xs
xsm
sm
md
lg

แนะไทยดึง4จุดแข็งดันขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ดีลอยท์แนะไทยใช้จุดแข็งต่อยอดเศรษฐกิจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ มั่นใจไทยก้าวสู่ผู้นำบนเวทีอาเซียน - ยกระดับสู่ประเทศที่มีรายได้สูงตามการขยายตัวเศรษฐกิจโลก ระบุปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิดยังคงเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปี 2558 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเติบโต4.0% จากในปี 2557 ที่คาดว่าจะโตประมาณ 3.0% โดยเศรษฐกิจหลักของโลกยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ก็เป็นการเติบโตท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าจับตาดูใกล้ชิด โดยในปีหน้าโดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.6% จากปี 2557 ที่ 4.8% โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย ไทยกัมพูชา เมียนม่าร์ ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้จะลงทุนพัฒนาโครงข่ายการขนส่งระหว่างประเทศ และลดต้นทุนการขนส่ง เพื่อเข้าสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในช่วงปลายปี 2558นี้

“จากการสำรวจของ World Economic Forum 2557-2558 ขีดความสามารถในการแข่งขันของ 144 ประเทศนั้น ไทยอยู่อันดับที่ 31 และหากเทียบกับกลุ่ม ASEAN-5 แล้ว ไทยอันดับ 2 ตามหลังสิงคโปร์ แต่ยังคงนำอินโดนีเซียและ ฟิลลิปปินส์ ซึ่งหากไทยไม่ปรับปรุงและต่อยอดเพื่อให้ไทยหลุดออกจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงอาจจะถูกอินโดนีเซียที่กำลังเร่งพัฒนาแซงหน้าขึ้นไปในอนาคตอันใกล้ได้เช่นกัน” นายสุภศักดิ์

นายสุภศักดิ์ กล่าวว่าการที่ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีจะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตต่อเนื่อง โดยไทยสามารถดึงเอาศักยภาพของทรัพยากรมาใช้ประโยชน์และต่อยอดได้ใน 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเป็นศูนย์กลางของหลายธุรกิจ เช่น ยานยนต์การท่องเที่ยว การบิน 2) การเพิ่มความสะดวกสบายในการลงทุนทำธุรกิจปัจจุบันไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 18 จากทั้งหมด 189 ประเทศ โดยด้านที่ควรปรับปรุงจากการ สำรวจ ได้แก่ การแก้ไขปัญหากรณีล้มละลายการเสียภาษี การขอสินเชื่อ และการจดทะเบียนตั้งกิจการ 3) ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนและเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 4) การใช้ไทยเป็นฐานเพื่อการลงทุนขยายธุรกิจไปยังกลุ่ม CLMV

นายสุภศักดิ์ กล่าวว่าอุปสรรคที่กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยสำคัญๆได้แก่ การกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) แม้ว่าสมาชิกอาเซียนจะทยอยปรับลดภาษีศุลกากรจนเหลือ 0-5% ตามแผนการรวมตัวเป็น AEC ก็ตาม แต่สมาชิกทุกประเทศยังคงใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers- NTBs) กับสินค้าที่ส่งออกมาจากประเทศสมาชิกเพื่อปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศของตัวเอง ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการแข่งขันจากต่างประเทศที่รุนแรงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น