xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” เสนอแนวคิดแนะ ปธ.กรธ.ยึดหลัก 10 ข้อร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (ภาพจากแฟ้ม)
“มาร์ค” ทำหนังสือถึง “มีชัย” แนะร่าง รธน. ขอให้อยู่บนเส้นทางประชาธิปไตย ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน จำกัดนิรโทษฯให้เฉพาะประชาชนที่ร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือที่มีโทษเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือเสนอความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่รับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองต่าง ๆ สรุปใจความว่า ตนมีความเห็นว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารครั้งนี้ สังคมคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกสำคัญนำไปสู่การปฏิรูปประเทศทุก ๆ ด้าน ดังนั้น ในการทำกติกาการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศและประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ขอยึดหลักการปฏิรูปประเทศในแนวคิด ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยขอให้อยู่บนเส้นทางประชาธิปไตย

เอกสารระบุต่อว่า จึงขอเสนอหลักการสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ คือ 1. ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในระบบรัฐสภา 2. ประชาชนมีหลักประกันขั้นพื้นฐานในเรื่องเสรีภาพ และการมีส่วนร่วม ซึ่งต้องมีไม่น้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 พร้อมทั้งให้นำหลักสำคัญในการส่งเสริมสิทธิพลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ สปช. ไม่เห็นชอบมาบัญญัติไว้ด้วย 3. การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องมีหลักประกันว่า อปท. ต้องได้รับการกระจายอำนาจไม่น้อยกว่าบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2550 และผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะระดับจังหวัดให้มีผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งควบคู่กับกลไกการตรวจสอบ 4. มีระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของประชาชน โดยหลีกเลี่ยงการสร้างความแตกแยกจากการแข่งขันที่รุนแรง

5. ปรับปรุงกลไกจัดระบบการเลือกตั้งให้สุจริตและเป็นธรรม ที่จัดการปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง ก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้ง มีประสิทธิภาพ รวมเร็ว และเด็ดขาด รวมถึงการแก้ปัญหาการใช้นโยบายที่เสียหายต่อประเทศและกับคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง 6. ส่งเสริมพรรคการเมืองให้เข้มแข็งให้ตรวจสอบดูแลนักการเมืองในสังกัดตัวเอง และทำพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เครื่องมือของนักการเมือง หรือบุคคลใด หรือกลุ่มทุน โดยสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง 7. มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐอย่างมีดุลยภาพ ประสิทธิภาพเพื่อให้การใช้อำนาจอยู่ใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม โปร่งใส ระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ องค์กรอิสระ 8. มีมาตรการจัดการกับการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลรวดเร็วทันเวลา

9. กำหนดประเด็นการปฏิรูปประเทศที่มีความสำคัญเร่งด่วน พร้อมหลักการ สาระ การปฏิรูปที่ชัดเจน โดยให้ประชาขนเห็นชอบในการจัดประชามติเพื่อเป็นข่อผูกมัดรัฐบาลในอนาคตเพื่อให้สานต่อการปฏิรูปเหล่านั้น 10. การสร้างความปรองดองโดยให้ความสำคัญกับการสร้างบรรทัดฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาการสร้างความเกลียดชัง โดยเฉพาะผ่านการสื่อสารมวลชน ส่วนการพิจารณาดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตควรให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมจนจบสิ้นกระบวนความ กรณีนิรโทษกรรมควรจำกัดเฉพาะการทำความผิดของประชาชนที่ร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือเป็นความผิดที่มีโทษเล็กน้อยเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น