xs
xsm
sm
md
lg

แก้กฎหมายของ ป.ป.ช. ไม่อยู่ในสายตารัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ในขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบไปกับข้อเสนอที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงกติกาบ้านเมือง ตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปจนถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในส่วนขององค์กรอิสระต่างๆ สิ่งที่เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น คือ ผู้ชักแม่น้ำทั้งห้ามีธงที่จะเดินหน้าในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว
ภาพสะท้อนที่ยืนยันในเรื่องนี้คือ ท่าทีของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เนติบริกรของทักษิณ มือกฎหมายของคสช. ที่ออกมาแสดงท่าทีไม่ใยดีต่อกฎหมายที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ ด้วยการระบุว่า
“ได้รับเรื่องที่ป.ป.ช.เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมครม. เพราะฉะนั้นครม.ไม่รับรู้ในส่วนนี้ และไม่จำเป็นต้องส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้อำนาจเปิดช่องทางให้องค์กรที่รักษาการตามกฎหมายเสนอเองได้ ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่า ป.ป.ช. เพิ่มอำนาจให้ตัวเองนั้น ก็ต้องเสนอสภา ซึ่งสภาสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ โดยบางส่วนอาจจำเป็นต้องแก้อย่างเร่งด่วน แต่บางส่วนสามารถรอได้ เพราะเรายังไม่รู้ว่า สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกแบบรูปร่างหน้าตาองค์กรอิสระเป็นอย่างไร”
คำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการปัดความรับผิดชอบออกจากคณะรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิง ซึ่งสวนทางกับคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่ให้คำมั่นกับสังคมมาโดยตลอดว่า จะเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน พร้อมที่จะแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่เคยขยับดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการออกมาตรการ หรือแก้กฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยให้การดำเนินคดีกับคนโกงไหลลื่นมากกว่าที่เป็นอยู่
เมื่อ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเสนอแก้กฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ใช้กฎหมายไปยัง ครม. แทนที่ครม. ของพล.อ.ประยุทธ์ จะมีความกระตือรือล้น พิจารณารายละเอียดเพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ป.ป.ช.ประสบ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่จำเป็น เพื่อให้การทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีความคล่องตัวมากขึ้น กลับส่ง วิษณุ ออกมาปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไม่มีเยื่อใย โดยโยนให้เป็นภาระหน้าที่ของป.ป.ช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณา
ทั้งๆ ที่ในการแต่งตั้ง สนช. เข้ามาทำงานก็ให้เหตุผลว่า เพื่อมาผลักดันกฎหมายที่จำเป็นตามนโยบายของรัฐบาล แต่พอป.ป.ช.เสนอกฎหมายให้แก้ไข ครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ กลับทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำให้ไม่สามารถมองเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือไม่ก็มีพิมพ์เขียวที่ต้องการเขียนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ใหม่เอาไว้อยู่แล้ว
**การแก้กฎหมายของ ป.ป.ช. จึงไม่อยู่ในสายตา
ท่าทีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ ครม. และตัวพล.อ.ประยุทธ์ เพราะประชาชนคาดหวังว่า รัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับการแก้โกง แต่ก็ผิดหวังมาแล้วหลายครั้งจากความไม่ชัดเจนของคสช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า โดยเฉพาะเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่คสช.ไม่กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนเกิดปัญหาข้อกฎหมายที่ยังถกเถียงกันไม่เลิก ว่าจะเอาผิดกับคนที่กระทำชำเรากับรัฐธรรมนูญปี 50 ในประเด็นการแก้ไขที่มาส.ว.ได้หรือไม่ ซึ่งแนวโน้มค่อนข้างจะชัดว่า สุดท้ายคนชั่วกำลังจะลอยนวลจากการไม่เขียนกติกาให้ชัดเจนของ คสช.
**ไม่เพียงเท่านั้น อาการยึกยักของอัยการสูงสุดที่ยังไม่ยอมส่งฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ คสช. ถูกตั้งคำถามมากว่าไม่จริงจังกับการเอาผิดกับคนที่ทำให้ชาติเกือบหายนะ จากโครงการประชานิยมที่ไร้ความรับผิดชอบจนทำให้สูญงบประมาณไปเกือบ 9 แสนล้านบาท ขาดทุนถึง 5.19 แสนล้านบาท
เพราะถ้า คสช. ซึ่งมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ เอาจริงเอาจังกับการหาคนผิดมาลงโทษ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่อัยการสูงสุด จะออกอาการยึกยักอย่างที่เป็นอยู่ เนื่องจากมีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า อำนาจเต็มที่คสช.มีอยู่ในมือนั้น สามารถปลดอัยการสูงสุดได้ในพริบตา ไม่เช่นนั้น ตระกูล วินิจนัยภาค คงไม่มีโอกาสได้เป็น อัยการสูงสุด แทน อรรถพล ใหญ่สว่าง อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
**เมื่อ คสช.เป็นคนตั้ง ตระกูล เป็นอัยการสูงสุดมากับมือ เหตุใดจึงยอมให้อัยการสูงสุดคนนี้ถ่วงเวลาการฟ้องคดียิ่งลักษณ์ ออกไปโดยไม่ดำเนินการใดๆ เลย คำถามนี้มีเพียงคำตอบเดียวที่ประชาชนคิดได้คือ สิ่งที่ตระกูลทำ ไม่ได้ขัดแย้งกับแนวทางที่ คสช. ต้องการ
ยิ่งเมื่อ ป.ป.ช.เสนอแก้กฎหมายโดยมีประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งคือ การเพิ่มอำนาจฟ้องให้กับป.ป.ช.โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ให้มีอัยการประจำ ป.ป.ช. มาทำหน้าที่ฟ้องเอง แต่ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนใจ ไม่สนับสนุน โยนให้สนช.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งก็ทำให้พอมองเห็นภาพว่า การแก้ไขกฎหมายของ ป.ป.ช. คงไม่สำเร็จอย่างที่หวัง
**แล้วประชาชนล่ะ ยังหวังกับคสช.และพล.อ.ประยุทธ์ ได้มั้ย ?
กำลังโหลดความคิดเห็น