หนาวนี้ไปเที่ยวไหนดีนะ?
คำถามนี้เกิดขึ้นในหัว “ตะลอนเที่ยว” ทุกครั้ง เมื่อถึงเวลาหน้าหนาวมาเยือน เพราะในช่วงฤดูหนาวอากาศจะสดชื่นเย็นสบาย แถมธรรมชาติก็สวยงาม ทำให้เราอยากออกไปสัมผัสความงดงามในช่วงฤดูหนาวเสียจริง
ใครที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวนี้ “เขาพะเนินทุ่ง” ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ก่อนที่จะออกเดินทางไปเที่ยวกันนั้น เราจะพาไปทำความรู้จักกับเขาพะเนินทุ่งกันเสียก่อน
“เขาพะเนินทุ่ง” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์) อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาซับซ้อนในเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและพม่า มีผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยสัตว์ป่าและพรรณไม้นานาชนิด อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปราณบุรีและแม่น้ำเพชรบุรี
ด้วยสภาพภูมิประเทศของเขาพะเนินทุ่งที่โอมล้อมด้วยขุนเขาต่างๆ จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดชมทะเลหมอกที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าที่ไหน โดยในยามเช้าจะสามารถมองเห็นทะเลหมอกสีขาวปกคลุมทั่วทั้งหุบเขา และเมื่อทะเลหมอกสลายตัวไป จะเห็นผืนป่าสลับซับซ้อนอยู่เบื้องหน้า ซึ่งนอกจากทะเลหมอกที่โอบล้อมขุนเขาไว้แล้วนั้น ที่นี่ยังเรียกได้ว่าเป็นแหล่งดูนกชั้นดี โดยเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีจำนวนชนิดนกมากที่สุดในประเทศ มีนกที่พบแล้วไม่ต่ำกว่า 430 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ และที่เขาพะเนินทุ่งนี้เป็นแหล่งที่พบ “นกกะลิงเขียดหางหนาม” นกที่แต่เดิมเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย แต่ภายหลังในปี 2533 มีรายงานการพบเห็นอีกครั้งที่เขาพะเนินทุ่ง
นอกจากนั้นก็ยังมีนกอีกหลายชนิดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนกเงือก อาทิ นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาล นกกก กลุ่มนกพญาปากกว้าง อาทิ นกพญาปากกว้างอกสีเงิน นกพญาปากกว้างลายเหลือง นกพญาปากกว้างท้องแดง กลุ่มนกกระเต็น นกหัวขวาน นกจาบคา นกขุนแผนอกสีส้ม เป็นต้น ซึ่งนกเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั้งบนเขาพะเนินทุ่ง และที่ “บ้านกร่างแคมป์” บริเวณ กม.15-18 ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางก่อนขึ้นเขาพะเนินทุ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น บริเวณบ้านกร่างแคมป์ยังเป็นแหล่งดูผีเสื้อชั้นเยี่ยมอีกด้วย โดยในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมในการชมผีเสื้อบริเวณลำห้วยต่างๆ จะเป็นจุดที่มีผีเสื้อมาบินวนเวียนโดยเฉพาะในช่วงสายๆ ที่แดดร้อนกำลังพอดี ผีเสื้อฝูงใหญ่จะบินกระพือปีกออกมากันขวักไขว่ บ้างบินวนเวียนไปมา บ้างเกาะนิ่งอยู่บนก้อนหิน กางปีกสวยออกผึ่งแดด ซึ่งก็มีผีเสื้อหลากหลายชนิดเช่นกัน อาทิ ผีเสื้อวงศ์ขาหน้าพู่หนอนใบรักลายเสือ ผีเสื้อหนอนกะหล่ำขอบปีกเลื่อยจุดแดง ผีเสื้อหนอนกะหล่ำเหลืองสยามธรรมดา ผีเสื้อหางติ่งสะพายฟ้า เป็นต้น
ได้รู้จักกับเขาพะเนินทุ่งกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะออกเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเองเสียที โดยทริปนี้เราเริ่มจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งจากตัวอุทยานฯ ไปถึงเขาพะเนินทุ่งมีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร โดยรถที่เราใช้ขึ้นเขาพะเนินทุ่งนั้นเป็นรถกระบะโฟร์วีล สามารถนั่งได้ 6-8 คน โดยเริ่มต้นออกเดินทางจากอุทยานฯ มุ่งหน้าสู่พะเนินทุ่ง จากอุทยานฯ จะมีเส้นทางราดยางอย่างดี ผ่านผืนป่าเข้าไปจนถึงแคมป์บ้านกร่าง
จากแคมป์บ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่งมีระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร สภาพถนนเป็นเส้นทางลาดชัน แคบ(รถไม่สามารถสวนกันได้) เป็นทางลูกรังขรุขระ ในบางช่วงเป็นลำธารจึงต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อผ่านเข้าไป จากจุดนี้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงได้กำหนดเวลาขึ้น-ลงสำหรับรถยนต์ที่ใช้เส้นทางนี้เพื่อความปลอดภัย โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบไป-กลับ (ไม่พักค้างแรม) สามารถขึ้นจากบ้านกร่างได้เวลา 05.30-07.30 น. และลงจากเขาพะเนินทุ่งเวลา 09.00-10.00 น. และ 16.00 น.-17.00 น ส่วนนักท่องเที่ยวที่พักค้างแรมที่เขาพะเนินทุ่ง ให้ขึ้นจากบ้านกร่างเวลา 13.00 -15.00 น.และลงจากเขาพะเนินทุ่งเวลา 09.00 -10.00 น. และ 16.00-17.00 น.
ระหว่างทางมาแคมป์บ้านกร่างเราได้พบกับเหล่านักส่องนกที่มาพร้อมกล้องและเลนส์กล้องขนาดใหญ่สำหรับส่องนก เมื่อจอดรถเราก็มองไปยังบนต้นไม้ที่บรรดานักส่องนกจ้องมองอยู่ ก็พบกับ “นกกก” หรือ “นกกาฮัง” ซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่อยู่ในนกจำพวกนกเงือก ที่นั่งกินผลของต้นไม้อยู่ด้านบน สำหรับนกกกมีลักษณะใบหน้าและลำตัวสีดำ ขนที่คอสีเหลืองนวล ส่วนปลายปีกและหางสีขาว สามารถพบได้ตามป่าดิบชื้น ซึ่งครั้งนี้เรามาพบที่แก่งกระจาน เรียกได้ว่าที่นี่นั้นอุดมสมบูรณ์มากทีเดียว
เมื่อชื่นชมกับนกกกไปแล้ว เราออกเดินทางกันต่อจนมาถึงแคมป์บ้านกร่างเวลา 14.30 น. ซึ่งทันเวลาที่จะขึ้นเขาพะเนินทุ่ง (จากจุดนี้เราต้องไปให้ถึงเขาพะเนินทุ่งก่อนเวลา 16.00 น. เพราะทางอุทยานฯ จะปล่อยรถลงจากเขาพะเนินทุ่งมายังบ้านกร่าง เวลา 16.00 น. ถ้าหากไปถึงช้าก็จะทำให้รถวิ่งสวนกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นทางขึ้นเขารถขึ้น-ลงทางเดียว) ถึงแคมป์บ้านกร่าง “ตะลอนเที่ยว” เปลี่ยนที่นั่ง จากตอนแรกหลังท้ายกระบะ เปลี่ยนมานั่งด้านหน้าข้างคนขับแทน เพราะว่าถ้าเกิดเจออะไรที่สงสัยจะได้สอบถามจากพี่คนขับได้โดยตรง จากบ้านกร่างรถเริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่ทางลูกรังขรุขระ ในช่วงแรกรถจะผ่านลำธาร และค่อยๆ เข้าสู่ผืนป่าธรรมชาติ สำหรับผืนป่าที่นี่นั้นเมื่อเข้ามาแล้วจะสัมผัสได้ถึงความชื้น และความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งตลอดสองข้างทางเราจะเห็นพืชพรรณไม้ต่างๆ
เมื่อรถเคลื่อนตัวไปได้สักระยะพี่เสวกคนขับรถก็บรรยายถึงชื่อของต้นไม้ต่างๆ ที่ได้ขับผ่านไป ให้ความรู้ได้ดีทีเดียว เข้ามาได้สักระยะพี่เสวกก็หยุดรถและชี้ให้ดูบนต้นไม้ พร้อมกับบอกว่าเห็น “พญากระรอก” เกาะอยู่บนต้นไม้ เราไม่รอช้าคว้ากล้องคู่ใจลงจากรถ พร้อมกับเงยหน้ามองหาพญากระรอกที่พี่เสวกบอก พร้อมกับกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปด้วย เมื่อถ่ายภาพเสร็จก็ก้าวขึ้นรถพร้อมถามพี่คนขับว่าทำไมถึงเรียกว่าพญากระรอก พี่เสวกได้บอกกับเราว่า
“พญากระรอกน่ะเป็นชื่อของเขา แต่ชาวบ้านที่นี่เขาจะเรียกว่ากระรอกดง เพราะมันอยู่ในป่า จะแตกต่างกับกระรอกตามบ้าน กระรอกดงจะพบเห็นได้ตามป่าเท่านั้น จะเห็นว่าตัวของมันมีขนาดใหญ่กว่ากระรอกตามบ้าน และลำตัวมันก็มีสีดำ ท้องมันเป็นสีเหลือง ถ้าเห็นแบบนี้ก็แน่นอนว่าเป็นพญากระรอก” พี่เสวกกล่าว
ฟังเรื่องพญากระรอกจบไปไม่นาน พี่คนขับก็หยุดรถพร้อมกับบอกว่ามองต้นไม้ใหญ่ข้างหน้าให้ดี มีค่างเกาะอยู่ ได้ยินดังนั้นเราก็ค่อยๆ ลงจากรถพร้อมก้าวเท้าไปยังต้นไม้ใหญ่ด้านหน้า เงยหน้าไปก็พบกับ “ค่างแว่นถิ่นใต้” 4 ตัว นอนเล่นกันอยู่บนต้นไม้ “ตะลอนเที่ยว” ไม่รอช้าหยิบกล้องกดรัวชัตเตอร์ไม่ยั้ง จะสังเกตได้ว่าค่างที่นี่จะค่อนข้างคุ้นชินกับคน พวกมันนอนเล่นอยู่ด้านบนอย่างสบายใจราวกับไม่สนใจว่าใครทำอะไรอยู่ด้านล่าง บ้างก็กินผลไม้สบายใจเฉิบ บางตัวก็นั่งเล่นจับหัวกันไปมา มองไปมองมาช่างน่ารักเสียจริง
สำหรับค่างแว่นถิ่นใต้มีสีตามตัวลักษณะเป็นสีเทา มือเท้าสีดำ บริเวณหน้ามีสีเทาเข้มหรือเทาดำ ขนด้านบนตรงกลางหัวมีสีอ่อนกว่าส่วนอื่น ริมฝีปากด้านบนและล่างด่าง มีวงขาวรอบตา มองดูแล้วคล้ายกับสวมแว่นอยู่ พบได้ตามป่าทั่วไปทั้งป่าเขาและป่าชายทะเล
จากนั้นเรามุ่งหน้าไปต่อโดยมาถึงเขาพะเนินทุ่งเวลา 15.40 น. ทันทีที่มาถึงเขาพะเนินทุ่งจะสัมผัสได้ถึงลมเย็นที่พัดเข้ามาปะทะร่างกาย สูดโอโซนกันอย่างเต็มอิ่ม ทำให้รู้สึกสดชื่นสุดๆ จากนั้นแยกย้ายไปที่จุดกางเต็นท์ เก็บของ อาบน้ำ และกินข้าวเย็น เตรียมเข้านอนเนื่องจากตอนเช้าต้องตื่นขึ้นมาดูทะเลหมอก
จุดชมทะเลหมอกที่เขาพะเนินทุ่งนั้นมีด้วยกัน 2 จุดคือ 1.จุดชมวิว กม.30 ตรงจุดนี้เป็นจุดที่อยู่ใกล้กับลานกางเต็นท์ สามารถเดินถึงกันได้ ในตอนเช้านักท่องเที่ยวจะตื่นแต่เช้ามาชมทะเลหมอกกันที่จุดนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเนินเขาโล่งสามารถมองลงไปเห็นผืนป่าเบื้องล่างและทะเลหมอกที่ไหลเรี่ยยอดเขา ภาพที่เห็นคือทะเลหมอกสีขาวถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาสลับซับซ้อน ยิ่งมองดูยิ่งน่าหลงใหลชวนประทับใจ นอกจากนี้แล้วบริเวณนี้ยังมีป้ายข้อมูลให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับ อช.แก่งกระจาน พืชพรรณและสัตว์ป่าต่างๆ อีกด้วย
ส่วนจุดที่ 2 คือ จุดชมวิว กม.36 เป็นถนนเลียบริมหน้าผา ซึ่งจุดนี้เราต้องนั่งรถไปต่ออีกประมาณ 6 กิโลเมตร จุดนี้เราสามารถชมทิวทัศน์ได้กว้างไกล ชมสายหมอกขาวไหลลัดเลาะไปตามไหล่เขา และหากโชคดีก็จะได้เห็นนกเงือกกรามช้างบินผ่านไปมา แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้แล้วบริเวณ กม.36 ยังมีทางเดินเท้าลงไปสู่ “น้ำตกทอทิพย์” มีระยะทางประมาณ 4 กม. เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ความสูง 9 ชั้น โดยชั้นที่ 5 เป็นชั้นที่มีความสวยงามมากที่สุด ตั้งอยู่กลางป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ สภาพโดยรอบเป็นป่าดิบชื้น มีสัตว์ป่าชุกชุมตลอดเส้นทาง
หลังจากชื่นชมความงามของทะเลหมอกก็ถึงเวลาเก็บข้าวของเตรียมบอกลาเขาพะเนินทุ่งกันแล้ว ระหว่างทางกลับเราก็พบกับเจ้าลิงตัวโตที่เกาะต้นไม้อยู่ริมทางอีกด้วย มาเที่ยวเขาพะเนินทุ่งครั้งนี้นอกจากจะได้มาดูทะเลหมอกแล้ว ยังพบเจอกับสัตว์ป่าอีกหลายชนิด เรียกได้ว่ามาที่เดียวได้ความประทับใจกลับไปเต็มกระเป๋า หากหนาวนี้ใครไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวไหนจะมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หรือขึ้นเขาพะเนินทุ่งตามรอย “ตะลอนเที่ยว” ก็ไม่ว่ากัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
นักท่องเที่ยวสามารถพักแรมภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ โดยทางอุทยานฯ มีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์และบ้านพักไว้รับรองนักท่องเที่ยว สามารถตรวจสอบข้อมูลหรือสำรองบ้านพักได้ทาง www.dnp.go.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร.0-3247-1005-6 หรืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โทร.0-3245-9293
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com