xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สัมปทานปิโตรเลียม เสี่ยงเสียดินแดน คำเตือนจากรสนาถึง“บิ๊กตู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรสนา โตสิตระกูล
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงจะอ้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเป็นเหตุแห่งความจำเป็นอันยิ่งยวดในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยไม่สนใจฟังคำทัดทาน แต่ในฐานะชายชาติทหารที่หวงแหนแผ่นดินและอธิปไตยเหนือราชอาณาจักรไทยยิ่งชีวิต ไม่ยอมให้ใครมารุกราน รุกล้ำ แบ่งแยกแม้แต่ตารางนิ้วเดียว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ก็ควรสดับรับฟังเสียงแห่งความห่วงใยจากนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายพลังงาน ตัวแทนจากภาคประชาชนหนึ่งเดียวคนนี้ในประเด็นเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่จะสุ่มเสี่ยงทำให้ไทยสูญเสียดินแดน

ฟังไว้และศึกษาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบรอบด้าน ก่อนที่วิญญาณบรรพบุรุษที่เอาชีวิตเลือดเนื้อปกป้องผืนแผ่นดินไทยจะกู่ร้อง “ไอ้ลูกหลานจัญไร” ให้กลายเป็นตราบาปในภายภาคหน้า

เรื่องนี้ นางสาวรสนา ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “เหตุผลหนึ่งในหลายข้อ ว่าทำไมจึงไม่ควรเปิดสัมปทานรอบ 21” ระบุว่า “พื้นที่พิพาทที่อ้างสิทธิว่าทับซ้อนกันในอ่าวไทยมีขนาดพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร เกิดจากเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นเส้นที่ลากผ่านยอดสูงสุดของเกาะกูดของไทยเข้ามาในอ่าวไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงให้ลากเส้นไหล่ทวีปใหม่ โดยลากเส้นกึ่งกลางระหว่างเกาะกูด กับเกาะกง ของกัมพูชา ตามกฎหมายทะเล

การที่รัฐบาลสมัย พ.ต.ท ทักษิณ ไปเซ็น MOU 2544 กับกัมพูชาจึงมีความสุ่มเสี่ยงว่าประเทศไทยได้ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิล้ำเข้ามาในเขตไทย

เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเกาะกูดที่แสดงว่าเป็นของไทยนั้น ได้ปรากฏตามหนังสือสัญญากรุงสยามและกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (ค.ศ. 1907) ข้อ 2 ที่กล่าวว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด้านซ้าย แลเมืองตราดกับทั้งเกาะซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม...” และมีหนังสือสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนแนบท้าย ซึ่งกล่าวถึงเกาะกูดไว้ว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายฝั่งของทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดเปนหลักแล้ว...” ซึ่งหมายความว่าใช้ยอดเกาะกูดเป็นจุดเล็งไปยังชายฝั่งเพื่อกำหนดเขตแดนทางบกหลักเขตที่ 73 ไม่ใช่เป็นการแบ่งเขตทางทะเล

ดังนั้น เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิด้วยการลากผ่านเกาะกูดของไทยนั้น จึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และข้อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอนุสัญญาสหประชาชชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ได้มีการกล่าวถึงระบอบของเกาะเอาไว้ว่า “บริเวณแผ่นดินที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ โดยมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งอยู่เหนือในขณะน้ำขึ้นสูงสุด (ข้อ 121) และโดยสภาพมนุษย์สามารถอยู่อาศัยยังชีพได้ โดยเกาะนี้จะมีเขตทางทะเลเหมือนผืนแผ่นดิน” จากข้อกฎหมายดังกล่าว เกาะกูดย่อมมีเขตทางทะเลเช่นเดียวกับผืนแผ่นดิน

ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยได้ตีเส้นกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทย กับเกาะกงของกัมพูชาเมื่อปี 2516 จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ และตามภูมิหลังประวัติศาสตร์ไทยที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินไทยโดยยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้แก่เมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณให้กรุงฝรั่งเศสเพื่อแลกเอาจันทบุรีและตราด ซึ่งรวมเกาะกูดกลับมาเป็นของไท

นักการเมืองที่มาบริหารบ้านเมือง ถ้าเห็นแก่ประโยชน์ของชาติ ย่อมต้องอาศัยการเจรจาให้มีการแก้ไขเส้นแบ่งเขตแดนให้ถูกต้องเสียก่อน แต่นักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนการเมือง จะไม่สนใจอธิปไตยของบ้านเมืองมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า ซึ่งต้องตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผลประโยชน์ของใครกันแน่?

เหตุผลที่ว่ารัฐบาลไม่ควรเปิดสัมปทานรอบ 21 เพราะมีแปลงสัมปทาน 2 แปลงในสัมปทานรอบนี้ คือ G1/57 และ G2/57A ที่เกาะอยู่กับเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิ หากมีการให้สัมปทาน 2 แปลงดังกล่าว เท่ากับประเทศไทยยอมรับเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิโดยปริยาย

รัฐบาลไทยโดยเฉพาะในยุคนี้ที่เป็นรัฐบาลทหาร จะต้องแก้ไขในสิ่งผิดที่รัฐบาลในสมัย พ.ต.ท ทักษิณ ได้สร้างปัญหาความสุ่มเสี่ยงไว้ต่ออธิปไตยด้านดินแดนทางทะเลของประเทศ ด้วยการประกาศยกเลิก MOU 2544 ในทันที ไม่ควรไปเจรจากับกัมพูชาเพื่อแสวงหาประโยชน์ด้านปิโตรเลียมก่อนที่จะแก้ไขเรื่องเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิอย่างไม่ถูกต้องเสียก่อน”

สุ้มเสียงของสปช.สายพลังงาน คนนี้ กำลังจะบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขอได้โปรดอย่าคิดคำนึงถึงแต่เรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานที่แฝงเร้นไปด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานเป็นหลักใหญ่ดังที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินการ เพราะการให้สัมปทานรอบใหม่โดยเฉพาะในพื้นที่สัมปทานที่เกาะอยู่กับเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์นั้น สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเสียดินแดนหากไม่แก้ไขเรื่องเส้นไหล่ทวีปให้ชัดเจนเสียก่อน

เพราะไม่เช่นนั้น สังคมอาจมองได้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ก็เหมือนกันกับพ.ต.ท.ทักษิณ และการยึดอำนาจรัฐประหารครั้งนี้ก็เพื่อสานต่อสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ คิด โดยพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในฐานะที่คสช.เป็นองค์รัฐฎาธิปัตย์เข้ามาทำให้สำเร็จตามที่พ.ต.ท.ทักษิณได้คิดเอาไว้

ย้อนกลับไปสืบสาวความเป็นมาของพื้นที่ทางทะเลที่มีปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา กันสักนิด พื้นที่ทางทะเลที่มีปัญหานั้นเกิดจากการตีความสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 และ ค.ศ. 1909 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจุดเริ่มต้นทางบกแตกต่างกัน โดยมีการลากเส้นพรมแดนทางบกเลยลงไปในทะเลจนถึงเกาะกูด ผลดังกล่าวทำให้ไทยและกัมพูชา ประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยแตกต่างกัน

ดลยา เทียนทอง นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลในงานวิจัยการพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย ว่ากัมพูชา ได้ประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2513 โดยกำหนดเขตแนวไหล่ทวีปด้านเหนือลากพาดเกาะกูดออกมาในบริเวณกลางอ่าวไทย และต่อมาในปี พ.ศ. 2515 กัมพูชาได้ประกาศเขตไหล่ทวีปอีกครั้ง ส่วนไทยได้ประกาศเขตไหล่ทวีปบริเวณอ่าวไทยหลังกัมพูชา 3 ปี คือ ในวันที่ 18 พ.ค. 2516

การกำหนดเขตแนวไหล่ทวีปดังกล่าวของกัมพูชาสมัยรัฐบาลลอนนอล เมื่อปี 2515 นั้น ชัดเจนว่า มาจากการเข้ามาแสวงหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของกลุ่มทุนพลังงานข้ามชาติ โดยพลเรือเอกถนอม เจริญลาภ ได้บันทึกไว้ในบทความเรื่อง “การเจรจาปัญหาการอ้างเขตไหล่ทวีปทับซ้อนในอ่าวไทยของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน” บางตอนว่า

“…. ลอนนอลเรียนท่าน (จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาสิทธิและขอบไหล่ทวีป) ว่า เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศเป็นไปตามการเสนอของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่เสนอขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปกัมพูชา…”

นั่นเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดถึงอิทธิพลของทุนพลังงานที่อยู่เบื้องหลังปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย - กัมพูชา เพราะการประกาศเขตไหล่ทวีปของรัฐบาลลอนนอล ในปี 2515 ทำตามความต้องการของบริษัทน้ำมัน โดยไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ ขณะที่การ ประกาศ เขตไหล่ทวีปของไทยในปี 2516 นั้น เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พื้นที่เขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งสองประเทศ มีการทับซ้อนกัน เนื่องจากไทยและกัมพูชา เป็นประเทศที่มีแนวชายฝั่งในลักษณะประชิด และต่างฝ่ายต่างก็ประกาศเขตไหล่ทวีปของตนแต่ฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับกรณีไทยและมาเลเซีย ทั้งนี้ พื้นที่เขตไหล่ทวีปที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาคิดเป็น 34,034,065 ตารางกิโลเมตร (ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว มีเนื้อที่บางส่วนทับซ้อนกับเขตไหล่ทวีปของเวียดนามด้วย) ต่อมา ในปี พ.ศ.2525 รัฐบาลกัมพูชา ได้ทำสนธิสัญญากับรัฐบาลเวียดนามเกี่ยวกับเส้นแบ่งน่านน้ำประวัติศาสตร์ ร่วมกัน ส่งผลให้พื้นที่ไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ทับซ้อนกับไทยเหลือเพียง 27,960 ตารางกิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลไทยและกัมพูชา ได้เปิดการเจรจาในการแก้ไขปัญหาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันในอ่าวไทย ด้วยการใช้แนวทางการแบ่งเขตแต่ไม่บรรลุผลสำเร็จ กระทั่งในปี พ.ศ. 2538 ได้เปิดเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่ายได้ มีเพียงการตกลงที่จะจัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Joint Technical Committee - JTC) ในการศึกษาปัญหาร่วมกัน

ต่อมา ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นครั้งแรก โดยได้มีข้อบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 เป็นผลให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย - กัมพูชา และมีการประชุมครั้งแรกในเดือนธ.ค. ปีเดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่การเจรจาออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งกันให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนที่สอง พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area - JDA)

รัฐบาลทักษิณ หมายมั่นจะเจรจาปักปันเขตแดนในทะเลและตกลงแบ่งปันผลประโยชน์จากการให้สัมปทานขุดเจาะแก๊สและน้ำมันให้เร็วที่สุด แต่การเดินทางไปเยือนกัมพูชาของทักษิณ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2549 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวกลับสะดุดลง เนื่องจากการเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว เพราะข้อเสนอสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

ทั้งนี้ ตามข้อตกลงในเบื้องต้น พื้นที่ส่วนที่อยู่ตรงกลางของพื้นที่พัฒนาร่วมฯ สามารถตกลงกันได้โดยแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการขุดเจาะน้ำแก๊สและน้ำมัน ในสัดส่วน 50-50 แต่พื้นที่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของพื้นที่ทับซ้อนนั้น ฝ่ายกัมพูชาเสนอให้แบ่งผลประโยชน์ในสัดส่วน 90-10 แต่ฝ่ายไทยเห็นควรแบ่งในสัดส่วน 60-40 อย่างไรก็ตาม การเจรจาสะดุดหยุดลงเมื่อรัฐบาลทักษิณ ถูกรัฐประหารเมื่อเดือนก.ย. 2549 จนถึงบัดนี้การเจรจาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

อย่างไรก็ตาม เขตพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว เวลานี้ทั้งไทยและกัมพูชาต่างได้ให้สัมปทานสำรวจแก่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ โดยฝ่ายไทย ให้สัมปทานแก่บริษัทเชฟรอน, ยูโนแคล (ควบรวมกิจการกับเชฟรอนเมื่อปี 2548) แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นหลัก ส่วนกัมพูชาให้สัมปทานแก่บริษัท Conoco, Shell ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานสัญชาติอเมริกัน, บริติชแก๊สแห่งอังกฤษ และบริษัท Idemitsu แห่งญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัท BHP จากออสเตรเลีย และมี Total จากฝรั่งเศส

เรียกได้ว่า พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ต่างเป็นพื้นที่จับจองของยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลกที่เรียกว่า "supermajor" ซึ่งประกอบด้วย 6 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ExxonMobil (เอสโซ่) 2.Royal Dutch Shell (เชลล์) 3.BP (BP) 4.Total S.A. 5.Chevron Corporation 6.ConocoPhillips (COP) เกือบทั้งสิ้น และทุนพลังงานที่แสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้นี่เองคือผู้กำหนดนโยบายและอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของรัฐบาล นับแต่การขีดเส้นไหล่ทวีป ไปจนถึงการเร่งรัดเจรจาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างสองชาติ

แน่นอนที่สุด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกชักใยโดยกลุ่มทุนพลังงานข้ามชาติเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นคงไม่เร่งรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่และไม่ไปเจรจากับรัฐบาลฮุน เซน แห่งกัมพูชา เมื่อคราวไปเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาเมื่อเร็วๆ นี้ และข้อหารือร่วมกันของผู้นำทั้งสองชาติก็ชัดเจนแล้วว่าจะมีการเดินหน้าเจรจาในเรื่องพลังงานในเขตทับซ้อนฯ กันต่อไปภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจฯ ที่ทั้งสองฝ่ายลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544

รัฐบาลชายชาติทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ต่างอะไรไปจากรัฐบาลทักษิณ หรือ “รัฐบาลนอมินีทักษิณ” และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เพราะหลังรัฐประหาร 2549 ที่ทำให้การเจรจาเรื่องผลประโยชน์เขตทับซ้อนฯ ของรัฐบาลทักษิณกับรัฐบาลฮุน เซน ชะงักลง ต่อมารัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีนายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.กระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้น ได้พบกับนาย ซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เมื่อเดือนมี.ค. 2551 และเสนอให้ประชุมคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเล แต่ฝ่ายกัมพูชาตอบว่ายังไม่พร้อม เพราะสถานการณ์การเมืองภายในของไทยที่กำลังคุกรุ่นด้วยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ

ต่อมา สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความพยามยามจะดำเนินการต่อ ในการพบปะระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยนั้น และนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนม.ค. 2552 เห็นพ้องกันว่าควรประชุมเรื่องเขตทับซ้อนฯ ทางฝ่ายไทยจึงเสนอครม.ตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานฝ่ายไทย เพื่อดำเนินการ โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กระทรวงกลาโหม ขณะนั้น ร่วมทีมด้วย

แต่การเจรจาของคณะนายสุเทพ ไม่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการให้มีการเปิดประชุมของทั้งสองฝ่าย นายสุเทพ พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร เข้าพบ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เมื่อเดือนมิ.ย. 2552 ที่จังหวัดกันดาล ซึ่งตอนนั้นนาย ซก อาน ไม่อยู่ จึงไม่ได้คุยเรื่องนี้กัน ต่อมา นายสุเทพ ไปขอพบนายซก อาน อีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนส.ค. 2552 ที่ฮ่องกง โดยทาบทามให้นายซก อาน มาเยือนไทยเพื่อหารือเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเล แต่นายซก อาน ยังไม่ตอบรับ

ในเวลานั้น ปรากฏว่าเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพราะกัมพูชาตั้งให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา เป็นเหตุให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ โกรธจัดจนประกาศลดระดับความสัมพันธ์ เรียกทูตกลับ และ เมื่อรัฐบาลกัมพูชาท้าทายด้วยการเชิญพ.ต.ท.ทักษิณไปเยือนและปฏิเสธการส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ตามคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงตอบโต้ด้วยการประกาศตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและยก เลิกเอ็มโอยูเขตทับซ้อนทางทะเลฯ ที่ลงนามกันในปี 2544

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เพียงประกาศว่า ครม.เห็นชอบที่จะยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าวในวันที่ 10 พ.ย. 2552 แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการยกเลิกหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญคือ ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังคู่กรณีและคำบอกเลิกนั้นจะมีผล 12 เดือน หลังจากการบอกเลิก แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ได้ดำเนินการใด ขณะเดียวกันนายสุเทพ ยังได้ไปพบกับนายซก อาน อีกครั้ง ในเดือนก.ค. 2553 ในเรื่องนี้อีก

เมื่อเอ็มโอยู 2544 ยังคงมีผลปฏิบัติ คำถามคือ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กำลังจะเดินตามรอยทางที่รัฐบาลทักษิณ ดำเนินการไว้แต่ไม่สำเร็จให้มาแล้วเสร็จในรัฐบาลคสช.ชุดนี้ เป็นเช่นนั้นหรือไม่?

คำตอบย่อมไม่ได้อยู่ในสายลม แต่ขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียวว่าจะเดินต่อไปหรือกลับมาใคร่ครวญใหม่สักนิด


กำลังโหลดความคิดเห็น