xs
xsm
sm
md
lg

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “จัตวานุภาพ + พหุอำนาจ + นิติธรรม”

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การได้เข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ เหมือนกับผมได้กลับเข้าห้องเรียนอีกครั้ง มีทั้งชั่วโมงวิชากฎหมายมหาชน ชั่วโมงวิชาหลักรัฐศาสตร์ ชั่วโมงวิชาประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา ชั่วโมงวิชาปรัชญาการเมือง และ ฯลฯ รวมทั้งชั่วโมงวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นักปรัชญาการเมืองที่ประธานหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้งก็คือมองเตสกิเออ

แต่จุดที่หยิบยกขึ้นมาพูดไม่ใช่หลักการแบ่งแยกอำนาจตามที่พวกเราเคยเรียนกันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย ที่เวลาเอ่ยถึงชื่อรุสโซก็ต้องเป็นประเด็นทฤษฎีสัญญาประชาคม เอ่ยถึงชื่อมองเตสกิเออก็หนีไม่พ้นทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย

แต่พูดถึงประเด็นที่มองเตสกิเออชื่นชมการปกครองอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็เพราะสังคมอังกฤษมีรัฐธรรมนูญประเพณีที่สามารถผนวกรวม หรือ Inclusive ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าไว้ในโครงสร้าง ไม่มีพลังอำนาจใดถูกทอดทิ้งอยู่นอกโครงสร้าง

เหมือนๆ กับพวกเรากำลังพยายามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นไปตามหลักการนี้


รัฐธรรมนูญประเพณีของอังกฤษสามารถผนวกพลังอำนาจ 3 ส่วนของสังคมอังกฤษไว้ในโครงสร้างองค์กรทางการเมือง 2 สภา คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ พระ และขุนนาง ในสภาขุนนาง และสามัญชน ในสภาสามัญ แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ในช่วงสนทนาธรรมตั้งแต่การประชุมสัปดาห์แรกๆ ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พวกเราค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันว่าสาเหตุลึกๆ ที่ทำให้สังคมไทยเกิดวิกฤตก็เพราะเกิดการเสียสมดุลระหว่างพลังอำนาจ 4 ส่วนของสังคมไทยตั้งแต่เริ่มบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา พลังอำนาจ 4 ส่วนของสังคมไทยที่เราพูดถึงกัน คือ....

- สถาบันพระมหากษัตริย์

- ข้าราชการทหารและพลเรือน

- ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ – ซึ่งสามารถต่อรองได้ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

- ชนชั้นกลางในต่างจังหวัดและผู้ด้อยโอกาส – ซึ่งเข้าถึงทรัพยากรได้ยาก และไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

สถาบันพระมหากษัตริย์ยังจะต้องเป็นเสาหลักของการเมืองการปกครองที่วางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง และยึดรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัดดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันทรงยึดมั่นมาตลอดรัชกาล และพระราชอำนาจพิเศษในฐานะที่ทรงเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสูงสุดที่จะทรงใช้เมื่อชาติเกิดวิกฤตจนสถาบันการเมืองและสถาบันอื่นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามวิถีทางปกติ

ส่วนโครงสร้างทางการเมืองในรัฐธรรมนูญจะต้องออกแบบให้สามารถรองรับกลุ่มพลังอำนาจ 3 ส่วนที่เหลือให้อยู่ในโครงสร้างได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ทั้งประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท คนชั้นกลางในเมือง และข้าราชการทหารและพลเรือน สามารถทำให้เสียงของตนได้ยินอย่างเป็นทางการ และเพื่อให้ส่วนร่วมทางการเมืองสะท้อนภาพการผนวกพลังอำนาจในสังคมไทยได้

ถ้าพลังอำนาจทั้ง 4 ส่วนสามารถได้รับการออกแบบให้ผนึกกำลังร่วมกันอย่างเหมาะสมเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยเดินหน้าไปโดยไม่ขัดแย้งกันก็จะเปล่งอานุภาพมหาศาล เราอาจเรียกได้ว่า...

“จัตวานุภาพ”

ลึกๆ แล้ว เชื่อว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกคนคงกำลังคิดหาหนทางสร้าง “รัฐธรรมนูญจัตวานุภาพ” ขึ้นมาให้ได้ มากกว่าที่จะคิดว่าจะให้เลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรง หรือให้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรแล้วให้ผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่าสามารถตอบโจทย์หลักของสังคมไทยพ.ศ.นี้ได้หรือไม่

สามารถผนวกรวม (Inclusive) พลังอำนาจทั้ง 4 ส่วนของสังคมไทยไว้ในโครงสร้างได้หรือไม่?

สามารถสร้างสภาวะจัตวานุภาพได้หรือไม่?


ข้อเสนอให้ประชาชนเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีโดยตรง หากสามารถตอบโจทย์หลักข้อนี้ได้ ก็ยังจะได้รับการพิจารณา

แต่ก็มีข้อเสนอว่าควรมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดเป็นสภาที่เป็นที่มาของรัฐบาล และมีอำนาจทั้งทางการออกกฎหมาย การอนุมัติงบประมาณ และการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อให้ได้สัดส่วนคนชั้นกลางในรัฐบาล การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อระบบสัดส่วนคงต้องมีอยู่เพื่อให้คนชั้นกลางที่ไม่เคยชินกับการหาเสียงในต่างจังหวัดสามารถเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลได้ แต่วุฒิสภาไม่ควรใช้ระบบเลือกตั้งโดยตรง เพราะจะทำให้ได้ผู้แทนของประชาชนในต่างจังหวัดซ้ำกับสภาผู้แทนราษฎร และเป็นการกีดกันคนชั้นกลางรวมข้าราชการทหารและพลเรือนอันเป็น 2 พลังอำนาจสำคัญในสังคมไทยออกไปจากโครงสร้างทางการเมือง อันนำไปสู่ความขัดแย้งดังที่เคยเกิด ระบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจึงต้องออกแบบใหม่ ให้คนชั้นกลางหลากหลายอาชีพที่สุดรวมทั้งข้าราชการทหารและพลเรือนเข้าไปเป็นสมาชิกได้ โดยอาจใช้ระบบการสรรหาก่อนแล้วให้ประชาชนลงมติเลือกจากที่ได้สรรหานั้นเพื่อสร้างความเชื่อมโยงและความชอบธรรมอันมาจากประชาชน ถ้าใช้ระบบนี้ ก็อาจเพิ่มอำนาจวุฒิสภาให้ทั้งสามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ให้แต่งตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และให้เสนอร่างกฎหมายได้ด้วย นอกจากนั้นระบบการตรวจสอบรัฐบาลก็ต้องทำให้เข้มแข็งขึ้น และเป็นอิสระขึ้น โดยไม่ทำลายความมีประสิทธิภาพในการบริหาร รวมทั้งเร่งสร้างระบบธรรมาภิบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ

ไม่ใช่แต่เพียงจัตวานุภาพเท่านั้น ประเด็นที่พูดกันบ่อยมากในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็คือ

“พหุอำนาจ”

ประชาธิปไตยต้องไม่ใช่การทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะการเลือกตั้ง เพราะเมื่อชนะเลือกตั้งแล้วสามารถกินรวบได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งระบบการเมือง และระบบบริหารราชการแผ่นดิน

และที่พูดกันไม่น้อยไปกว่ากันอีกประเด็นคือ

“นิติธรรม”

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญค่อนข้างจะเห็นพ้องต้องกันว่านิติธรรมก็คือเหรียญอีกด้านหนึ่งที่แยกไม่ได้จากประชาธิปไตย บุคคลจึงหาอาจรับแต่ประชาธิปไตยแต่ปฏิเสธนิติธรรมได้ไม่ ใครทำลายความยิ่งใหญ่ของนิติธรรม เขาผู้นั้นก็ทำลายประชาธิปไตยไปด้วยนั่นเอง

กล่าวได้ว่านี่คือโจทย์ 3 ข้อของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“จัตวานุภาพ + พหุอำนาจ + นิติธรรม”

พูดมาเป็นนามธรรม แต่อีกไม่นาน ภายในเดือนมกราคม 2558 เค้าโครงที่ชัดเจนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะปรากฏออกมา

ทุกภาคทุกหมวดทุกส่วนและทุกมาตราจะต้องตอบโจทย์ทั้งสามให้ได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น