xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.การมีส่วนร่วมตั้งอนุฯ 77 จว. เทงบ 80 ล้าน จับมือทีวี-วิทยุ-โซเซียลรับฟัง ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชา เตรัตน์ ปธ.กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.การมีส่วนร่วมรับฟังฯ เผยที่ประชุมเห็นชอบตั้งคณะอนุ กมธ.ประจำ 77 จว. มี สปช.จว.นั่งประธาน เทงบไม่เกิน 80 ล้านร่วมมือช่อง 11 ฟรีทีวี วิทยุ และโซเชียลฯ รับฟังความเห็นประชาชน เริ่ม 1 ธ.ค.

วันนี้ (26 พ.ย.) นายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ รายละเอียดงานที่สำคัญ ขอได้ให้ความเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุ กมธ.การมีส่วนร่วมฯ ประจำจังหวัดและกรอบการทำงานของคณะ กมธ.โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุ กมธ.ประจำจังหวัด รวมทั้งสิ้น 77 จังหวัด โดยมีโครงสร้างให้ สปช.ประจำจังหวัดนั้นๆ เป็นประธานอนุ กมธ. และมีเครือข่ายภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นคณะทำงาน โดยได้ขอให้ สปช.จังหวัดได้เร่งตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอขอความเห็นและขออนุมัติจาก กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นประชาชนโดยเร็ว

ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบการทำงาน ที่สำคัญ คือ การจัดเวทีที่จะทำ 2 รูปแบบ คือ 1. เวทีระดับจังหวัด ในหัวข้อ “ร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย” และ 2. รูปแบบของเวทีตามประเด็นปฏิรูปของ กมธ.ปฏิรูป ทั้ง 18 ด้าน ทั้งนี้มีเป้าหมายของการจัดเวทีทั้งหมด 1,350 เวที คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 70,000 คน นอกจากนั้นยังมีแผนงานว่าด้วยการสร้างเครือข่ายสื่อสารสาธารณะ เพื่อการรับรู้และความเข้าใจของสังคมวงกว้าง มีวิธีทำงาน คือ 1. จัดให้มีรายการประจำทางฟรีทีวีและทีวีผ่านระบบดาวเทียม จำนวน 5 ช่อง และวิทยุ จำนวน 10 สถานีเพื่อสื่อสารเจตนารมณ์ เนื้อหา และความคืบหน้าในการปฏิรูปของ สปช. ตลอดการทำงาน 12 เดือนโดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10 ล้านคน

โดยกรณีนี้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า ได้ปรับผังรายการรายวันซึ่งช่วงเวลา 08.30-21.00 น.จะมีรายการของ สปช.ที่มีชื่อรายการเบื้องต้นว่า “เวทีปฏิรูปสัญจร” ทั้งนี้ การทำงานจะมีสถานีโทรทัศน์ในจังหวัดต่างๆ รวม 62 แห่งรองรับและมีสถานีวิทยุ 141 คลื่นร่วมด้วย ซึ่งจะเริ่มออกอากาศได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ 2. ทำระบบเครือข่ายสังคมทางโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Twitter เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มประชาชนยุคดิจิตอล มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 10 ล้านคน สำหรับกรอบงบประมาณได้กำหนดไว้ไม่เกิน 80 ล้านบาท แบ่งเป็น (1. งบประมาณสำหรับการมีส่วนร่วมระดับจังหวัด จำนวน 36 ล้านบาท (2. แผนงานเครือข่ายเชิงประเด็นในการจัดเวทีของสปช. ในประเด็นข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นปฏิรูป 18 เรื่อง จำนวน 4 ล้านบาท (3. แผนงานสื่อสาธารณะ จำนวน 18 ล้านบาท (4. แผนงานรณรงค์สังคมและเวทีเชิงคุณภาพ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิรูป จำนวน 18 ล้านบาท (5. แผนงานสังเคราะห์ประเด็นการปฏิรูป เพื่อส่งต่อและขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 3 ล้านบาท และ (6. แผนงานประสานภายในระหว่าง กมธ.ปฏิรูป และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ล้านบาท ทั้งนี้แผนงานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น