ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐกร พูลทรัพย์
สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่มีความเจริญรุ่งเรืองโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นกลไลอันสำคัญในการขับเคลื่อน จากความเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศแถบตะวันตกและการใช้ชีวิตอันสะดวกสบายภายใต้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นการปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล
นิด้าโมเดลนำเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศแบบยั่งยืน โดยนำเสนอยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการปรับปรุงประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลักดังนี้
1.การพัฒนากำลังคนและบุคลากรเพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และ ดิจิทัล คอนเทนท์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม
2.การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาในประเทศไทยและจัดให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในด้านนี้
3.ปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างธรรมาภิ บาลและความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการ สร้างกลไกในการควบคุมการทุจริต และเสริมสร้างความมั่นคง เพื่อช่วยในการกำกับดูแลหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน
4.ปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาค
หากภาครัฐสามารถที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นฐานพอเพียงที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้ต่อไปได้ และช่วยนำพาประเทศไปสู่เศษฐกิจดิจิตอลตามที่คาดหวังไว้
ในบทความนี้จะอธิบายยุทธศาสตร์ที่สองคือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเทคโนโลยีสารสนเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้
ประเด็นของการปฏิรูป
การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาในประเทศไทยและจัดให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในด้านนี้
ปัญหา
• ภาครัฐขาดมาตรการกระตุ้นตลาดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในประเทศซึ่งมีความจำเป็นต่อการผลักดันให้ประเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟต์แวร์ และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอย่างเช่นประเทศมาเลเชีย มีการลงทุนในด้านนี้สูง ขณะประเทศไทยมีการลงทุนน้อย ส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
• ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติซึ่งเข้ามาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและล้ำสมัย ถ้าไม่มีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยรวมถึงการระดมทุนในภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยจะขาดดุลการค้าในด้านนี้จำนวนมหาศาลและต้องตกอยู่ในสภาพพึ่งพาต่างชาติในการพัฒนาประเทศ เพราะโลกในอนาคตจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจและกิจการในทุกๆ ด้าน
• ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตมีการจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยีสารสนเทศจากผู้ประกอบการต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมีการติดตั้งและใช้งานเป็นแบบอิสระของหน่วยงานนั้นๆ เอง และมีการร่วมใช้ทรัพยากรในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศน้อย ซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนในการลงทุนที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น ประกอบกับการจัดการของภาครัฐนั้นไม่ได้วางวิสัยทัศน์แบบองค์รวมและไม่มีการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
• การสนับสนุนของภาครัฐด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปยังภาคประชาชนและหน่วยงานเอกชนนั้นกระจัดกระจาย การสนับสนุนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลย้อนกลับมาช่วยส่งเสริมความสำเร็จหรือความแข็งแกร่งของภาครัฐ เช่น ภาครัฐสนับสนุนเงินวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นไม่เคยได้กลับมาใช้ในการดำเนินกิจการของภาครัฐเลย ภาครัฐกลับไปซื้อผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากต่างประเทศแทน
วัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ไข
• สนับสนุนองค์การภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยให้ได้รับคัดเลือกในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ และเข้าร่วมรับรองในความสำเร็จของโครงการดังกล่าว
• สนับสนุนองค์การภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเปิดให้บริการใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกัน (Cloud Services) และได้การรับรองมาตรฐานด้านความมั่นคงเพื่อความเชื่อมั่นของหน่วยงานผู้ใช้บริการ
• สนับสนุนให้ภาครัฐเป็นหน่วยงานนำร่องในการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอันล้ำสมัยเปิดให้บริการประชนชน เพื่อความสะดวกรวดเร็วและความโปร่งใสในการดำเนินกิจการของภาครัฐ
ข้อเสนอแนะ
• สนับสนุนและกระตุ้นความต้องการให้กับภาครัฐ ภาคอุตสหกรรม และภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพื่อสร้างยุทธศาสตร์การแข่งขันในระดับสากล ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล โดยจัดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาอาชีพมาให้คำปรึกษาแนะนำภาครัฐ ภาคอุตสหกรรม และภาคเอกชน และจัดทำสือดิจิตอลเผยแพร่ รวมถึงจัดหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการดำเนินงาน และใช้ความสำเร็จในการผลักดันโครงการสร้างเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นตัวชี้วัด
• ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภาครัฐใหม่มุ่งเน้นที่ประสิทธิผล โดยจัดสร้างหน่วยงานกำกับดูแลองค์การด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่กระจายอยู่ในหลายกระทรวง กรม กอง และองค์การมหาชน เพื่อสร้างให้เกิดวิสัยทัศน์แบบองค์รวมและมีการพัฒนาแบบบูรณาการ
• มีมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยได้รับการคัดเลือกในการจัดซื้อจัดจ้างของในโครงการส่วนใหญ่ของภาครัฐ โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดให้ชัดเจน เช่น สัดส่วนของจำนวนโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผู้ประกอบการไทยให้ได้รับคัดเลือกกับจำนวนโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมดที่เปิดประมูลในภาครัฐ เป็นต้น
• มีหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ได้รับคัดเลือกในการจัดซื้อจัดจ้าง ช่วยให้โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ (ทดแทนการช่วยเหลือแบบเดิมที่กระจัดกระจาย แต่ไม่ส่งผลดีกลับมายังภาครัฐ) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้
• โครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ภาครัฐจะการจัดซื้อจัดจ้าง ควรจะมีการวางแผนและสนับสนุนให้มีใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ หน่วยจัดเก็บข้อมูล โปรแกรมสำเร็จรูป ในลักษณะการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (Cloud Services) เพื่อลดต้นทุนและลดความซ้ำซ้อนในการจัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศ
• ให้ภาครัฐสนับสนุนการวิจัยด้านเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและนำผลการวิจัยด้านเทคโนโลยีดังกล่าวที่ได้รับการสนับสนุนมาใช้เป็นเครืองมือพัฒนาองค์การในภาครัฐให้เห็นผลอย่างชัดเจน อันเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จในการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การสั่งงานระบบต่างๆ ด้วยเสียงภาษาไทย (Voice Recognition in Thai Language) การระบุตัวตนด้วยใบหน้า (Face Recognition) เป็นต้น
• โครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีแนวความคิดริเริ่มสร้างสรรค์การปฏิรูปประเทศไทย เช่น โครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดซื้อจัดจ้างแบบมีผลิตภัณฑ์และบริการวางล่วงหน้าเพื่อป้องกันการทุจริต โครงการใช้เทคโนโลยีเพื่อบ่งบอกตัวตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นต้น
• โครงการนำร่องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการดำเนินงานของภาครัฐ เช่น ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงเชื่อมต่อทุกหน่วยงานอย่างทั่วถึง มีเสถียรภาพและใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหน่วยงานด้านการศึกษา สาธารณสุข และองค์การตรวจสอบของภาครัฐ เป็นต้น