ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายวันที่ผ่านมา คดีใหญ่ที่มีนายตำรวจคนสำคัญตกเป็นผู้ต้องหาถือว่าสั่นสะท้านยุทธจักรสีกากีเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นประวัติศาสตร์วงการตำรวจไทย อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเมื่อปี 2537 พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ กับพวก ถูกจับในข้อหาฆาตกรรม นางดาราวดี และด.ช.เสรี ศรีธนะขันธ์ สองแม่ลูก และอดีตนายตำรวจชื่อดังเจ้าของฉายา “สิงห์เหนือ”หรือ “มือปราบพระกาฬ” ต้องจบลงในเรือนจำนานถึง 18 ปี จนอายุ 70 ปี อันมีคุณสมบัติได้สิทธิพักการลงโทษ
แม้จะออกมาใช้ชีวิตนอกที่คุมขังแล้ว แต่วิถีของพล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งถูกถอดยศ โดนเรียกคืนเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทั้งหมด
อนาคตทางราชการสูญสิ้น และ“คุกสังคม” ที่ไม่อาจสลัดออกไปได้ นี่คือการสิ้นอิสรภาพบนโลกกว้างตลอดชีวิตอย่างแท้จริง
มาถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 หรือถัดมาอีก 20 ปี เกิดคดีช็อกคนไทยทั้งประเทศ นั่นคือ การออกหมายจับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ อดีต ผบช.ก. กับพวกในข้อหาร้ายแรงรวมทั้งสิ้น 5 ข้อหา แต่หนักสุดก็คือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนการทุจริตในหน้าที่ มีการเรียกรับผลประโยชน์ รวมทั้งซื้อขายตำแหน่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร. นำทีมแถลงสื่อมวลชนพร้อมด้วยภาพขุมทรัพย์พันล้าน เป็นการปิดฉากความรุ่งโรจน์อดีต ผบช.ก. อย่างครบถ้วน รวดเร็ว
ระหว่างการดำเนินคดี และเตรียมถ่ายเลือดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ครั้งใหญ่ มีเรื่องหนึ่งที่ต้องการคำตอบจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั่นก็คือ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ได้นำเอาโครงการ“ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจะมีผลในปี 2555 จนถึงปี 2564 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 10 ปี
รายละเอียดของโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”ถูกอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า...."การบริหารงานตำรวจยุคใหม่แตกต่างจากการบริหารงานยุคเก่าโดยสิ้นเชิง ที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาจะใช้การบริหารแบบบนลงล่าง จะสั่งการให้ทำ กำหนดวิธีให้ปฏิบัติ จะใช้วิธีการจับผิดและลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม แต่การบริหารงานยุคใหม่ ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ชักจูงให้ตำรวจร่วมกันทำงาน โดยไม่ใช่การบังคับ ผู้บังคับบัญชา จะต้องมีความรู้ มีทักษะ มีประสบการณ์จริงๆ จึงเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้นำหน่วยได้ เพราะจะต้องให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ รู้เทคนิควิธีการทำงาน ตลอดจนใช้หลักจิตวิทยาเพื่อชักจูงให้ตำรวจร่วมมือกันทำงาน
ไม่ใช่การบังคับ เพราะความจริงเราไม่สามารถบังคับตำรวจให้ทำงานได้ ถ้าถูกบังคับ เขาก็จะทำเฉพาะต่อหน้าเท่านั้น
ผู้บริหารยุคใหม่ต้องยอมรับในเรื่องนี้ การทำงานโดยไม่รู้ ไม่ได้ศึกษา จึงใช้วิธีการทำงานที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องทำงานหนักกว่าตำรวจเมืองนอก ในขณะที่ผลงานกลับด้อยกว่า เพราะอาชญากรรมไม่ลดลง ประชาชนไม่ชอบตำรวจ เนื่องจากตำรวจไทยเข้าใจว่าการทำงานตำรวจมีเรื่องเดียวคือการจับกุมคนร้าย หรือทฤษฎีบังคับใช้กฏหมาย
ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ เป็นทฤษฎีตรงข้ามกับ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” โดยตำรวจชุมชนสัมพันธ์ เป็นการดำเนินงานในลักษณะบนลงล่าง ตำรวจเป็นฝ่ายกำหนดกิจกรรมเองทั้งหมด ประชาชนเป็นฝ่ายให้ความร่วมมือในกิจกรรมของตำรวจ โดยไม่ได้เอาข้อมูลฝ่ายประชาชนมากำหนดกิจกรรมที่จะทำ
สิ่งที่ตำรวจทำอาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการของประชาชนก็ได้ ประชาชนยังคงไม่ชอบตำรวจ ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่ในโลก เลิกใช้ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ไปแล้ว
สำหรับตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เป็นการดำเนินงานในแบบล่างขึ้นบน เริ่มต้นจากความไว้เนื้อเชื่อใจ นำไปสู่ความร่วมมือ ทำกิจกรรม ประชาชนเป็นผู้บอกปัญหา และให้ความร่วมมือในการวางแผนดำเนินกิจกรรม จึงสนองตอบความต้องการของประชาชน ผลลัพธ์ที่ได้ จึงสามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ และสามารถลดอาชญากรรมได้จริง ซึ่งตำรวจกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกยอมรับ และเปลี่ยนจากตำรวจชุมชนสัมพันธ์มาเป็นตำรวจผู้รับใช้ชุมชน นานแล้ว
งานตำรวจไม่ใช่เพียงจับกุม ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องทำแต่ยังไม่เคยทำ แม้ว่าตำรวจมุ่งจับกุม จนมีสถิติตัวเลขมากเพียงใด ถือว่าทำงานในหน้าที่ตำรวจเพียงเสี้ยวเดียว งานส่วนใหญ่จับกุมจนมีสถิติตัวเลขมากเพียงใดถือว่าทำงานในหน้าที่ตำรวจเพียวเสี้ยวเดียว งานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำ อาชญากรรมจึงไม่ลด ปัญหาสังคมจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆประชาชนมองตำรวจในภาพลักษณ์ไม่ดี ทุกวันนี้ตำรวจทำงานด้านจับกุมเพียงอย่างเดียวพอจับไม่ได้ ถูกคนอื่นโจมตีเรื่องการจับกุม เราไม่สามารถชี้แจงอะไรได้เพราะเราไม่ได้ทำงานด้านอื่นด้วย
เช่นถ้ามีคนแฉเรื่องแหล่งอบายมุขตำรวจตกใจกันหมด ทำอะไรไม่ถูก
จริงๆ แล้วถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งในสังคม ทุกสังคมมีผู้กระทำผิดกฎหมายเสมอ แหล่งอบายมุขเป็นเพียงอาชญากรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีในสังคมขอให้ตำรวจไม่ต้องเสียขวัญ ไม่ต้องเสียกำลังใจ ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด…."
ทั้งหมดคือการอธิบายจากปากของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ อดีตผบช.ก.เจ้าของโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”ซึ่งบัดนี้กลายเป็นผู้ต้องหาคดีสำคัญ ทั้งหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฏหมายอาญา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148-149 ฐานเป็นเจ้าพนักงานจูงใจให้ผู้อื่นมอบผลประโยชน์ และเรียกรับผลประโยชน์ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ท่านผบ.ตร.มีความคิดเห็นอย่างไร...ไม่จำเป็นต้องให้คำตอบในเร็ววัน แต่เป็นเรื่องที่ท่านต้องแสดงท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้จะเลือกอยู่เฉยๆ ให้บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อไปจนถึงปี 2564 ก็ถือได้ว่า นั่นคือการตัดสินใจของผู้นำตำรวจ