ผ่าประเด็นร้อน
หากพิจารณาจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ว่าต้องมีไม่เกิน 220 คน ความหมายก็คือ ตั้งน้อยกว่านั้นก็ได้ แต่ห้ามเกินจำนวนดังกล่าว เริ่มต้นอาจมีแค่ 200 คน แล้วจากนั้นค่อยแต่งตั้งเพิ่มเติมในภายหลังเพื่อ “ความเหมาะสม” ก็ได้
อย่างไรก็ดี ล่าสุดก่อนที่จะมีการประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกมาก็ได้เห็นรูปแบบในการพิจารณาออกมาให้เห็นล่วงหน้าได้ชัดขึ้น นั่นคือจากคำพูดของ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ อีกด้วยเปิดเผยว่า “ในส่วนของกองทัพอากาศได้รับโควตา สนช.มาจำนวน 20 ที่นั่ง” และในเบื้องต้นได้เสนอชื่อไปให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาแล้วจำนวน 10 คน ซึ่งเป็นชุดแรก ส่วนชุดต่อไปที่เหลืออีก 10 คนจะเสนอไปในคราวต่อไปซึ่งยังไม่ได้กำหนดเวลา
โดยในสัดส่วนของกองทัพอากาศที่เสนอไป 10 คนนั้นได้พิจารณาจากนายทหารที่มีความรู้ความสามารถเพื่อไปทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงประสานกับ รัฐบาล คสช.และสภาปฏิรูปแห่งชาติ
จากคำพูดของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ที่บอกว่า “สำหรับโควตาของกองทัพอื่น ไม่ทราบว่าได้จำนวนเท่าใด แต่ ทอ.ได้โควตา 20 คน เสนอไปให้พิจารณาแล้ว 10 คน” ความหมายก็คือ “กองทัพอื่นก็ต้องมีโควตาในลักษณะเดียวกัน” เพียงแต่ไม่รู้จำนวนว่าเท่าใดเท่านั้น
หากพิจารณาจากองค์ประกอบของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่มีทั้ง กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ รวมทั้งแยกย่อยรวมถึงสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าไปอีก แต่ละหน่วยงานก็ต้องมีโควตาเหมือนกับที่กองทัพอากาศได้รับ
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าต้องมี “โควตาพิเศษ” ของหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน และยังเชื่อว่าในจำนวนของ สนช.จะต้องมีโควตาจากกองทัพบกในสัดส่วนที่มากที่สุดอีกด้วย
นั่นเป็นที่มาของสมาชิก สนช.ที่เรียกว่ามาจาก “สายแข็ง” ส่วนจะเป็นใครเป็นไปตามคาดหมายหรือไม่ กำลังได้เห็นกันแล้ว
แต่กระนั้นหากพิจารณากันตามความเป็นจริงก็ต้องถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะอยู่ในช่วง “สถานการณ์ไม่ปกติ” เป็นการควบคุมอำนาจโดยทหารและกองทัพ มันก็ต้องแน่นอนอยู่แล้วว่าทุกหน่วยงานต้องอยู่ภายใต้ทหารที่ขึ้นตรงต่อ คสช.และขึ้นตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ภายใต้กฎอัยการศึก คุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ เพียงแต่ว่าเป้าหมายและผลงานที่ออกมามันเข้าเป้าและเกิด “ผลสัมฤทธิ์” หรือเปล่า นี่แหละคือคำถาม
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในอนาคต ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะต้องทำหน้าที่เป็น 1 ใน 3 สถาบันหลัก นั่นคือสถาบันนิติบัญญัติ ทำหน้าที่รับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ลงมติถอดถอนนายกฯ และส่งตัวแทนไปร่วมเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เป็นต้น
เมื่อได้เห็นบทบาทของ สนช.ในวันหน้าก็ต้องบอกว่ามีส่วนสำคัญและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง มีผลต่อการปฏิรูปประเทศอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ต้องลุ้นกันเฉพาะหน้าก็คือ ผลการพิจารณาคัดเลือกในขั้นสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเป็นคนกำหนดว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ได้คนมีความรู้ความสามารถตามต้องการจริงหรือเปล่า หรือเพียงแค่ตรายาง ไม่มีปากเสียงอย่างที่หลายคนปรามาสเอาไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า
ดังนั้นในเรื่องของโควตาใคร นาทีนี้ไม่มีความหมาย เพราะสถานการณ์บังคับให้ต้องเดินไปแบบนั้น เพียงแต่ว่าบทบาทและผลงานของแต่ละคนใน สนช.ที่จะออกมาต่างหากที่สังคมต้องรอดูว่าผลที่ออกมาได้ทำเพื่อคนส่วนใหญ่หรือไม่ ขณะเดียวกันสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะคนคัดเลือกก็ต้องรับผิดชอบเต็มที่อยู่แล้วสำหรับผลที่จะออกมา เพราะเขาเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ!!