xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 ม.เขตพระราชวัง-รัฐสภา-ทำเนียบ-ศาล

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ตร. เปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งก่อนชุมนุม กำหนดรัศมีห้ามชุมนุมรอบที่ประทับ - สภา - ทำเนียบ - ศาล 150 เมตร ห้ามเคลื่อนปราศรัย 22.00 - 06.00 น. ห้ามเคลื่อนขบวนกลางคืน ห้ามอำพรางใบหน้า

วันนี้ (17 ก.ย.) เมื่อเวลา 08.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... โดยมี พล.ต.ท.อำนาจ อันอาตม์งาม ผู้ช่วย ผบ.ตร. หัวหน้าคณะทำงานยกร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งหรือประกาศเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสาธารณะ พล.ต.ต.วิชัย รัตนยศ รอง ผบช. สำนักงานกฎหมายและคดี ผู้แทนจากองค์กรต่างๆ อาทิ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาความมั่นคงแห่งชาติ สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ และ ฯลฯ โดยในที่วงสัมมนามีการแสวงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขาง

พล.ต.ท.อำนาจ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ครั้งนี้ ได้มีการนำเอาร่างเดิม ซึ่งได้มีการพิจารณาและผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่ตกไปเมื่อมีการยุบสภามาทบทวนแก้ไข อยู่ในกรอบเดิม เน้นย้ำในเรื่องของการส่งเสริมสิทธิในการชุมนุมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นเสรีภาพ ไม่มีการกำหนดว่าจะต้องมีการขออนุญาต เพียงแต่เป็นการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบและไปดำเนินการดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อย เนื่องจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบในภาพใหญ่ของประเทศ จึงจำเป็นต้องดูแลสถานที่สำคัญเป็นพิเศษ กำหนดรัศมีการชุมนุมห้ามใกล้ พระบรมมหาราชวัง, รัฐสภา, ทำเนียบรัฐบาล และศาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม สำหรับสถานที่อื่นๆ นั้น ประชาชนสามารถใช้ในการชุมนุมได้ แต่จำกัดว่าจะต้องไม่มีการปิดกั้นสถานที่ราชการหรือสร้างผลกระทบต่อการบริการภาครัฐ

ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า การเปิดเวทีนี้เพื่อสร้างความเข้าใจในร่างกฎหมาย ผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน แจ้งให้ทราบว่าใช้สิทธิอย่างไรจึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งนี้ กรอบกฎหมายคำนึงถึงสิทธิประชาชน ความกรอบความร่วมมือ เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองระหว่างประเทศ ตามร่างนี้ หลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ หากเกิดกรณีที่ต้องแก้ไขปัญหาก็จะเป็นไปตามกติกาสากล โดยเวทีวันนี้ ได้เชิญนักวิชาการที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ในประเทศต่างๆ หลายด้าน ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี โดยนำกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะของประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบ ซึ่งในร่างนี้กรอบของความเป็นสากลอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะมีการติดตามความคิดเห็นและข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด คาดว่า ใช้เวลาไม่นานที่จะสามารถสรุปความคิดเห็นในภาพรวมได้ เพื่อเสนอออกกฎหมายในสภานิติบัญญัติต่อไป

ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ไม่ควรเร่งรีบทำในตอนนี้ เพราะยังอยู่ในสถาการณ์กฎอัยการศึก ควรรอให้สถานการณ์ปกติผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน เพื่อประชาชนที่เห็นต่างกล้าจะได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และควรเปิดกว้างในการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านกว่านี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสร้างความไว้วางใจให้แก่ประชาชน เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคู่กรณีกับประชาชน ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ที่ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับการแจ้งเพื่อทราบนั้น ประชาชนสามารถชุมนุมได้ โดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่อนุญาต แต่เจ้าหน้าที่สามารถสั่งห้ามได้ หากเห็นว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมที่ผิดเงื่อนไขของกฎหมาย เพราะการแจ้งเพื่อทราบเป็นเชิงนิตินัย ในส่วนของการควบคุมและการสั่งห้ามการชุมนุมนั้น ควรเป็นการตัดสินใจจากหลายฝ่าย โดยดึงเอาเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนมองว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคู่กรณี และในส่วนของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องมีความชัดเจนในการกำหนดบทบาทของรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ชัดเจน ทั้งนี้ เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติคิดจะผลักดันแล้ว ต้องผลักดันให้สุด และทำทุกอย่างให้ครอบคลุมด้วย

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .. มี 5 หมวด 38 มาตรา สาระสำคัญ อาทิเช่น การแจ้งการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้า 24 ชม. โดยเป็นการแจ้งให้เจ้าหน้าตำรวจทราบ เพื่อจะได้มีการจัดกำลังไปรักษาความปลอดภัยและการจัดสรรเส้นทางการจราจร เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิของประชาชนทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง การจัดการชุมนุมในพื้นที่และปริมณฑล ห้ามชุมนุมในระยะรัศมี 150 เมตร จากที่เขตพระราชวัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และสถานที่พำนักของเอกพระราชอาคันตุกะ เพื่อไม่เกิดการรบกวน ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน การบริการของหน่วยงานรัฐ ท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง - รถไฟ ท่าเรือ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานทูต องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ห้ามปราศรัยหรือจัดการชุมนุมในเวลา 22.00 - 06.00 น. ห้ามเคลื่อนขบวนในเวลาคืน ในเวลากลางวันหากเคลื่อนขบวนต้องแจ้งก่อนเคลื่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ มีข้อห้ามผู้ชุมนุมต่างๆ เช่น ห้ามปิดบังอำพรางใบหน้า ทำลายกล้องวงจรปิด ห้ามพกพาอาวุธหรือสิ่งเทียม - แทนอาวุธ ห้ามทำลายทรัพย์สินผู้อื่น ห้ามนำสัตว์ สิ่งของที่เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยเข้าพื้นที่ชุมนุม ห้ามทำให้ผู้อื่นหวาดกลัวว่าจะอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ห้ามใช้กำลัง หรือขู่ใช้กำลังต่อผู้เข้าร่วมชุมนุม หรือผู้อื่น ห้ามขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานที่คุ้มครองอำนวยความสะดวกประชาชน ห้ามปราศรัยยุยงด้วยวิธีการใด หรือชังจูงให้เกิดความเกลียดชังนำสู่การชุมนุมที่ไม่สงบ ห้ามฝ่าฝืนคำสั่ง เงื่อนไข ของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้หากการชุมนุมไม่สงบ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ตำรวจสามารถสั่งให้ยุติการชุมนุม แต่หากไม่เลิกตามคำสั่งตำรวจสามารถกำหนดพื้นที่การชุมนุมให้เป็นพื้นที่ควบคุม และให้ออกจากพื้นที่ควบคุมในเวลากำหนดหากไม่ออกจากพื้นที่ควบคุมในเวลาที่กำหนด ถือเป็นความผิดซึ่งหน้า ผู้ควบคุมสถานการณ์ หรือผู้ได้รับมอบหมาย มีอำนาจจับกุม ค้น ยึด อายัด รื้อถอนทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อชุมนุมและสามารถดำเนินการตามแผน โดย กม. ให้สิทธิผู้ได้รับความเดือดร้อน เสียหายจากการชุมนุมร้องขอต่อศาลเพื่อยกเลิกการชุมนุมได้ ทั้งนี้ ผู้ควบคุมการชุมนุมให้ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ในมาตรา 28 ระบุว่า ให้หัวหน้าสถานีตำรวจที่มีการชุมนุม ผบก. ผบช. ที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุม หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ควบคุมสถานการณ์ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามแผน และแนวทางการควบคุมการชุมนุม ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย หากปฏิบัติหน้าที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ สมควรแก่เหตุ ไม่เกินจำเป็น แต่ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยการรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ หากละเมิดกฎหมายนี้ หากไม่แจ้งการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุมต้องวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ขณะที่หากผู้ใดจัดการชุมนุม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบขนส่งสาธารณะ โทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ผู้จัดการชุมนุมต้องระวางโทษจำคุก 2 - 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่หากพกพาอาวุธเข้าในพื้นที่ชุมนุม ระวางโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาวุธปืนต้องโทษ จำคุก 2 - 4 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นวัตถุระเบิดจำคุก 2 - 20 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ประกาศยุงยงให้ผู้ชุมนุมใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุก 1 - 5 ปี ปรับ 20,000 - 100,000 บาท โดยรวมถึงผู้ที่เผยแพร่ประกาศปลุกปั่นนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น