xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ตอนที่ 4-ตอนสุดท้าย)

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐกร พูลทรัพย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐกร พูลทรัพย์
สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่มีความเจริญรุ่งเรืองโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นกลไลอันสำคัญในการขับเคลื่อน จากความเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศแถบตะวันตกและการใช้ชีวิตอันสะดวกสบายภายใต้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นการปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล

นิด้าโมเดลนำเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศแบบยั่งยืน โดยนำเสนอยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการปรับปรุงประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลักดังนี้

1.การพัฒนากำลังคนและบุคลากรเพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และ ดิจิทัล คอนเทนท์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม

2.การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาในประเทศไทยและจัดให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในด้านนี้

3.ปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างธรรมาภิ บาลและความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการ สร้างกลไกในการควบคุมการทุจริต และเสริมสร้างความมั่นคง เพื่อช่วยในการกำกับดูแลหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน

4.ปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาค

หากภาครัฐสามารถที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นฐานพอเพียงที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้ต่อไปได้ และช่วยนำพาประเทศไปสู่เศษฐกิจดิจิตอลตามที่คาดหวังไว้

ในบทความนี้จะอธิบายยุทธศาสตร์ที่สุดท้าย คือปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นของการปฏิรูป

ปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาค

ปัญหา

• ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยถึงแม้ว่าครอบคลุมและเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ไม่มีเสถียรภาพในการใช้งานอย่างต่อเนื่อง มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลต่ำ และการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุขัดข้องเป็นไปอย่างล่าช้า จึงทำให้การผลักดันให้เกิดการพัฒนาในด้านอื่นๆ ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เช่น ระบบการศึกษาระบบทางไกลแบบโต้ตอบ ระบบสาธารณสุขทางไกลแบบโต้ตอบ เป็นต้น

• ภาครัฐได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน เครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ หน่วยจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ โปรแกรมสำเร็จรูป และซอฟต์แวร์แบบกระจาย ซึ่งจะตกเป็นขององค์กรที่ได้รับงบประมาณ ส่งผลให้ปราศจากการใช้ทรัพยากรดังกล่าวร่วมกัน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น ควรจะมีการมองภาพแบบองค์รวมและใช้ทรัพยากรร่วมกัน

• โครงการจัดจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อนำไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มีความซ้ำซ้อน พัฒนาแล้วพัฒนาอีก ไม่เหมาะสมกับการใช้งานจริง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภายนอกมาขอตรวจสอบข้อมูลซึ่งจำเป็นจะเป็นต้องปรับปรุงซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้ตอบรับเงื่อนไขการตรวจสอบของแต่ละหน่วยงานตลอดเวลา ซึ่งทำให้แต่ละหน่วยงานต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สูงและต้องการบุคลากรบำรุงรักษาระบบจำนวนมาก

• งานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีในปัจจุบันสามารถนำไปใช้งานจริงในภาคปฏิบัติได้น้อย และในที่สุดโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐก็จัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศอันล้ำสมัยจากต่างประเทศ เพราะงานวิจัยที่พัฒนามาส่วนใหญ่ใช้งานไม่ได้จริง

• ต้นทุนซอฟต์แวร์พื้นฐานซึ่งจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ระบบปฏิบัติการ โปรแกรมสำเร็จรูปใช้ในสำนักงานมีราคาสูง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงก่อให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

วัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ไข

• ภาครัฐควรลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม ความเร็วสูง และมีเสถียรภาพในการใช้งาน มีเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์และหน่วยจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานในภาครัฐแบบใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีซอฟต์แวร์กลางที่สามารถใช้งานขั้นพื้นฐานได้ในทุกหน่วยงานราชการเปิดให้บริการ

• สนับสนุนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างจริงจังในภาครัฐทดแทนการจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาจากเทคโนโลยีสารสนเทศต่างประเทศ

• สนับสนุนการเจรจาต่อรองกับบริษัทต่างประเทศในการจัดซื้อซอฟต์แวร์พื้นฐาน เช่น ระบบปฏิบัติการ โปรแกรมสำเร็จรูปใช้ในสำนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีต้นทุนที่ต่ำลงและลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์

ข้อเสนอแนะ

• สนับสนุนการลงทุนในโครงการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม มีความเร็วสูง มีเสถียรภาพในการใช้งาน และมีการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว โดยมุ่งเน้นไปยังหน่วยงานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ภาคการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานการเงินและการจัดเก็บภาษี และหน่วยงานตรวจสอบ

• สนับสนุนการลงทุนในโครงการเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์และหน่วยจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานในภาครัฐแบบใช้ทรัพยากรณ์ร่วมกัน (Cloud Services) และมีระบบสำรองที่เชื่อถือได้

• สนับสนุนการลงทุนในโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์พื้นฐานของภาครัฐ (Government ERP) เพื่อร่วมกันใช้ทั่วประเทศ ทดแทนการแยกจัดซื้อจัดจ้างของแต่ละหน่วยงาน และจัดทำระบบเชื่อมต่อมาตรฐาน (Government Interface) กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการตรวจสอบและการเชื่อมต่อกับภาคเอกชน

• สนับสนุนการลงทุนในโครงการวิจัยเพื่อขยายและพัฒนาต่อยอด และต้องสามารถนำไปใช้งานได้จริงในภาครัฐ เช่น ระบบสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทย ระบบบันทึกข้อความด้วยเสียงภาษาไทย ระบบแปลงภาพที่มีตัวอักษรภาษาไทยเป็นตัวหนังสือภาษาไทยที่นำไปค้นหาได้ ระบบระบุตัวตนด้วยใบหน้าใช้ค้นหาอาชญากรจากกล้องวงจรปิด ระบบเรียนรู้สภาพจราจรอัตโนมัติจากล้องวงจรปิด เป็นต้น

• สนับสนุนพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้นและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น โปรแกรมอัฟโหลดรูปยานพาหนะที่กระทำผิดกฏหมาย (โดยต้องถ่ายรูปผ่านโปรแกรมเท่านั้นเพื่อป้องกันการตัดต่อภาพ) โปรแกรมขอความช่วยเหลือที่สามารถระบุพิกัดที่อยู่ได้ เป็นต้น

• ควรมีการเจรจาต่อรองกับบริษัทต่างประเทศในการจัดซื้อซอฟต์แวร์พื้นฐาน เช่น ระบบปฏิบัติการ โปรแกรมสำเร็จรูปใช้ในสำนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีต้นทุนที่ต่ำลงและลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยการจัดซื้อจำนวนมากและต่อรองราคาโดยภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อแจกจ่ายไปให้หน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น