ASTVผู้จัดการ – เจ้าหน้าที่ กสทช. โทร.เตือนผู้บริหารโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เหตุกังวลเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์องค์อิสระ ชี้ ล้ำเส้นเอ็มโอยู - ประกาศ คสช. ระบุอาจมีการสั่งปิดถาวรหากดื้อดึง ทว่าไม่ได้เจาะจงว่าเป็นประเด็นใด
วันนี้ (7 ก.ย.) มีรายงานว่าช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้โทรศัพท์ถึงผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหลายแห่ง เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวพันกับองค์กรอิสระ และองค์กรตามกระบวนการยุติธรรม
“มีการกำชับมาเรื่ององค์กรอิสระ ว่า อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์มากนัก เพราะดูแล้วรู้สึกไม่สบายใจ” ผู้บริหารโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งหนึ่งเปิดเผย พร้อมระบุด้วยว่า ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่ามีการแจ้งเตือนโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทุกช่อง โดยหากยืนกรานที่จะทำอะไรมากกว่านี้ อาจจะมีการสั่งปิดถาวร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีมติอนุมัติให้ช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจำนวน 7 ช่อง ประกอบไปด้วย 1. Five Channel จากบริษัท เอซี เทเลวิชั่น จำกัด (เอ็มวี 5) 2. ฟ้าวันใหม่ จากบริษัท บลู สกาย แชนแนล จำกัด 3. โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม บุญนิยม จากมูลนิธิบุญนิยม (เอฟเอ็มทีวี) 4. สถานี News1 จากบริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด 5. People TV จากบริษัท พีแอนด์พี ชาแนล จำกัด 6. Peace TV จากบริษัท รวยทันที จำกัด (UDD) และ 7. 24 TV จาก เดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (DNN) สามารถกลับมาออกอากาศได้ตามปกติ หลังจากถูกระงับการออกอากาศโดยประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 15/2557 เป็นเวลา 99 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557
อย่างไรก็ตาม การออกอากาศดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทั้งหมดจะต้องลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ซึ่งมีเนื้อหาท่อนหนึ่งระบุว่า “บริษัทยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ โดยจัดทำผังรายการไม่ให้มีเนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าว และเงื่อนไขการเป็นผู้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้เชิญบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาล และกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิด หรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้แก่สังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ กสทช. มิได้ระบุรายละเอียดว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหลายช่องเรื่ององค์กรอิสระที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจนั้นเป็นเรื่องใด
ขณะที่เนื้อหาฉบับเต็มของเอ็มโอยูดังกล่าวที่โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทุกช่องต้องลงนามมีเนื้อหาดังนี้ คือ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 จึงทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักงาน กสทช. โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
บริษัทยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ โดยจัดทำผังรายการไม่ให้มีเนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าว และเงื่อนไขการเป็นผู้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้เชิญบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาล และกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิด หรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้แก่สังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
สถานีมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้บุคคลดังกล่าว รวมทั้งบุคคลอื่นใดงดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะ ดังต่อไปนี้ (1) ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่งไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ (2) ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
(3) การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง (4) ข้อมูลเสียง ภาพ วิดีทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ (5) ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร
(6) การชักชวน ซ่องสุมให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (7) การขู่จะประทุษร้าย หรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน
ในกรณีที่ปรากฏว่า บริษัทฯ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอาจจะถูกสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพโดยองค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และต้องปฏิบัติตามกฎหมายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่แบบบอกรับสมาชิก อย่างเคร่งครัด โดยข้อกำหนดในการหารายได้ของผู้รับใบอนุญาตจากโฆษณา และบริการธุรกิจตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละห้านาที
หากสำนักงาน กสทช. ตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนข้อตกลงอาจพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที