xs
xsm
sm
md
lg

"โภคิน"ถกกมธ.ยกร่างฯ ชงตั้งกก.ปรองดอง3ฝ่าย-นิรโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (26 พ.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เวลา 09.30 น.วันนี้ (27พ.ย.)กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรับฟังความคิดเห็น และหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็น "จะยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สังคมไทยมีอนาคตที่ดีเพื่อส่งมอบให้ลูกหลานได้อย่างไร ?" ในลักษณะที่เป็นความเห็นส่วนตัวจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ไม่มาตามคำเชิญและขอสละสิทธิ์แล้ว สำหรับพรรคเพื่อไทย ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการประสานเป็นการภายใน
แหล่งข่าวระดับสูงใน กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า กมธ.ยกร่างฯได้มีการประสานงานเป็นการส่วนตัวกับ นายโภคิน พลกุล คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ซึ่งล่าสุดนายโภคิน ตอบรับที่จะมารับฟังความคิดเห็น และหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ โดยจะมาในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามพรรคเพื่อไทย

**ชงกมธ.ตั้งกก.ปรองดอง3ฝ่าย

ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรอบยกร่าง ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 ว่าด้วยการสร้างความปรองดอง โดยจะเสนอกรอบไปยังกมธ.ยกร่างฯ ให้จัดตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดอง 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน โดย 2 ฝ่ายให้มาจากคู่ขัดแย้ง และอีกฝ่ายมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจเจรจาไกล่เกลี่ย สร้างความปรองดอง
และเป็นที่ยอมรับของ 2 ฝ่าย โดยข้อเสนอนี้จะต้องให้กมธ.ยกร่างฯ ได้อภิปรายว่าจะเห็นชอบให้บรรจุไว้เป็นมาตราในรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ หรือไม่ ทั้งนี้อนุกมธ. เชื่อว่า ข้อเสนอนี้จะเป็นพื้นฐานเพื่อให้เกิดความยอมรับ
นอกจากนั้น อนุกมธ. ยังเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯให้นิรโทษกรรมคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่าย ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเดินขบวนจนนำไปสู่จลาจลความวุ่นวาย ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ โดยจะนิรโทษกรรมนับแต่ปี 2548 จนถึงก่อนเหตุการณ์ยึดอำนาจการปกครองปี 2557 โดยจะไม่นิรโทษกรรม กรณีผู้ที่กระทำความผิดที่ถึงแก่ความตาย รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนจะออกเป็น พ.ร.บ. หรือบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ จะต้องให้กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณา ซึ่งภารกิจของอนุ กมธ.ได้เสร็จสิ้นแล้ว
เมื่อถามว่า ข้อเสนอให้นิรโทษกรรมเหตุการณ์ชุมนุม เชื่อว่าจะไม่เป็นชนวนให้นำไปสู่การต่อต้าน ใช่หรือไม่ นายเอนก กล่าวว่า "ผมถึงบอก แล้วแต่ 2 ฝ่าย แล้วแต่ประชาชนจะพิจารณา แต่อยากวิงวอนให้เราเข้าสู่โหมดปรองดอง โดยยอมรับความคิดที่หลากหลาย เพราะบ้านเมืองถ้ายังแตกหักอยู่ ก็จะเสียหายอย่างหนัก" นายเอนก กล่าว

**ใช้งบ80ล้านตั้งอนุฯ77 จังหวัด

นายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ในรายละเอียดงานที่สำคัญ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุฯ กมธ.ประจำจังหวัด รวมทั้งสิ้น 77 จังหวัด โดยมีโครงสร้างให้ สปช.ประจำจังหวัดนั้นๆเป็นประธาน อนุกมธ.ฯ และมีเครือข่ายภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นคณะทำงาน โดยได้ขอให้ สปช.จังหวัด ได้เร่งตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอขอความเห็นและขออนุมัติจาก กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยเร็ว
ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบการทำงาน ที่สำคัญ คือการจัดเวที ที่จะทำ 2 รูปแบบ คือ 1. เวทีระดับจังหวัด ในหัวข้อ “ร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย”และ 2. รูปแบบของเวทีตามประเด็นปฏิรูป ของกมธ.ปฏิรูป ทั้ง18 ด้าน ทั้งนี้ มีเป้าหมายของการจัดเวทีทั้งหมด 1,350 เวที คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 70,000 คน
นอกจากนั้น ยังมีแผนงานว่าด้วยการสร้างเครือข่ายสื่อสารสาธารณะ เพื่อการรับรู้และความเข้าใจของสังคมวงกว้าง มีวิธีทำงาน คือ
1. จัดให้มีรายการประจำทางฟรีทีวี และทีวีผ่านระบบดาวเทียม จำนวน 5 ช่อง และวิทยุ จำนวน 10 สถานี เพื่อสื่อสารเจตนารมย์ เนื้อหา และความคืบหน้าในการปฏิรูปของสปช. ตลอดการทำงาน12 เดือน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10 ล้านคน โดยกรณีนี้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ได้ปรับผังรายการรายวัน ซึ่งช่วงเวลา 08.30-21.00 น. จะมีรายการของ สปช. ที่มีชื่อรายการเบื้องต้นว่า "เวทีปฏิรูปสัญจร" ทั้งนี้การทำงานจะมีสถานีโทรทัศน์ในจังหวัดต่างๆ รวม 62 แห่งรองรับ และมีสถานีวิทยุ 141 คลื่นร่วมด้วย ซึ่งจะเริ่มออกอากาศได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. นี้ 2. ทำระบบเครือข่ายสังคมทางโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Twitter เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มประชาชนยุคดิจิตอล ทั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10 ล้านคน
สำหรับกรอบงบประมาณได้กำหนดไว้ไม่เกิน 80 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. งบประมาณสำหรับการมีส่วนร่วมระดับจังหวัด จำนวน 36 ล้านบาท, 2. แผนงานเครือข่ายเชิงประเด็นในการจัดเวทีของสปช. ในประเด็นข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นปฏิรูป 18 เรื่อง จำนวน 4ล้านบาท, 3. แผนงานสื่อสาธารณะ จำนวน 18 ล้านบาท, 4. แผนงานรณรงค์สังคมและเวทีเชิงคุณภาพ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิรูป จำนวน 18 ล้านบาท, 5. แผนงานสังเคราะห์ประเด็นการปฏิรูป เพื่อส่งต่อและขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 3 ล้านบาท และ 6. แผนงานประสานภายในระหว่าง กมธ.ปฏิรูป และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ล้านบาท ทั้งนี้แผนงานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น