xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : การบริหารจัดการในภาวะวิกฤตการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ดร.สหนนท์ ตั้งเบ็ญจสิริกุล
บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด
(ดีลอยท์ ประเทศไทย)

จากการติดตามข่าวสารในสื่อต่างๆ นั้น เราจะพบว่า ชุมนุมทางการเมืองได้กลายเป็นปรากฏการณ์ปกติอันหนึ่ง ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตการเมืองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย การชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มีความตึงเครียดมาตั้งแต่ปลายปี 2556 จนกลายเป็นวิกฤตการเมืองต่อเนื่อง จนถึง แบก์ค็อกชัตดาวน์ (Bangkok Shutdown) เริ่มเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2557 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้าง และยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะยุติลงอย่างไรและเมื่อใด หากวิกฤตครั้งนี้ยืดเยื้อและส่อว่าจะมีการใช้ความรุนแรง บริษัทต่างๆ จะประสบกับความยากลำบากทั้งในแง่ของการดำเนินงานและการบริหารเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้น

ลูกค้าต่างชาติของดีลอยท์มองว่า วิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายด้าน เช่น ระบบลอจิสติกส์และซัปพลายเชนเกิดการสะดุด รายได้จากการดำเนินธุรกิจหดตัว บริษัทบางแห่งหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราว ทั้งนี้ ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย และยกเลิกการจองห้องพักในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างได้รับผลกระทบ คือ ยอดขายที่อยู่อาศัยชะลอตัว และโครงการก่อสร้างเกิดความล้าช้า สำหรับบริษัทญี่ปุ่น ที่ประกอบธุรกิจบริการด้านการเงินและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีความวิตกกังวลว่าถ้าวิกฤตการเมืองครั้งนี้ยืดเยื้อจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างมาก และการลงทุนในโครงการใหม่ๆ จะชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทที่ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตด้านต่างๆ เป็นอย่างดี มีแนวโน้มที่จะสามารถลดผลกระทบจากวิกฤตการเมืองครั้งนี้ได้ดี และยังอาจแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสามารถในการตอบสนองและฟื้นตัวจากวิกฤตการเมืองได้อย่างรวดเร็วถือเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ดังนั้นบริษัทควรจะพัฒนาแนวทางรับมือภาวะวิกฤต (Business Continuity Management) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และมีแผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) เพื่อพร้อมรับวิกฤตการเมืองและวิกฤตด้านอื่นๆ นอกจากนี้แล้ว ผู้บริหารระดับสูงต้องแสดงความเป็นผู้นำและจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต่างๆ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตได้อย่างทันท่วงที

จากการที่มีผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง และอาจสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงได้ทุกขณะ บริษัทห้างร้านต่างๆ ควรเตรียมกลยุทธ์รับมือภาวะวิกฤตและแผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องให้พร้อมเสมอ โดยในระยะ 1-2 เดือนนี้ผู้บริหารระดับสูงควรให้ความสำคัญต่อ

•การบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยมีแผนการทำงานของพนักงานในภาวะวิกฤต เพื่อไม่ให้การบริการลูกค้าเกิดการชะงัก

•การบริหารเงินสดและสภาพคล่อง เพื่อรักษาระดับเงินสดและสภาพคล่อง และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ

•การปรับราคาสินค้า/บริการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม และที่พักอาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เพื่อรักษาฐานลูกค้าและประคับประคองรายได้ให้อยู่ในระดับที่อยู่รอดได้

•การลดต้นทุนดำเนินงาน โดยบริษัทควรมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นและสามารถรักษาธุรกิจกับลูกค้าไปพร้อมๆ กัน เช่น การให้พนักงานสามารถทำงานจากที่พักอาศัย การประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

•การเคลมประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Claim หรือ BIC) ในกรณีที่บริษัททำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักไว้แล้ว บริษัทต้องตรวจสอบว่าสัญญาจะชดเชยค่าเสียหายอันเนื่องมาจากธุรกิจหยุดชะงักในกรณีใดบ้าง และต้องเข้าใจขั้นตอนการเคลมประกันภัยครั้งนี้ ซึ่งอาจแตกต่างจากการเคลมประกันภัยหลังจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

•การปรับแผนการขายและแผนปฏิบัติการ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนงานขายและปฏิบัติการได้อย่างเหมาะสม

•การปรับลดประมาณการผลกำไร คณะผู้บริหารระดับสูงต้องพิจารณาทบทวนเป้าหมายทางการเงิน และปรับประมาณการผลกำไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้น

กรณีที่วิกฤตการเมืองไทยเกิดยืดเยื้อถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 บริษัทต่างๆ ควรเตรียมแนวทางรับมือวิกฤต และแผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อสร้างระบบการทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่ปกติ ตัวอย่างของแผนงานในระยะยาว เช่น การรักษาฐานลูกค้า ปรับนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง / เจ้าหนี้การค้า ปรับห่วงโซ่อุปทาน ปรับโครงสร้างเงินทุนของกิจการ พิจารณาความเป็นไปได้ในการซื้อ และควบรวมกิจการ ปรับโครงสร้างองค์กร การสื่อสารแนวทางและแผนการรับมือวิกฤตให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ควรให้ความสำคัญ) เป็นต้น

ถึงแม้ว่าบริษัทได้สร้างแนวทางรับมือวิกฤตและมีแผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง และได้ทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรายังคงต้องพิจารณาประเด็นคำถามที่ท้าทาย ดังนี้

•ผู้บริหารระดับสูงได้กำหนดแนวทางกำกับดูแลกิจการในกรณีที่เกิดวิกฤตการเมืองและวิกฤตอื่นๆ อย่างชัดเจนหรือไม่

•ผู้บริหารระดับสูงได้กำหนดให้พนักงานทุกคนซ้อมแผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องอยู่เป็นประจำหรือไม่

•ผู้บริหารระดับสูงจัดสรรทรัพยากรและเงินลงทุนเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์รับมือวิกฤตและแผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องอย่างเพียงพอหรือไม่

กล่าวได้ว่า ประเด็นเหล่านี้สะท้อนถึงคุณภาพและขีดความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ของบริษัทในภาพรวม

โดยสรุป ผู้บริหารระดับสูงต้องกำหนดแนวทางรับมือภาวะวิกฤตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และต้องมีแผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องที่มีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของบริษัท เพื่อประคับประคองธุรกิจและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นในภาวะวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น