xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"นายกตู่"เกิดจากม็อบ ออกกม.คุมม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ หรือ ที่เรียกกันว่ากฎหมายคุมม็อบ ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้เสนอไปแล้ว

ที่ผ่านมา เมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเป็นฝ่ายรับหน้า ในการดูแลความเรียบร้อย แต่ไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะที่จะใช้เป็นกรอบกำหนด การควบคุมการชุมนุมจึงต้องใช้กฎหมายอื่นมาเทียบเคียง เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง และกฎหมายการรักษาความสะอาด ทำให้ขาดประสิทธิภาพ ผู้ชุมนุมไม่กลัวกับความผิดตามกฎหมายเหล่านี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงพยายามผลักดันร่างกฎหมายคุมม็อบกันอย่างเต็มที่

ตามร่างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอไปนั้น ร่าง พ.ร.บ.นี้ แบ่งเป็น 5 หมวด 39 มาตรา มีสาระสำคัญ อาทิ การให้นิยามคำว่า "การชุมนุมสาธารณะ" ว่า หมายถึง การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวน หรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่

มาตรา 4 การชุมนุมสาธารณะในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา 7 วางหลักการการ "ชุมนุมสาธารณะ" ว่า จะต้องเป็นไปโดยสงบ และปราศจากอาวุธ และในวรรคสอง มาตราเดียวกัน ระบุว่า "การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย"

มาตรา 8 ห้ามการชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกสถานที่สำคัญ คือ (1) สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (2) รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลและหน่วยงานของรัฐ (3) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ (4) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน และ (5) สถานทูต หรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ

ในหมวด 2 กำหนดให้ผู้จัดชุมนุม ต้องมีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน รวมทั้งต้องขออนุญาตการใช้สถานที่ และการใช้เครื่องขยายเสียงด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกให้

ทั้งนี้ เงื่อนไขที่จะพิจารณาว่า การชุมนุมรูปแบบใด ส่งผลกระทบต่อประชาชน คือ การชุมนุมขัดขวางการเดินทางในที่สาธารณะของประชาชนหรือไม่ และขัดขวางการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ หรือไม่ หากมีการขัดขวาง เจ้าหน้าที่สามารถยื่นคำร้องต่อศาล ห้ามการชุมนุมได้ และในนกรณีที่ศาลสั่งห้ามการชุมนุม ให้ถือว่า การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมวด 3 กฎหมายได้กำหนดกรอบความรับผิดชอบของผู้จัดชุมนุม และผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยผู้จัดการชุมนุม ถือว่ามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติคือ (1) อยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดระยะเวลาการชุมนุม (2) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (3) ดูแลไม่ให้เกิดการขัดขวางประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม (4) ประกาศหน้าที่ของผู้ชุมนุม และเงื่อนไขหรือคำสั่งด้วยวาจาของเจ้าหน้าที่ให้ผู้ชุมนุมทราบ (5) ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการดูแลการชุมนุม และ (6) ไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่เรียกว่า "การชุมนุมสาธารณะ"

สำหรับข้อปฏิบัติของผู้ชุมนุม ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 17 คือ (1) ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ (2) ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนโดยจงใจ มิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง (3) ไม่นำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตหรือไม่ (4) ไม่บุกรุกหรือทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น (5) ไม่ทำให้ผู้อื่นเกรงกลัว (6) ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุม หรือผู้อื่น (7) ไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองความสะดวกประชาชน

ในกรณีจะเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้งก่อน ต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานีตำรวจ และผู้ชุมนุมต้องยกเลิกการชุมนุมตามที่ผู้จัดการชุมนุมแจ้งไว้

สำหรับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในการดูแลการชุมนุม ได้กำหนดไว้ใน หมวดที่ 4 ให้หัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่การชุมนุมเป็นผู้ดูแล หรือให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดูแลแทน โดยมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และผู้ชุมนุม ซึ่งเจ้าพนักงานที่เข้ามาดูแลต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจ และอดทนต่อสถานการณ์ และต้องแต่งเครื่องแบบแสดงตน และอาจใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ในกรณีที่เป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.นี้ เจ้าพนักงานต้องประกาศให้ยกเลิกการชุมนุมตามที่กำหนดไว้ หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ให้ยื่นคำร้องต่อศาล และระหว่างรอคำสั่งศาล เจ้าพนักงานมีอำนาจกระทำตามความจำเป็น เพื่อควบคุมการชุมนุมด้วย ขณะที่ผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อน ก็มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้ด้วย

ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด คำสั่งศาลถือเป็นที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปิดประกาศคำสั่งศาลในบริเวณที่มีการชุมนุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบ

หากยังไม่ยุติการชุมนุม เจ้าพนักงานสามารถประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม และเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าผู้ชุมนุมกระทำความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานมีอำนาจค้น และจับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม รวมถึงยึดทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อการชุมนุม

ในกรณีที่การชุมนุมมีลักษณะรุนแรง และอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่น จนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าดำเนินการควบคุมสถานการณ์ได้ 

สำหรับบทกำหนดโทษ กรณีผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งวัน เวลา ล่วงหน้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดทั้งหมด หรือพกอาวุธ และวัตถุระเบิดเข้าไปในที่ชุมนุม จำคุกไม่เกิน 2 -20ปี ปรับตั้งแต่ 40,000 - 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีถ้าผู้ชุมนุม ไม่ออกจากพื้นที่ตามประกาศกำหนดของเจ้าหน้าที่ จำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับไม่เกิน20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อพิจารณาเนื้อหา สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยละเอียด จะเห็นได้ว่าได้บล็อกการชุมนุมไว้ตั้งแต่ต้นให้อยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็มีข้อจำกัดยิบย่อย จนแทบจะไม่สามารถชุมนุมได้โดยไม่ละเมิดกฎหมายฉบับนี้

เรียกได้ว่า หากกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ ตามที่ฝ่ายตำรวจเสนอ การชุมนุมทางการเมืองหลังจากนี้ แทบจะเกิดไม่ได้เลย หรือถ้ามีการชุมนุม ตำรวจก็แทบจะไม่ต้องกังวลอะไร สามารถแจ้งข้อหา เพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมได้ทุกขณะ 
              
       แต่ต้องไม่ลืมว่า การชุมนุมใหญ่ๆ แทบทุกครั้งจะมีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น ร่างกฎหมายคุมม็อบของตำรวจฉบับนี้ ยอมไม่ถูกใจฝ่ายการเมืองเป็นแน่ และยุคนี้แม้จะเป็นรัฐบาลทหาร แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น ทหารการเมือง ไล่เรียงดูได้ จากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ไปยันสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีทหารอยู่ตั้งครึ่งค่อน ทั้งทหารในราชการ นอกราชการ

ดังนั้นหลังการประชุมครม.ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้พูดถึงร่างกฎหมายนี้ เป็นเรื่องแรกๆ ว่า แม้ที่ประชุมจะรับหลักการ แต่ก็ยังต้องส่งไปให้กฤษฎีกาปรับแก้เนื้อหาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความชอบธรรม ทั้งในแง่ของสถานที่ เวลา รวมทั้งกรณีหากมีการชุมนุมแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจในการดำเนินการได้มากแค่ไหน หากมีการขัดขืนจะทำอย่างไร

ก็คงต้องดูกันอีกครั้งว่า กฤษฎีกาจะปรับแก้ในส่วนใหนบ้างที่จะทำให้ออกมาแล้วถูกใจคนสั่ง ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ซึ่งมีหน้าที่เพียงรอไฟเขียวเท่านั้น 

รอวัดใจกันว่า นายกฯ ที่เกิดแต่ม็อบ เมื่อจะผ่านกฎหมายคุมม็อบ จะเว้นพื้นที่ไว้ให้ม็อบหรือไม่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น