xs
xsm
sm
md
lg

รวมจุดแข็งอาเซียนรับทุนต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการรายวัน- การแข่งขันด้วยมาตรการภาษีภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อดึดดูดนักลงทุนสำหรับไทย แม้ว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจะดูเหมือนต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน แต่ในความเป็นจริงการที่ไทยใช้การจัดเก็บภาษีระบบ Two-Tier Tax System ทำให้โครงสร้างภาษีมีความซับซ้อนและมีภาษีแฝงที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเพิ่มอีก 8% เมื่อมีการจ่ายเงินปันผล ดังนั้น หากคำนวณออกมาไทยมีอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 28% สูงกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งใช้ระบบ  One-Tier Tax System ที่โครงสร้างภาษีไม่ซับซ้อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 17% และ 25% จริงๆ

          นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวถึงศักยภาพการแข่งขันของไทย หลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะที่เป็น “สปริงบอร์ด” หรือใช้เป็นฐานเพื่อขยายการลงทุนต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะกลุ่มประชาคมลุ่มน้ำโขง หรือ CLMV  ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  โดยนักลงทุนต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จะเน้นการซื้อและควบรวมกิจการ หรือการทำ M&A  เนื่องจากทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ได้อย่างรวดเร็ว โดยมีนักลงทุนท้องถิ่นจากพันธมิตรในประเทศเป้าหมายเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ

          “จากการพูดคุยกับลูกค้าเขาเริ่มมีความมั่นใจที่จะขยายธุรกิจมากขึ้น ตอนนี้บางบริษัทมีแผนจะทำเอ็มแอนด์เอ บางบริษัทจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ เรายังเห็นโอกาสการขยายธุรกิจด้านการเงินมากขึ้นด้วย เนื่องจากมองว่าไทยฟื้นจากวิกฤตการเมืองได้เร็ว และยังเลือกใช้ไทยเป็นฐานต่อยอดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” นายสุภศักดิ์ กล่าว

          ด้านนายแอนโทนี่ วิเศษ โลห์ พาร์ตเนอร์และผู้บริหารฝ่ายภาษีและกฎหมาย ดีลอยท์ วิเคราะห์ว่า ขณะนี้ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต่างใช้กลยุทธ์ “ปรับลด” การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหวังใช้เป็นกลไลในการดึงดูดนักลงทุนจากประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุน  โดยปัจจัยพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมใช้ตัดสินใจขยายฐานการลงทุนออกไปยังประเทศอื่น คือ 1. เสถียรภาพทางการเมือง  2. โครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจ 3. จำนวนแรงงานที่จะเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจ  และ 4. ปัจจัยด้านภาษี   

    “ผมมองว่าหลายประเทศในอาเซียนติดกับดักแข่งขันด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน ซึ่งเป็นการลดรายได้ที่จะนำเข้ามาพัฒนาประเทศตนเองโดยไร้ประโยชน์ เพราะที่จริงแล้วอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ใช่ปัจจัยอันดับแรกๆ ที่นักธุรกิจ จะใช้ตัดสินใจในการเข้าไปลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง อาเซียนจึงควรหยุดแข่งขันกันด้านภาษี แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนด้วยสิ่งจูงใจอื่น” นายแอนโทนี่ กล่าว

         ปัจจุบันประเทศที่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำสุดในภูมิภาคคือสิงคโปร์โดยเก็บอยู่ที่ 17%  สำหรับไทยมีอัตราการจัดเก็บเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอยู่ที่ 20% ขณะที่เวียดนามกำลังจะปรับลดตามมาเป็น 20% เช่นกัน จากเดิมจัดเก็บอยู่ในอัตรา 22% ในเร็วๆ นี้ ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และพม่าเก็บในอัตรา 25% สำหรับฟิลิปปินส์เก็บสูงที่สุดในภูมิภาคด้วยอัตรา 30%

          สำหรับไทย แม้ว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจะดูเหมือนต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญอย่าง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย  แต่ในความเป็นจริงไทยใช้ระบบ Two-Tier Tax System ทำให้โครงสร้างภาษีมีความซับซ้อน โดยยังมีภาษีรายได้บุคคลธรรมดา หรือ ภงด.91 ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายอีก 8% ณ วันที่รับเงินปันผล เมื่อคำนวณออกมาไทยจึงมีภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 28%สูงกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งใช้ระบบ   One-Tier Tax System ที่โครงสร้างภาษีไม่ซับซ้อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 17% และ 25%จริงๆ

          นายแอนโทนี่ วิเคราะห์ สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ที่แต่ละประเทศเลือกสรรขึ้นมาเพื่อใช้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเริ่มจาก มาเลเซีย เลือกที่จะให้สิทธิผู้เข้ามาขอรับการสนับสนุนการลงทุนด้วยข้อเสนอพื้นฐาน คือ การให้สิทธิพิเศษทางภาษี 0% เป็นเวลา 10 ปี (คล้ายการยื่นขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ของไทย) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถขอเจรจาสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมเป็นรายกรณีได้ด้วย รัฐบาลมาเลเซียยินดีที่จะพิจารณาให้บนเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการต้องใช้ท่าเรือและท่าอากาศยานของมาเลเซียในการขนย้ายสินค้าตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจในประเทศ

    ด้านประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการพัฒนากฎหมายและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานรองรับการขยายธุรกิจมาเป็นระยะเวลานาน มีระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่ซับซ้อน ก็เลือกที่จะให้สิทธิผู้เข้ามาขอรับการสนับสนุนการลงทุนด้วยข้อเสนอพื้นฐาน คือการให้สิทธิพิเศษทางภาษี 0% เป็นเวลา 10 ปี

          “สิงคโปร์มีความเป็น HUB ด้านการลงทุนมานานแล้ว เขาพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ขึ้นมารองรับ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั้งด้านการธนาคาร  การเทรดดิ้ง เรียกว่าพร้อมทุกด้าน แต่รัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญกับการเจรจาสิทธิพิเศษเพิ่มเติมเป็นรายกรณี หากผู้ประกอบการต้องการเข้ามาลงทุนนานกว่า 20 ปี” นายแอนโทนี่ กล่าว
          ขณะที่พม่าซึ่งถือเป็นประเทศเปิดใหม่ ก็มีการออกกฎหมายใหม่และพยายามปรับแก้กฎหมายหลายฉบับโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แต่ประเด็นที่น่าห่วงในพม่าคือ ไม่ค่อยมีการระบุเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจนการเข้าลงทุนในพม่า  รวมถึงยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านการตีความกฎหมาย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างยากลำบาก นักลงทุนจึงต้องอาศัยการเจรจาข้อกฎหมายต่างๆ ให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น

“กฎหมายพม่าร่างขึ้นมาเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ที่จะนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้จะมีความเข้าใจในข้อกฎหมายแค่ไหน  รวมถึงมีความสามารถในการตีความแค่ไหน ดังนั้น ต้องอาศัยการพูดคุยที่ชัดเจนอย่างเดียวว่า คุณจะได้รับสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ตอนไหนเริ่มดำเนินธุรกิจ หรือเริ่มลงทุนในธุรกิจ” นายแอนโทนี่ กล่าว

       นายแอนโทนี่ ระบุถึงสาเหตุสำคัญที่นักธุรกิจต่างชาติสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพม่าว่า พม่าเป็นประเทศเปิดใหม่ นักธุรกิจสามารถต่อรองสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้มาก โดยเฉพาะการเข้าไปทำธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากอัตราการบริโภคภายในประเทศยังสูงมาก ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าได้ผลตอบแทนมูลค่ามหาศาลอย่างแน่นอน

    “จากการสังเกตส่วนตัวพม่าเปิดประเทศเพื่อต้องการให้นักธุรกิจชาติตะวันตก เข้าไปคานอำนาจการลงทุนจากจีน  และประเทศที่พม่าอยากร่วมลงทุน หรือเชิญชวนให้เข้าไปลงทุนประเทศแรกคือไทย ดังนั้น หากต้องการเข้าไปลงทุนในพม่าการศึกษากฎหมายประกอบการลงทุน ควบคู่การร่างสัญญาที่ชัดเจนสามารถบังคับใช้ได้จริงในศาลพม่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง” นายแอนโทนี่ กล่าว

       ในตอนท้าย นายแอนโทนี่แสดงทรรศนะว่า ไทยน่าจะร่วมมือกับกลุ่มประเทศ CLMV ด้วยการนำข้อดีของแต่ละประเทศมารวมกัน เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากกว่าจะแยกกันออกมาตรการแข่งขันกันเอง เพราะท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาต่อรอง และเรียกร้องข้อตกลงเป็นการเฉพาะในแต่ละประเทศจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดไป ในขณะที่เจ้าของประเทศเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งทรัพยากรด้านต่างๆ  มลพิษที่เพิ่มขึ้น   การแข่งกันกับนักธุรกิจในประเทศ  ต้นทุนการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้น  และสิ่งสำคัญการจัดเก็บรายได้เข้าประเทศไม่เต็มศักยภาพ ทำให้รัฐบาลขาดงบประมาณในการพัฒนาประเทศแข่งขันกับคู่แข่ง ซึ่งที่จริงแล้วก็คือประเทศของกลุ่มนักลงทุนเหล่านั้นนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น