ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ขอทางเลือก จัดการน้ำ ไม่เอา! เขื่อนแม่วงก์” คือประโยคบนเสื้อยืดของ “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สวมใส่เมื่อนอนปักหลักค้างคืนที่หน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระงับการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านแหล่งน้ำ (คชก.) โครงการเขื่อนแม่วงก์ ในวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา
ข่าวของ ศศิน เฉลิมลาภ ทำให้ปัญหาเรื่องการ “สร้าง- ไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์” กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง...
หากย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะพบว่าเกิดขึ้นในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ที่พยายามผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์อย่างเต็มกำลังในช่วงปี 2555 โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ภายใต้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น13,280 ล้านบาท!
ครั้งนั้น อ.ศศิน เฉลิมลาภ ถึงกับต้องเดินจากป่าสู่เมือง 388 กิโลเมตร จากแม่วงก์ถึงกรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านการอนุมัติอีเอชไอเอ (รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ท่าทีคัดค้านการสร้างเขื่อนจากประชาชนจำนวนมาก รวมถึงมีผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพมาร่วมเดินรณรงค์ต้านการสร้างเขื่อนนับหมื่นคนในช่วงเดือน ก.ย. 56 ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงกับต้องยอมถอย ชะลอการพิจารณาการสร้างเขื่อนไว้ก่อน เพราะในช่วงสถานการณ์ที่รัฐบาลเจอแต่ปัญหารุมเร้า เคลียร์เรื่องจำนำข้าวก็ยังไม่ไหว หากจะต้องมาเป็นปรปักษ์กับกลุ่มคนต่อต้านการสร้างเขื่อนอีก ก็คงไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพรัฐบาลเท่าไรนัก ทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่าอาจต้องเล็งหาเทคนิคในการป้องกันอุทกภัย หากต้องล้มการสร้างเขื่อนขึ้นมาจริงๆ
ทว่า โครงการนี้ก็ยังไม่ล้มเลิกและถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ครั้งนี้ปรากฏว่ามีคนหลายกลุ่ม เช่น กล่มนิสิตนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย และองค์กรอิสระต่างๆ ออกมาเป็นแนวร่วมค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์กับ อ.ศศินด้วย โดย “กลุ่มนิสิต ม.เกษตรศาสตร์ รักษาธรรมชาติ” ก็ได้เดินรณรงค์คัดค้านการพิจารณา EHIA เขื่อนแม่วงก์ ที่ ม.เกษตรศาสตร์ โดยนิสิตบางส่วนแต่งเป็นเสือโคร่ง สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ เพื่อบอกว่าสัตว์เหล่านี้จะได้รับผลกระทบหากก่อสร้างเขื่อน ทำเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก บก.น. 2 จำนวน 11 กองร้อยต้องเข้าควบคุมเก็บป้ายใบปลิวของนิสิตกลุ่มนี้ และขอให้ยุติการทำกิจกรรมดังกล่าว โชคดีที่การเจรจาลงด้วยดี แต่ก็ทำให้นิสิตกลุ่มนี้ออกอาการงงๆงวยๆ จนถึงกับเอ่ยปากว่า
“จริงๆ ก็รู้สึกงงๆ เหมือนกันว่าตำรวจไม่น่าจะมาปิดกั้นการแสดงออก ตอนแรกเขาบอกให้เราห้ามชูป้าย เราก็ยอมไม่ชูป้ายแล้วก็เดินมาอย่างสงบเพื่อจะมาแถลงข่าว สุดท้ายก็ไมได้แถลง เราคิดว่าเราไม่ได้มาล้มล้างรัฐบาล เป็นการแสดงออกโดยที่ไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกแล้ว เราคือพลังบริสุทธิ์ ไม่น่าจะมาล้อมหรือมาปิดกั้นเลย”
ในขณะที่ น.ส.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ตัวแทนของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) ก็ได้คัดค้านการพิจารณาเห็นชอบรายงานอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ เรียกร้องให้ คชก.รับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ให้รอบด้าน โดยระบุว่า คชก. ควรตระหนักถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในการพิจารณารายงานอีเอชไอเอว่า มีความเหมาะสม หรือถูกต้องตามหลักวิชาการในการบริหารจัดการน้ำและ ทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งของสังคมเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบในระดับที่ คชก.ไม่อาจรับผิดชอบได้
ประเด็นที่ วสท. ท้วงติงว่าหากตัดสินใจผิดพลาด อาจกลายเป็นความขัดแย้งของสังคม ถือเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด
และหากพิจารณาถึงความจำเป็นในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ดูจะ ไม่คุ้มค่าที่จะต้องลงเม็ดเงินและเสียสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์อย่างป่าแม่วงก์ไป เนื่องจากพื้นที่ป่าแม่วงก์ประกอบด้วยชุมชนขนาดใหญ่ถึง 136 ชุมนุม จัดเป็นแหล่งที่มีเสือโคร่งจำนวนมาก ทั้งยังมีสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 549 ชนิด รวมถึงสัตว์ป่าที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์มากมาย เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง หมาจิ้งจอก ค่างแว่นถิ่นเหนือ เสือโคร่ง เสือดำหรือเสือดาว วัวแดง หมีควาย นาก ชะนี นกเงือกกรามช้าง ฯลฯ นอกจากนั้นยังถูกคาดการณ์ว่าอาจจะได้เป็นพื้นที่มรดกโลกในอนาคต
อีกทั้งเมื่อมีการตรวจสอบเชิงลึกก็พบว่า การสร้างเขื่อนไม่มีนัยสำคัญต่อการป้องกันน้ำ ท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ส่วนปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในอำเภอลาดยาว เกิดจากปัญหา การจัดการบริหารงานด้านน้ำของหน่วยงานในท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งสามารถแก้ไข ปัญหาได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์
โชคดีที่ตอนนี้ดูเหมือนว่าโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์คงต้องล้มพับไปอีก เมื่อนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาระบุว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลก ทำให้อาจต้องผนวกรวมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลกในอนาคต ประกอบกับพื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเอาพื้นที่ป่าไปสร้างเขื่อน จึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เล่นเอานายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการ สผ. ถึงกับต้องยอมรับว่าในเมื่อเจ้าของต้นเรื่องหรือเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ โครงการนี้ก็แทบจะไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์เริ่มยิ้มออกเป็นแถวๆ
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่านี่ยังไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริงสมบูรณ์ เพราะตราบใดที่เจ้าของโครงการ คือ กรมชลประทานยังไม่หยุดเดินหน้าผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แม้เจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาต แต่ใครจะไปรู้ว่า คสช.จะมีท่าทีในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป เพราะนาทีนี้ อำนาจทุกอย่างอยู่ในมือของคสช. ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร
และเมื่อดูท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะเห็นว่ายังแทงกั๊กอยู่ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไร กล่าวคือเมื่อนักข่าวถามว่าเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ายังตอบไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจ เพื่อนำข้อเท็จจริงมาชี้แจง โดยตนติดตามเรื่องนี้อยู่
อย่างไรก็ตาม หาก คสช. คิดจะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ ก็ควรไตร่ตรองให้ดี รวมถึงน่าจะลองฟังเสียงของคนอื่นดูบ้าง ก็คงไม่เสียหลาย ไม่ใช่ฟังแต่เสียงจากนักการเมืองหรือคนที่อาจได้ผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อน จนไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ส่วนร่วม
เรียกว่าตอนนี้ปัญหาเรื่องสร้าง-ไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์ตกอยู่ในมือของ คสช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว