ทีโอทีเผย ดีลอยท์ ได้ตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินเพื่อเจรจาหาพันธมิตรแล้ว คาดได้รายชื่อปลายเดือน ส.ค.นี้ พร้อมตั้งทีมเจรจาใหม่ มั่นใจต้องได้ราคาที่พอใจมากที่สุด บทสรุปอาจไม่ได้จบที่บริษัทเดียว ขณะที่กรรมการทีโอทีเห็นด้วยสหภาพฯ ทีโอทีค้านประมูลความถี่ 900 MHz เตรียมสรุปมูลค่าความเสียหายร้องฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ติงเงื่อนไขมาตรการเยียวยาคลื่น 900 MHz ไม่เป็นธรรม
นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อทำธุรกิจ และช่วยให้ทีโอทีพลิกฟื้นองค์กร และลดปัญหาการขาดทุนว่า ขณะนี้ ดีลอยท์ บริษัทที่ปรึกษาในการคัดเลือกพันธมิตรได้ตัวเลขการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ของทีโอทีเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอการเป็นพันธมิตรทั้ง 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท โมบาย แอลทีอี, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้จะได้รายชื่อซึ่งอาจจะเป็นบริษัทเดียว หรือหลายบริษัทก็ได้ โดยความยากของการเจรจาคือ ทำอย่างไรให้ได้ราคาที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ทีโอทีเสนอมากที่สุด และทีโอทีต้องได้ข้อสรุปก่อนที่คลื่น 900 MHz จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. และถูกนำไปประมูลซึ่งจะมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินที่ดีลอยท์ประเมินไว้
ทั้งนี้ ทีโอทีได้ตั้งทีมเจรจาที่ทำงานร่วมกับดีลอยท์ ประกอบด้วย นายมนต์ชัย หนูสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ (ว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่) นายกำธร ไวทยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ นางปรียา ด่านชัยวิจิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบริหารทรัพย์สิน นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและบริการภาครัฐและภาคเอกชน และนายเชาว์ พันธ์รุ่งจิตติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาองค์กร
ด้าน นายมนต์ชัย กล่าวว่า เรื่องการหาพันธมิตรหากได้เอไอเอส ก็จะไม่กังวลเรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz แต่ตอนนี้กรรมการทีโอที เห็นด้วยต่อสหภาพฯ ทีโอทีเรื่องการคัดค้านการนำคลื่น 900 MHz ไปประมูล ด้วยการเดินสายคัดค้านการประมูลตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทางทีมผู้บริหารเองก็มีโซลูชัน และได้ประเมินมูลค่าความเสียหายไว้แล้วเช่นกัน แต่ไม่แน่ใจว่ามูลค่าของความเสียหายที่ประเมินจะต่างกันหรือไม่ ส่วนจะฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าหากจะคัดค้านควรจะค้านที่ใคร และในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะจัดนั้นทีโอทีต้องร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ทีโอทียังติดใจเรื่องการแก้ไขร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือคลื่น 900 MHz โดยระบุแก้ไขรายละเอียดในการจ่ายรายได้ไม่เหมือนกับเงื่อนไขการเยียวยาคลื่น 1800 MHz นั้นกรรมการบริษัทเห็นว่าทำให้ทีโอทีเสียเปรียบ
สำหรับความคืบหน้าในการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคำตอบ จากกระทรวงการคลัง ซึ่งทีโอทีได้ส่งรายชื่อไปให้กระทรวงการคลังแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
ด้าน นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.และ กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำเอกสาร และศึกษาข้อกฎหมายในสัญญาตามที่ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้อ้างถึงคณะกรรมการบริการคลื่นความถี่แห่งชาติ (กบถ.) ในการใช้สิทธิคลื่นความถี่ ที่ กบถ.จัดสรรให้แก่รัฐวิสาหกิจบริการคลื่นความถี่โดยไม่ได้กำหนดอายุนั้น กสทช.จะต้องหาเอกสารอ้างอิง และข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อมาชี้แจงแก่ทีโอที และ กสท เนื่องจากหาก 2 หน่วยงานที่กล่าวมา หากฟ้องร้องต่อ กสทช. ก็มีความเป็นไปได้ที่จะแพ้คดีดังกล่าว
Company Related Link :
ทีโอที