xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐกร พูลทรัพย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐกร พูลทรัพย์
สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่มีความเจริญรุ่งเรืองโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นกลไลอันสำคัญในการขับเคลื่อน จากความเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศแถบตะวันตกและการใช้ชีวิตอันสะดวกสบายภายใต้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นการปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล นิด้าโมเดลนำเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศแบบยั่งยืน โดยนำเสนอยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการปรับปรุงประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลักดังนี้

1. การพัฒนากำลังคนและบุคลากรเพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และ ดิจิทัล คอนเทนท์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม

2. การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาในประเทศไทยและจัดให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในด้านนี้

3. ปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการ สร้างกลไกในการควบคุมการทุจริต และเสริมสร้างความมั่นคง เพื่อช่วยในการกำกับดูแลหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน

4. ปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาค

หากภาครัฐสามารถที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นฐานพอเพียงที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้ต่อไปได้ และช่วยนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลตามที่คาดหวังไว้
ในบทความนี้จะอธิบายยุทธศาสตร์แรกก่อน มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นของการปฏิรูป
การพัฒนากำลังคนและบุคลากรเพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และ ดิจิทัล คอนเทนท์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม

ปัญหา
- ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพที่ต่ำลงของผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย (ไม่นับมหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับต้นๆ ของประเทศ) ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการทำงาน จึงเป็นภาระต่อผู้ประกอบการ
- ผู้ประกอบการไทยยังมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านวิวัฒนาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อรับเข้ามาทำงานแล้วสามารถที่จะปฏิบัติงานได้ทันที แต่ในปัจจุบันบุคลากรส่วนใหญ่มีความรู้และขีดความสามารถแบบพื้นฐานทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีกลไกในการพัฒนาขีดความสามารถเฉพาะทางให้มากขึ้นโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่
- บุคลากรไทยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศยังขาดความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่จะนำมาซึ่งผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขันเชิงธุรกิจ ประกอบกับภาครัฐและภาคเอกชนมีการสนับสนุนไม่เพียงพอ ไม่ต่อเนื่อง และสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ

วัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ไข
- พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และขีดความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม
- สนับสนุนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสายอาชีพเฉพาะทางให้ได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ
- จัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ นวัตกรรม และองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอแนะ
- จัดให้ผู้ประกอบการร่วมกันทำข้อสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในแต่ละสาขาวิชาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสนับสนุนให้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
- สนับสนุนการอบรมและถ่ายทอดความรู้ ทักษะและประสบการณ์จากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคการศึกษา โดยให้มีการฝึกอบรมนักศึกษากับผู้ประกอบการเพิ่มในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม
- ให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการในการรับผู้สมัครงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยังไม่มีงานทำเนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เพียงพอ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับบุคลากรไทยที่ขาดโอกาสและปรับปรุงบุคลากรให้มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งนี้ทำให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้และช่วยงานผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อไปในอนาคต
- จัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพโดยมีผู้เชี่ยวชาญรับรอง มีหน่วยงานสนับสนุนเพื่อพัฒนาสายอาชีพของผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ รวมถึงมีหน่วยงานติดตามให้บุคลากรเชี่ยวชาญดังกล่าวได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เช่นสนับสนุนให้ทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำในต่างประเทศระยะหนึ่งและกลับมาทำงานให้บริษัทในประเทศไทย
- จัดทำฐานข้อมูลนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเปิดให้ภาครัฐและเอกชนนำไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดแนวทางการสนับสนุนการสร้างผลงานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มากกว่าการมอบเงินทุนให้ เช่น การเสนอให้ผู้คิดค้นผลงานนวัตกรรมเข้ามาทำงานเพื่อสร้างสรรค์ผลงานต่อยอดร่วมกับบริษัท ชั้นนำในภาคอุตสากรรม โดยนำผู้ที่มีความรู้และศักยภาพมาพัฒนาร่วมกัน
- จัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเปิดบริการให้ภาครัฐและเอกชนนำไปพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทันสมัยมากขึ้น โดยเปิดให้บริการแบบใช้ทรัพยากรร่วมกันแบบเบ็ดเสร็จ (Knowledge Management over cloud services) ประกอบด้วย บทเรียนภาคทฤษฎี แบบฝึกหัด การนำไปประยุกต์ใช้เชิงธุรกิจและข้อสอบเพื่อใช้วัดระดับบุคลากรในองค์การ เป็นต้น

################

หมายเหตุ : บทความการปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ มี 4 ตอน โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น