คปพ. แถลงเรียกร้อง “ประยุทธ์” อาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ถอน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ออกจาก สนช. เผยล่า 1 หมื่นรายชื่อ ยังขาดอีกมาก ขอประชาชนร่วมลงชื่อได้ที่เว็บไซต์ คปพ.com พร้อมแฉที่สันติอโศก มีเจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางไม่ให้เข้าชื่อ เตือนระวังผิดกฎหมาย เพราะผู้ริเริ่มมีสิทธิล่าชื่อได้
วันนี้ (26 มิ.ย.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ก้าวต่อไปของภาคประชาชน หลัง สนช. รับหลักการ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ฉบับลับ-ลวง-พราง สัมปทานจำแลง” โดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้อ่านแถลงการณ์ว่า หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ไปแล้ว นั่นหมายถึงว่า การแก้ไขหลักการไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก คปพ. จึงเห็นว่า
ประการที่ 1 จำเป็นอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จำเป็นต้องทบทวนเพื่อทำการถอนร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับออกจาก สนช. เพราะ สนช. ชุดนี้ถูกแต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช. ด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ถ้าจะหยุดยั้งได้ ก็โดยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เพียงประการเดียวเท่านั้น
ประการที่ 2 เรียกร้องขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ออกจาก สนช. เฉกเช่นเดียวกับกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รัฐบาลสามารถส่งสัญญาณให้ถอนร่างออกจาก สนช. ได้
การดำเนินการในประการที่สองจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องเข้าชื่อเสนอ พ.ร.บ. การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯ ที่จัดทำร่างโดยภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ครบ 1 หมื่นรายชื่อ และยังจำเป็นต้องการอีกจำนวนมาก พี่น้องประชาชนสามารถร่วมเข้าชื่อได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นภารกิจสำคัญ เพราะจะอาศัยการเข้าชื่อนี้ดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ 1. ยื่นจดหมายพร้อมเสียงเรียกร้องของประชาชน ว่ากฎหมายของรัฐบาลที่อยู่ในชั้นของกรรมาธิการของ สนช. นั้น ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะนายกฯเคยรับปากประชาชนตั้งแต่ปี 2558 ว่า ที่มีการแก้ไขกฎหมายเพราะประชาชนเรียกร้องให้มีระบบผลิตปิโตรลียมที่โปร่งใสเป็นธรรม การเข้าชื่อของประชาชนย่อมแสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่รัฐบาลเสนออยู่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน ถ้ารายชื่อครบหรือมากเกินกว่าที่คาดการณ์ เราจะนัดหมายโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนแสดงตัวตนในการที่จะเข้าชื่อครั้งนี้ และจะแสดงตัวตนวันยื่นจดหมายถึงนายกฯด้วย และวันเดียวกัน ถ้ารายชื่อครบ เราจะเดินทางจากทำเนียบฯไปยังรัฐสภา เพื่อนำรายชื่อที่เกินจำนวนเหล่านั้นไปเสนอต่อประธาน สนช. เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าประชาชนเข้าชื่อครบจำนวนเรียบร้อยแล้ว
“ขอย้ำว่า ภารกิจของภาคประชาชนในครั้งนี้ ไม่ใช่การแปรญัตติแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ แต่เป้าหมายครั้งนี้ คือ เรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างนี้ออกจาก สนช.” นายปานเทพ กล่าว
ประการที่ 3 นับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ที่ประชาชนได้ดำเนินการเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 20 คน เพื่อเป็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯ นับจากวันที่ริเริ่ม ประชาชนมากกว่า 20 คนนั้น ย่อมมีสิทธิเป็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายของประชาชน และล่ารายชื่อ ฉะนั้น ไม่ควรมีเจ้าหน้าที่รัฐมาขัดขวาง ซึ่งวันนี้ (26 มิ.ย.) พบว่า มีกระบวนการขัดขวางไม่ให้ภาคประชาชนล่ารายชื่อครบ 1 หมื่นคน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นที่สันติอโศก ซอยนวมินทร์ 46 เราเห็นว่า กระบวนการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐขาดความชอบธรรม ขาดความจริงใจในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เข้าข่ายการทำผิดกฎหมายได้ เพราะการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผู้ริเริ่มมีสิทธิเป็นผู้ล่ารายชื่อได้ นี่ไม่ใช่การชุมนุม ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดกีดขวาง
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อนำไปสู่การคัดค้านร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ รวมถึงการแสดงตนยื่นจดหมายต่อ สนช. เพื่อเสนอ พ.ร.บ. การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯ โดยลงลายมือชื่อพร้อมบัตรประชาชน ได้ที่เว็บไซต์ คปพ.com (www.gasthai.com/1111/index.html)