความพร้อมที่แตกต่างกัน ส่วนประเทศไทยคงต้องดูนโยบายของรัฐบาลด้วย แต่คงยังไม่มีการส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปในพื้นที่ระบาด อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องมีการเรียนรู้จากประเทศที่ส่งความช่วยเหลือ คือ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่การระดมทุนมีโครงการพิเศษร่วมกับสภากาชาดไทย จัดรายการระดมทุนผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายลี ลวง มินห์ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนมีกลไกในการสร้างศูนย์ประสานความร่วมมืออยู่แล้ว เพื่อคอยดูว่าแต่ละประเทศจะเริ่มให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง แต่ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ว่าแต่ละประเทศจะต้องให้ความช่วยเหลืออะไร เมื่อไร เพราะมีความพร้อมแตกต่างกัน

ดร.พูนัม เกตพาล ซิงห์ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า WHO พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่ประเทศสมาชิกให้มีการเตรียมตัวที่ดี เพื่อรองรับการระบาดของอีโบลา ส่วนมาตรการสำคัญ คือ ต้องเฝ้าระวังโรค การเตรียมโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วย การเตรียมห้องแล็บ และการเตรียมการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ที่สำคัญจะต้องมีการสื่อสารเผยแพร่ให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้ดีที่สุด คือ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนด้วยข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อให้เกิดความตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนก เพราะความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง จนตื่นตระหนกนั้น ถือเป็นวิกฤตในทุกการระบาด นอกจากนี้ จะต้องมีการซ้อมแผนรับมือโรคอีโบลาในทุกระดับ ทั้งระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ซึ่ง WHO ได้เตรียมพร้อมสนับสนุนทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ประเทศที่จะมีการเตรียมความพร้อมส่วนหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีไทยเตรียมสนับสนุนให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตกที่มีปัญหาการระบาดอีโบลา ผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาเซียน จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไร นพ.ชิย ยง ซู ผอ.องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก กล่าวว่า การระบาดของโรคอีโบลาในประเทศแอฟริกาตะวันตก บทเรียนคือ ประเทศเหล่านี้มีความอ่อนแอของระบบสาธารณสุข สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ต้องการคือการนำและสนับสนุนของผู้นำประเทศ ความปรองดองของสังคม ซึ่งการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นปัจจัยเสริมความเข้มแข็งในระบบสาธารณสุข ซึ่งไม่เฉพาะแต่โรคอีโบลาเท่านั้น แต่จะเป็นการช่วยการดูแลปัญหาสุขภาพทั้งหมดของคนในประเทศ

เมื่อสอบถามถึงห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 ซึ่งมีแห่งเดียวที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้มีการเปิดใช้ จะมีการประสานเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งตรวจยืนยันเชื้อหรือไม่ ดร.พูนัม กล่าวว่า หลายประเทศในภูมิภาคนี้สามารถตรวจเชื้ออีโบลาได้แล้ว แต่ในภูมิภาคยังไม่มีความจำเป็นหรือต้องการที่จะต้องตรวจในห้องแล็บระดับ 4 ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการส่งตรวจเพื่อยืนยันเชื้อ แต่หากต้องมีการยืนยัน WHO ก็มข้อแนะนำไว้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำแอนติบอดีไปทดลองต่อเชื้อไวรัสจริงที่สหรัฐฯ มีการประสานความคืบหน้าหรือไม่ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการศึกษา ซึ่งผลการทดลองคงยังต้องใช้ระยะเวลาอีกเป็นเดือน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น