xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ตอนที่ 3)

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐกร พูลทรัพย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐกร พูลทรัพย์
สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่มีความเจริญรุ่งเรืองโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นกลไลอันสำคัญในการขับเคลื่อน จากความเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศแถบตะวันตกและการใช้ชีวิตอันสะดวกสบายภายใต้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นการปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล

นิด้าโมเดลนำเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศแบบยั่งยืน โดยนำเสนอยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการปรับปรุงประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลักดังนี้

1.การพัฒนากำลังคนและบุคลากรเพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และ ดิจิทัล คอนเทนท์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม

2.การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาในประเทศไทยและจัดให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในด้านนี้

3.ปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างธรรมาภิ บาลและความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการ สร้างกลไกในการควบคุมการทุจริต และเสริมสร้างความมั่นคง เพื่อช่วยในการกำกับดูแลหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน

4.ปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาค

หากภาครัฐสามารถที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นฐานพอเพียงที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้ต่อไปได้ และช่วยนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลตามที่คาดหวังไว้

ในบทความนี้จะอธิบายยุทธศาสตร์ที่สาม คือปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างธรรมาภิ บาลและความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการ มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นของการปฏิรูป

ปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการ สร้างกลไกในการควบคุมการทุจริต และเสริมสร้างความมั่นคง เพื่อช่วยในการกำกับดูแลหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน

ปัญหา

• ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีช่องทางในการทุจริตง่าย ถึงแม้ว่าจะมีระบบประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) ก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมการทุจริตได้อย่างจริงจัง
• การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน การติดตามเพื่อตรวจสอบนั้นเป็นไปได้ยาก อีกทั้งนักการเมืองมีตัวแทนในการรับผลประโยชน์แทนและรับผลประโยชน์ได้ในหลากหลายรูปแบบ
• นักการเมืองสามารถใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าถึงข้อมูลอันสำคัญในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐเพื่อผลประโยชน์ในด้านการเมือง

วัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ไข

• เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันล้ำสมัยสามารถที่จะนำมาใช้ติดตามและเฝ้าระวังการทุจริตทั้งในมุมมองของการจัดซื้อจัดจ้างและการรับผลประโยชน์ของนักการเมืองได้

ข้อเสนอแนะ
• สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลกลางเพื่อธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการของภาครัฐ โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ เฉพาะตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและบุคคลต้องสงสัย ด้วยการบูรณาการจากข้อมูลด้านการเงินของบุคคล องค์การ บริษัทที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และบูรณาการข้อมูลอันสำคัญในการฟอกเงิน เช่น หลักทรัพย์ ชื่อในกิจการ การถึอครองหุ้น การมีทรัพย์สินรถยนต์ ที่ดิน ตราสารหนี้ รวมถึงบัญชีในต่างประเทศ และต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระบบเพื่อเฝ้าระวังการทุจริตแบบทันที่ทันใด (Online Real time) โดยมีหน่วยงานเฉพาะกระทำการดังกล่าวในการกำกับดูแลเพื่อเป็นอิสระจากการเมือง

• สร้างเครือข่ายด้านธุรกรรมการเงินกับทุกองค์การในภาครัฐและเอกชน โดยสามารถตรวจสอบย้อนหลังประวัติการเงินขององค์การได้ และโดยออกกฎหมายบังคับให้เปิดเผยบัญชีธนาคารของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลในโครงการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐและออกกฎหมายให้ผู้เกี่ยวข้องต้องแจ้งบัญชีธนาคารและทรัพย์สินในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้จะต้องมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเชื่อมต่อกับหน่วยงานดังกล่าวเพื่อดึงข้อมูลแบบทันทีทันใด โดยมีหน่วยงานเฉพาะกระทำการดังกล่าวในการกำกับดูแลเพื่อเป็นอิสระจากการเมือง

• พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์และพยากรณ์กลุ่มผู้เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมด้านการเงินที่เชื่อมต่อกันเพื่อใช้ตรวจสอบการทุจริต พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใช้ศึกษาและค้นหาพฤติกรรมการเงินที่ผิดปกติเพื่อเฝ้าระวังการทุจริตแบบทันที่ทันใด พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใช้เป็นรายงานเชิงวิเคราะห์ในหลากหลายแง่มุมเพื่อผู้ตรวจสอบใช้ในการวิเคราะห์และใช้เป็นหลักฐานในทางกฎหมาย

• ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยการประมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ โดยให้มีบริการร่วมใช้ทรัพยากรแบบเบ็ดเสร็จ (Cloud Services) และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการประมูลที่ใช้ร่วมกันในทุกหน่วยงาน และสนับสนุนการประมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบมีการวางผลิตภัณฑ์ไว้และกำหนดราคาล่วงหน้า ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตหรือตัวแทนขายสามารถเข้ามาเสนอราคาของผลิตภัณฑ์หรือบริการตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ได้ตลอดเวลา เมื่อหน่วยงานภาครัฐต้องการซื้อจะเข้ามาเลือกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลาที่จัดซื้อได้ทันที และอนุญาตให้คิดค่าติดตั้ง ค่าประกัน และค่าบำรุงรักษาแยกออกได้ แต่จะต้องไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ ทั้งนี้จะทำให้ภาครัฐได้ราคาที่สมเหตุสมผลและมีความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการ

• จัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในการจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องต่างๆ ในกรณีที่สินค้าหรือบริการนั้นมีคุณสมบัติเฉพาะจะต้องนำเข้าระบบการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใช้ในการการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อและตรวจรับโดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์จะเป็นผู้คัดเลือกจากฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะเรื่อง เพื่อป้องกันการแต่งตั้งคณะกรรมการแบบรู้กันล่วงหน้า โดยต้องมีหน่วยงานด้านการศึกษาและด้านยุติธรรมเข้าร่วมพิจารณาด้วยทุกโครงการ

• กำหนดให้ภาครัฐใช้อุปกรณ์บ่งชี้ตัวตน (Biometric identification) เพื่อเข้าถึงข้อมูลอันสำคัญ รวมถึงใช้ในการติดตามและบันทึกประวัติการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว มีระบบป้องกันการโจมตี และออกกฏหมายรองรับการฝ่าฝืนมาตรการรักษาความมั่นคงโดยกำหนดบทลงโทษไว้ขั้นสูงสุด เพื่อป้องกันนักการเมืองสามารถใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่และเข้าถึงข้อมูลในระบบระบบที่มีความสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น