xs
xsm
sm
md
lg

แก้กฎหมายของ ป.ป.ช.ไม่อยู่ในสายตารัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 วิษณุ เครืองาม
รายงานการเมือง

ในขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบไปกับข้อเสนอที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงกติกาบ้านเมือง ตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปจนถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในส่วนขององค์กรอิสระต่างๆ สิ่งที่เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น คือ ผู้ชักแม่น้ำทั้งห้ามีธงที่จะเดินหน้าในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว

ภาพสะท้อนที่ยืนยันในเรื่องนี้คือท่าทีของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เนติบริกรของทักษิณมือกฎหมายของคสช. ที่ออกมาแสดงท่าทีไม่ไยดีต่อกฎหมายที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอด้วยการระบุว่า

“ได้รับเรื่องที่ ป.ป.ช. เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพราะฉะนั้น ครม. ไม่รับรู้ในส่วนนี้ และไม่จำเป็นต้องส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจเปิดช่องทางให้องค์กรที่รักษาการตามกฎหมายเสนอเองได้ ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่า ป.ป.ช. เพิ่มอำนาจให้ตัวเองนั้นก็ต้องเสนอสภา ซึ่งสภาสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ โดยบางส่วนอาจจำเป็นต้องแก้อย่างเร่งด่วน แต่บางส่วนสามารถรอได้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าสุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกแบบรูปร่างหน้าตาองค์กรอิสระเป็นอย่างไร”

คำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการปัดความรับผิดชอบออกจากคณะรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิง ซึ่งสวนทางกับคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ให้คำมั่นกับสังคมมาโดยตลอดว่าจะเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน พร้อมที่จะแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่เคยขยับดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการออกมาตรการ หรือแก้กฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยให้การดำเนินคดีกับคนโกงไหลลื่นมากกว่าที่เป็นอยู่

เมื่อ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเสนอแก้กฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ใช้กฎหมายไปยัง ครม. แทนที่ ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีความกระตือรือร้นพิจารณารายละเอียดเพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ ป.ป.ช. ประสบ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่จำเป็นเพื่อให้การทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีความคล่องตัวมากขึ้น กลับส่ง วิษณุ ออกมาปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไม่มีเยื่อใย โดยโยนให้เป็นภาระหน้าที่ของ ป.ป.ช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา

ทั้งๆ ที่ในการแต่งตั้ง สนช. เข้ามาทำงานก็ให้เหตุผลว่าเพื่อมาผลักดันกฎหมายที่จำเป็นตามนโยบายของรัฐบาล แต่พอ ป.ป.ช. เสนอกฎหมายให้แก้ไข ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำให้ไม่สามารถมองเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือไม่ก็มีพิมพ์เขียวที่ต้องการเขียนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ใหม่เอาไว้อยู่แล้ว

การแก้กฎหมายของ ป.ป.ช. จึงไม่อยู่ในสายตา

ท่าทีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ ครม. และตัว พล.อ.ประยุทธ์ เพราะประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับการแก้โกง แต่ก็ผิดหวังมาแล้วหลายครั้งจากความไม่ชัดเจนของ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า โดยเฉพาะเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ คสช. ไม่กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนเกิดปัญหาข้อกฎหมายที่ยังถกเถียงกันไม่เลิกว่าจะเอาผิดกับคนที่กระทำชำเรากับรัฐธรรมนูญปี 50 ในประเด็นการแก้ไขที่มา ส.ว. ได้หรือไม่ ซึ่งแนวโน้มค่อนข้างจะชัดว่าสุดท้ายคนชั่วกำลังจะลอยนวลจากการไม่เขียนกติกาให้ชัดเจนของ คสช.

ไม่เพียงเท่านั้นอาการยึกยักของอัยการสูงสุดที่ยังไม่ยอมส่งฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ คสช. ถูกตั้งคำถามมากว่าไม่จริงจังกับการเอาผิดกับคนที่ทำให้ชาติเกือบหายนะจากโครงการประชานิยมที่ไร้ความรับผิดชอบจนทำให้สูญงบประมาณไปเกือบ 9 แสนล้านบาท ขาดทุนถึง 5.19 แสนล้านบาท

เพราะถ้า คสช. ซึ่งมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ เอาจริงเอาจังกับการหาคนผิดมาลงโทษ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่อัยการสูงสุดจะออกอาการยึกยักอย่างที่เป็นอยู่ เนื่องจากมีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า อำนาจเต็มที่ คสช. มีอยู่ในมือนั้นสามารถปลดอัยการสูงสุดได้ในพริบตา ไม่เช่นนั้น ตระกูล วินิจนัยภาค คงไม่มีโอกาสได้เป็น อัยการสูงสุด แทน อรรถพล ใหญ่สว่าง อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อ คสช. เป็นคนตั้ง ตระกูล เป็นอัยการสูงสุดมากับมือ เหตุใดจึงยอมให้อัยการสูงสุดคนนี้ถ่วงเวลาการฟ้องคดียิ่งลักษณ์ออกไปโดยไม่ดำเนินการใดๆ เลย คำถามนี้มีเพียงคำตอบเดียวที่ประชาชนคิดได้คือ สิ่งที่ตระกูลทำไม่ได้ขัดแย้งกับแนวทางที่ คสช. ต้องการ

ยิ่งเมื่อ ป.ป.ช. เสนอแก้กฎหมายโดยมีประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การเพิ่มอำนาจฟ้องให้กับ ป.ป.ช. โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ให้มีอัยการประจำ ป.ป.ช. มาทำหน้าที่ฟ้องเอง แต่ ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนใจไม่สนับสนุน โยนให้ สนช.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งก็ทำให้พอมองเห็นภาพว่าการแก้ไขกฎหมายของ ป.ป.ช. คงไม่สำเร็จอย่างที่หวัง

แล้วประชาชนล่ะยังหวังกับ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มั้ย?
กำลังโหลดความคิดเห็น