แนวร่วมนิสิตนักศึกษารักธรรมชาติ แถลงการณ์ขอทางเลือกจัดการน้ำ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ คัดค้านการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พุธนี้ ยันสร้างเขื่อนเสียมากกว่าได้ โวยอีเฮชไอเอไม่เปิดให้ผู้เห็นต่างร่วมตัดสินใจ ขาดผู้ชำนาญชีวภาพ ขอ “ประยุทธ์” ทบทวนพิจารณา
วันนี้ (16 พ.ย.) ที่บริเวณลานกิจกรรมด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แนวร่วมนิสิตนักศึกษารักธรรมชาติ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “ขอทางเลือกจัดการน้ำ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์” เพื่อคัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า วันที่ 19 พ.ย.นี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านแหล่งน้ำ (คชก.) เพื่อพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์แม้จะลดน้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอลาดยาว ร้อยละ 30 ภาคกลางร้อยละ 1 และลดภัยแล้งในพื้นที่ชลประทานฤดูแล้งร้อยละ 25 แต่จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ นอกจากนี้ จะสูญเสียระบบนิเวศของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และพื้นที่ใกล้เคียง สูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งที่ผ่านมา มีการทักท้วง และมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงาน EHIA ต่อการประกอบพิจารณาโครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่ไม่ได้เปิดให้ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และยังขาดผู้ชำนาญการในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
การพิจารณาอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ จึงเป็นเสมือนใบเบิกทางให้มีการก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อป่าไม้ และประชาชนในพื้นที่อย่างมหาศาล ดังนั้น แนวร่วมนิสิตนักศึกษาฯ จึงขอแสดงจุดยืนในการคัดค้าน และเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระงับการพิจารณารายงานฉบับนี้ ที่ยังมีจุดบกพร่อง และไม่สมบูรณ์หลายประการ และขอให้มีการปฏิรูปการทำรายงาน EHIA ให้เป็นไปตามแนวทางที่ นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิ-สืบนาคะเสถียร ได้เคยเสนอไว้ รวมถึงสนับสนุนทางเลือกการจัดการน้ำตามรูปแบบที่ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิฯ ได้แถลงการณ์ไว้ในวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เราจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โปรดรับคำแถลงการณ์นี้ไว้พิจารณา
จากนั้นแนวร่วมนิสิตนักศึกษารักธรรมชาติ ได้เดินจากหน้าหอศิลปฯ ไปยังสยามสแควร์ เพื่อแจกใบแถลงการณ์ ใบปลิว และสติกเกอร์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้แก่ประชาชนที่ผ่านไปมา
ก่อนหน้านี้ นายศศิน ได้จัดวงสนทนาเพื่ออธิบายแนวทางเลือกการจัดการน้ำ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. โดยตนเตรียมจะไปให้กำลังใจคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ให้พิจารณาอีเอชไอเออย่างรอบคอบตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. และเตรียมยื่นรายงานทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ให้ คชก. นำไปพิจารณาด้วย ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ลดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งได้ดีกว่าใช้งบประมาณเพียง 2,000 ล้านบาท น้อยกว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 13,000 ล้านบาท และจากการศึกษาปัญหาเรื่องการจัดการน้ำในพื้นที่ พบข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาชัดเจนว่า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเพียงลักษณะน้ำบ่าที่น้ำจะท่วมขังในพื้นที่ไม่นาน และมักเกิดความเสียหายไม่มาก