xs
xsm
sm
md
lg

บ้าน-วัด-โรงเรียน (5) : โรงเรียนเป็นองค์ประกอบหนึ่งซึ่งสะท้อนความกลวงของสังคม

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

สี่ตอนที่ผ่านมามองว่า การให้การศึกษาตามอุดมการณ์ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัดและโรงเรียนนั้น บ้านทำงานล้มเหลว ส่วนวัดนอกจากจะไม่ช่วยปูฐานทางด้านศีลธรรมจรรยาตามที่น่าจะทำแล้ว ยังมักเป็นอุปสรรคเนื่องจากดูดทรัพยากรจำนวนมหาศาลไปใช้ในการก่อสร้างต่างๆ ทั้งที่ในหลายๆ กรณีมีความจำเป็นน้อย หรือไม่มีเลย พระส่วนใหญ่ไม่แตกฉานในด้านพระคัมภีร์ และสนใจเฉพาะในด้านการทำพิธีกรรมและหารายได้ งานให้การศึกษาจึงถูกยกให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่เวลาที่คนเราอยู่ในโรงเรียนนั้นน้อยกว่าเวลาที่อยู่ข้างนอกหลายเท่า

โรงเรียนในยุคนี้มีความพร้อมสูงกว่าเมื่อเทียบกับโรงเรียนในช่วงเวลาเมื่อ 50-60 ปีก่อน โรงเรียนโดยทั่วไปไม่ต้องอาศัยศาลาวัดเป็นอาคารเรียนอีกต่อไป ส่วนใหญ่มีอาคารทันสมัย ยกเว้นในท้องถิ่นห่างไกลที่ถนนหนทางจำพวกราดยางยังเข้าไปไม่ถึงซึ่งก็เป็นเพียงส่วนน้อยแล้ว ในอาคารมีอุปกรณ์การเรียนการสอนมากมาย จากแบบเรียนและเครื่องเขียนเบื้องต้นไปจนถึงคอมพิวเตอร์ รัฐบาลให้งบประมาณสำหรับซื้อเสื้อผ้าและอาหารกลางวันซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับนักเรียนที่ทางบ้านมีรายได้ในระดับต่ำ ครูผู้สอนมีพื้นความรู้ถึงระดับปริญญาซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับครูของผู้เขียนซึ่งบางท่านเรียนจบเพียงชั้น ป. 3 และนักธรรมเอก

ความพร้อมที่สูงกว่าในสารพัดด้าน ส่งผลให้คนไทยโดยทั่วไปมีการศึกษาสูงกว่าเมื่อ 50-60 ปีก่อนมาก แต่เนื่องจากหากเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน หรือมีการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจกับไทย การศึกษาในโรงเรียนไม่ได้ผลตามความคาดหวังเนื่องจากไทยล้าหลังประเทศส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน อย่างไรก็ดี ปัญหายังมีอยู่เช่นเดิม ประเด็นนี้เป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบกันไม่พบ

ปัจจัยที่ทำให้คำตอบหายากเนื่องมาจากเราไม่มองสังคมแบบบูรณาการ ปัญหามาจากองค์ประกอบทุกด้านทั้งภายนอกและภายในโรงเรียน ในเบื้องแรก หากเรามองว่าตัวผู้เรียนเปรียบเสมือนวัตถุดิบที่โรงเรียนจะนำมาหลอม หรือปั้นแต่งให้เป็นสิ่งที่สังคมต้องการตามอุดมคติ คุณภาพของวัตถุดิบมีส่วนสำคัญต่อการปั้นแต่งทุกอย่าง ข้อมูลจากการสำรวจบ่งบอกอย่างต่อเนื่องว่า ศักยภาพเบื้องต้นทางปัญญา หรือไอคิวของเด็กไทยนอกจากจะไม่สูงนักแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะต่ำลงเรื่อยๆ อีกด้วย การลดลงของไอคิวจะเกิดจากอะไรไม่เป็นที่ประจักษ์ อาจจากน้ำและอาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่โดยผู้บริโภคมีรู้ตัว อาจจากอากาศที่มีสารพิษเลวร้ายปะปนอยู่ปริมาณมาก หรืออาจจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ไม่มีความพร้อม หรือความรู้ความสามารถ
ดินเหนียวชั้นดีมีผลต่อความงามของตุ๊กตา
นอกจากปัจจัยทางด้านกายภาพของผู้เรียนแล้ว ยังมีด้านอารมณ์ หรือจิตใจที่จะส่งผลให้ผู้เรียนสัมฤทธิผลมากน้อยเพียงไรอีกด้วย หลังจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญซึ่งภาคเกษตรกรรมไม่มีความสำคัญสูงสุดดังเมื่อครั้งก่อน โครงสร้างทางครอบครัวก็เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญด้วย ครอบครัวที่เคยมีสมาชิกอยู่ร่วมกันจากปู่ย่าตายายไปถึงลูกหลานกลายเป็นปู่ย่าตายายกับหลานๆ เท่านั้น ส่วนพ่อแม่ของเด็กไปทำงานกันในต่างถิ่น หรือไม่ก็แยกย้ายกันไปมีครอบคัวใหม่และทิ้งลูกไว้ให้อยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายาย ในสภาพเช่นนี้ เด็กย่อมจะมีความพร้อมทางอารมณ์ที่จะเรียนต่ำกว่าที่น่าจะเป็น

ทางด้านครูผู้ทำหน้าที่ปั้นแต่งนั้นแม้จะมีความรู้ทางด้านวิชาการสูงมาก แต่ส่วนใหญ่มิได้มีจิตวิญญาณของการเป็นครูมากนักเนื่องจากมิได้ตั้งใจจะเป็นครู ส่งผลให้พวกเขาไม่ทุ่มเทในการสอนเท่าที่ควร นอกจากนั้น แม้จะมีการศึกษาสูงกว่าคนทั่วไปในสังคม แต่ครูก็มิได้ต่างจากผู้อื่นในด้านการดำเนินชีวิต เช่น ครูส่วนใหญ่ใช้จ่ายเกินรายได้ ส่งผลให้เป็นหนี้เป็นสินกันหนักอึ้ง ในสภาพเช่นนี้ ครูย่อมมีสมาธิที่จะทุ่มเทต่องานการเรียนการสอนน้อยลง เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยมิใช่สังคมของผู้ใฝ่รู้ ผู้มีอาชีพครูก็เช่นกัน แต่การไม่ใฝ่รู้และไม่เป็นผู้นิยมอ่านและค้นคว้าหาความรู้ของครูต่างกับของคนทั่วไปในด้านที่มีผลต่อการให้ความรู้แก่ผู้อื่น โดยทั่วไปครูที่มีความรู้ลึกซึ้งและกว้างขวางซึ่งได้มาจากการขวนขวายหาความรู้อยู่ตลอดเวลา จะสอนได้น่าสนใจกว่าครูที่มีความรู้อยู่แค่ในตำราที่เคยเรียนมาตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในมหาวิทยาลัย และที่สำคัญที่สุดได้แก่โดยทั่วไปครูมิได้มีจรรยาบรรณเหนือผู้ที่อยู่ในอาชีพอื่น การลอกงานของผู้อื่นมาใช้ในการเสนอเลื่อนขั้นทางวิชาการ หรือจ้างผู้อื่นทำให้จึงมีอยู่ทั่วไปในวงการครู

อย่างไรก็ดี ในขณะที่สังคมตกอยู่ในสภาพเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยา ครูที่มีจิตวิญญาณของการเป็นครูก็ยังมีอยู่บ้างแม้จะเป็นส่วนน้อยก็ตาม ทว่าครูเหล่านี้ก็ถูกคุกคามด้วยระบบราชการที่มักดึงครูออกจากห้องเรียน ข้อมูลบ่งว่า ครูโดยทั่วไปใช้เวลากว่า 1 ใน 3 หรือ 75 วันในปีการศึกษาหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเวลาเรียน 200 วันทำงานที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ในจำนวนนี้ 44 วันใช้หมดไปกับการประเมินของหน่วยงานภายนอก หน่วยงานเหล่านั้นคงไม่ค่อยมีงานทำมากนักจึงต้องดึงครูออกไปจากห้องเรียนมากถึงขนาดนั้น ปราชญ์ทางการศึกษาท่านหนึ่งจึงเคยให้ความเห็นว่า จะปฏิรูปการศึกษามิได้หากไม่ระเบิดกระทรวงศึกษาธิการทิ้ง

สภาพของสังคมอีกด้านหนึ่งซึ่งมีผลต่อการให้การศึกษาได้แก่ค่านิยม สังคมไทยข้างในกลวงในหลายมิติ เช่น การมองงานบางด้านว่าต่ำต้อย ส่งผลให้ทุกคนตะเกียกตะกายเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยให้ได้ปริญญาเพื่อไปแสวงหางานจำพวกนั่นโต๊ะ สังคมไทยนิยมขึ้นป้ายเพื่อถ่ายรูปงามๆ แต่ไม่ใส่ใจในเนื้อหา จะเห็นว่าการขึ้นป้ายขนาดใหญ่มีอยู่ทั่วไปในทุกมุมของประเทศ โรงเรียนโดยทั่วไปมีป้ายชื่อขนาดมหึมาแม้จะเป็นโรงเรียนห่างไกลที่มีนักเรียนไม่กี่สิบคนก็ตาม ตัวอย่างแรกเป็นโรงเรียนบ้านกันจานอันเป็นโรงเรียนชั้นประถมที่มีนักเรียนทั้งหมด 45 คนเท่านั้น

ส่วนโรงเรียนบ้านวังแช่กลอยเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีถึงชั้นมัธยม 3 กระนั้นก็ตาม โรงเรียนนี้มีนักเรียนทั้งหมดเพียง 168 คน โรงเรียนทั้งสองแห่งทำป้ายชื่อขนาดยักษ์มากด้วยวัสดุที่น่าจะต้องซื้อหามาด้วยเงินก้อนโต เมื่อมีเทศกาล หรืองานต่างๆ โรงเรียนมักมีพิธีใหญ่โตและลงทุนมากมายอันเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำซึ่งสังคมทั่วไปก็ทำกัน

เมื่อสังคมโดยทั่วไปข้างในกลวงจนหาแก่นแทบมิได้ จะหวังให้โรงเรียนให้การศึกษาและแก้ปัญหาให้ย่อมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโรงเรียนเป็นองค์ประกอบหนึ่งซึ่งมีความกลวงเช่นเดียวกับสังคมรอบด้าน ฉะนั้น หากสังคมไม่ปฏิวัติทางด้านความคิดและพฤติกรรมแบบถอนรากถอนโคน การให้การศึกษาแก่เยาวชนย่อมจะตกอยู่ในวังวนของความอัปรีย์แบบไม่มีวันหาทางออกพบ
กำลังโหลดความคิดเห็น